ในวงการสถาปัตย์และการก่อสร้างที่เต็มไปด้วยผู้ชาย แม้จะมีความสามารถเพียงใด ก็ยากที่จะมีใครให้ความเชื่อถือ ด้วยเพียงเหตุผลที่ว่าเป็นผู้หญิงและอายุยังน้อย แต่ จือ–ภาพิศ ลีลานิรมล แห่ง TOUCH Architect ก้าวข้ามอคติทางเพศและวิชาชีพด้วยผลงานที่เรียกได้ว่า ‘ทัช’ ใจบรรดาผู้อยู่อาศัย แอลจึงชวนสถาปนิกสาวมาแชร์เรื่องราวและประสบการณ์บนหนทางสายอาชีพนี้ ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ในการเอาใจเขามาใส่ใจเราของเธอ
ELLE: ทำไมคุณบอกว่า TOUCH เป็นสตูดิโอที่ไม่มีสไตล์เฉพาะเจาะจง แต่ออกแบบในสไตล์ที่ลูกค้าชอบ?
PARPIS: เราไม่ได้อยากออกแบบแล้วเป็นเราที่เห็นว่ามันสวยหรือดี แต่สถาปัตยกรรมที่ดีต้องทำให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้อาคารชื่นชอบและรักมันด้วย ซึ่งก็คือ ‘การสร้างบ้านตามใจผู้อยู่’ แต่ไม่ได้ตามใจ 100% เพราะการที่เจ้าของบ้านมาจ้างเราหมายความว่าเขาต้องการคำแนะนำที่ดีจากเรา บางทีเขาไม่รู้จักวัสดุ หรือการใช้พื้นที่ เราแนะนำสิ่งดีๆ ให้ ผนวกกับฟังก์ชั่นของบ้านจึงออกมาเป็นรูปแบบสถาปัตย์อย่างที่เราทำ
ELLE: คำถามที่สถาปนิกต้องถามเจ้าของบ้านก่อนมีอะไรบ้าง?
PARPIS: หลักๆ คือการใช้สอยและงบ เราต้องรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตในบ้านซึ่งสำคัญมากกว่าคำถามว่าอยากได้บ้านสไตล์ไหน ทั้งนี้ เรื่องสไตล์เราไม่ได้ตัดทิ้ง เราจะบอกให้เขาส่งรูปบ้านที่ชอบทั้งภายนอกและภายใน 2-5 รูป เพราะถ้าบอกเฉยๆ ว่าอยากได้สไตล์โมเดิร์น แต่คำว่าโมเดิร์นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ELLE: บ้านในฝันของสถาปนิกภาพิศเป็นแบบไหน?
PARPIS: คิดไว้คร่าวๆ กับสามีซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของ TOUCH ด้วย แต่ยังตกลงกันไม่ได้ (หัวเราะ) ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกทั้งคู่ก็จะคิดต่างกัน ก่อนแต่งงานเราอยู่บ้านพ่อแม่ พอแต่งงานแล้วไปอยู่คอนโดฯ ทุกวันนี้อยู่เป็นโฮมออฟฟิศ เพราะชีวิตเราอยู่กับงานเยอะ อยากมีลูกและทำงานไปด้วยได้ ต่อไปเมื่อลูกเริ่มโตพอที่เราจัดสรรเวลาได้ เราจะแยกบ้านกับออฟฟิศ นี่คือฟังก์ชั่นที่เราอยากได้ แต่ไม่มีสูตรสำเร็จว่าอยากได้บ้านหน้าตาแบบไหน
ELLE: คนรู้สึกว่าจ้างสถาปนิกน่ะแพง แต่ความแพงแลกมาด้วยความสบายใจ เจ้าของบ้านไม่ต้องเครียดกับผู้รับเหมา ช่าง หรือเลือกวัสดุ
PARPIS: ถูกต้อง การจ้างสถาปนิกราคาสูงแต่ไม่แพง มีลูกค้าช่วงแรกๆ ของเรารายหนึ่งเขามีงบจำกัด ตอนแรกเขาคิดว่าค่าแบบเราแพง แต่ยอมจ่ายเพราะเป็นงานรีโนเวตที่ค่อนข้างยาก พอจบงาน เขาพูดกับเราซึ่งยังประทับใจจนทุกวันนี้คือ “เงินค่าแบบที่จ่ายไปมันถูกเกินไปด้วยซ้ำกับสิ่งที่เขาได้รับ” อารมณ์เหมือนตอนเราแต่งงานที่ไม่จ้างเวดดิ้งแพลนเนอร์ คิดว่าเราเป็นสายดีไซน์อยู่แล้ว เราทำเองได้ ก็แค่ทำตามเช็กลิสต์ไป แต่ปรากฏว่าพอทำจริงมันไม่ง่าย ไหนเราต้องทำงานไปด้วยอีก สุดท้ายเราตัดสินใจจ้าง เราