ระหว่างการทิ้งตัวดิ่งกับความปรารถนาจะตะกายตัวขึ้นมา หมออิ๊ก-ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ทำสงครามในใจตนไปพร้อมกับผลักดัน OOCA สตาร์ตอัพสุขภาพจิตให้เป็นไลฟ์ไลน์ของตัวเธอเองและสหายร่วมโรค
ELLE: คุณเป็นผู้ประสบภัยมาก่อน มีอาการของโรคอะไร
EIX: อาการที่เราเป็นคือซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (PDD)) ซึ่งเราเป็นมาตั้งแต่ประถม โหยหาการคิดถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต
ELLE: เหตุการณ์ที่เป็นจุดพีกของโรคคืออะไร
EIX: เราเคยโทร. ไปปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตั้งใจเล่ามาก แต่เรารู้สึกว่าเขาพยายามรวบรัด “สรุปประมาณนี้นะ โอเคไหม” เพราะมีอีกสายหนึ่งรออยู่ ทำให้เราคิดได้ว่าปัญหาของเรา เราต้องดูแลเอง จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือตอนไปเรียนทันตแพทย์เฉพาะทาง ด้วยสภาพแวดล้อมมีความเครียดสูงมาก และผลพวงจากเพื่อนร่วมงานที่เราต้องทำหลายๆ เรื่องแทนเขา จึงรู้สึกโดนเอาเปรียบมาตลอด จนเปลี่ยนเราให้กลายเป็นกอลลัมใน The Lord of the Rings และรู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง จนครั้งหนึ่งจุดที่ทำให้เราสติแตกคือหัวหน้าบอกว่าเราไม่อ่านหนังสือ ซึ่งจริงๆ แล้วเราอ่าน ทุกอย่างสะสมมาจนเรารู้สึกเหมือนมีระเบิดอยู่ในหัว และไม่รู้จะระบายระเบิดในหัวออกมาอย่างไรก็เลยกระชากผมออกมาเรื่อยๆ ต่อหน้าทุกคน เป็นเหตุการณ์ที่สติแตกที่สุดในชีวิต และนั่นเป็นจุดที่ทำให้คิดว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้วละ มันคงจะเป็นปัญหาที่อยู่กับเราไปตลอดถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาหาทางแก้
ELLE: วิธีฮีลตัวเองที่ได้ผลของผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพสุขภาพจิตคืออะไร
EIX: เริ่มแรกต้องไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา กินยาตามที่หมอสั่ง อย่าท้อหากเราไม่ดีขึ้น เพราะเราเปลี่ยนหมอมา 6 คนกว่าจะลงตัว นอกจากนั้นเป็นเรื่องของการดูแลตัวเอง เราต้องตั้งใจฝึกตัวเองจริงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้มากกว่าจะบอกว่า ‘ก็ฉันเป็นคนแบบนี้’ ต้องฝึกสติรู้เท่าทันแพตเทิร์นอารมณ์ตัวเอง นอนหลับให้พอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อระบบย่อย (Gut Health) มีงานวิจัยที่รับรองแล้วว่ามีสารอาหารบางตัวที่กินแล้วทำให้ระบบย่อยทำงานดีขึ้นและลดอาการซึมเศร้าได้คือ Curcumin ซึ่งก็คือขมิ้นบ้านเรานี่แหละ ร่วมกับกินยารักษาโรคกระเพาะให้หายด้วย และสามีคือ support system ที่สำคัญ เวลาเจอโหมดดาร์กของเรา เขาจะไม่ดำดิ่งไปกับเรา ทำให้เราสู้ต่อได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งตอนนี้เราหายแล้ว
ELLE: คุณทำ OOCA ตอนที่เป็นซึมเศร้าหนักขนาดนั้นน่ะหรือ
EIX: การที่เรามาทำอูก้าเพราะอยากช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตให้คนไทย และเราไม่ได้ช่วยแค่คนไข้ แต่เราได้ช่วยแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้มีพื้นที่ทำงาน มีรายได้ที่เป็นธรรม เราให้เรตแบบที่หมอหรือนักจิตฯ กำหนดได้เอง พยายามสร้างระบบนิเวศให้แข็งแรง เราพยายามทำอูก้ามา 8 ปีแล้ว ล่าสุดระดมทุนซีรี่ส์เอได้จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เราเป็นสตาร์ตอัพเฮลธ์เทคไม่กี่เจ้าในไทยที่ระดมทุนได้
ELLE: อูก้าเป็นสตาร์ตอัพเฮลธ์เทคไม่กี่เจ้าในไทยที่ระดมทุนได้ แต่อีกแง่หนึ่งเคยเจอคนต่อว่าไหมว่าทำไมเอาเรื่องจิตใจคนมาหากิน
EIX: เคยมีคนคอมเมนต์แบบนี้เลย ‘ทำไมหากินบนความเสียใจของคนอื่น’ เราคิดว่าหมอและนักจิตฯ ทำเป็นอาชีพก็ควรต้องมีรายได้ เราควรทำให้เรื่องนี้เป็นธรรมกับฝั่งหมอด้วย ใครมีทุนทรัพย์ก็ช่วยจ่ายค่าหมอ ใครไม่มีแต่มีความต้องการเราก็ช่วยหาพื้นที่ให้เขาไปใช้บริการ เช่น เราทำโครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ที่เปิดให้นักศึกษาใช้บริการอูก้าได้ฟรีผ่านระบบบริจาค ปีนี้เป็นปีแรกที่ Wall of Sharing จับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต และ สปสช. กทม. ร่วมมือกันให้เยาวชนอายุ 15-25 ปีที่พำนักในกรุงเทพฯ สามารถใช้อูก้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ELLE: ด้วยความเป็นสตาร์ตอัพเฮลธ์เทค อูก้าใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาเสริมการทำงาน
EIX: อูก้าให้บริการปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาทั้งทางออนไลน์และมีคลินิก เราใช้เทเลเมดิซีนเข้ามาช่วยในการทำแอพเพื่อให้จิตแพทย์และนักจิตฯ เข้าถึงคนไข้ได้มากขึ้น ล่าสุดเราเปิดคลินิกอูก้าที่เกสรเซ็นเตอร์ ชั้น 5 ที่คลินิกเรานำเครื่อง dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) จากอเมริกาที่ส่งกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง ช่วยรักษาอาการทางจิตเวชได้หลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ เราอยากมีทางออกอื่นให้กับคนที่มีปัญหา เพราะเรารู้ว่าไม่ง่ายจะพาตัวเองออกมาจากจุดเดิม เรานำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งการที่เรามีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ช่วยให้คนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น และเทคโนโลยีที่เรานำเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคซึมเศร้าได้
ELLE: มีดาต้าอะไรเกี่ยวกับผู้หญิงที่น่าสนใจบ้าง
EIX: ข้อมูลจากแบบทดสอบความเครียด 190,000 คนในแอพอูก้าพบว่า คนที่ได้ผลลัพธ์ว่าเครียดหนักมากเกินระดับปกติมีประมาณ 50% รวมทุกเพศ แต่ผู้ใช้แอพอูก้าเกิน 60% เป็นผู้หญิง โดยเรื่องเข้ามาปรึกษาหลักๆ เรื่องความเครียดมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยเรื่องการอยู่ดีมีสุข การปรับตัว เพศสัมพันธ์ ชีวิตคู่ ความรัก การงาน
ELLE: OOCA มาจากคำว่าอะไร
EIX: เราตั้งชื่อว่า ‘OOCA’ เพื่อให้คนเดาไม่ออกว่ามันคืออะไร เพื่อที่คนใช้งานจะได้ไม่รู้สึกลบว่ามันคือแอพสุขภาพจิต เดี๋ยวจะรู้สึกกลัวกัน ส่วนคนที่รู้ก็คือรู้ อูก้าคือ It’s OK. มาดูแลเรื่องสุขภาพจิตใจกัน
Fashion Editor : Preuksapak Chorsakul
Photographer : Pathomporn Phueakphud
Ass.Photographer : Chudchpong aumponrat, Supasit Sooksawat, Metphumin ploychayapat
Stylist assistants : Tidawan Suttchai, Natthapan janthanachat
Make up : Chanajit Dechasatidwong
Hair : Agkarachai Deedphin
Hair assistance: Thanawat Nitithanaiyaphong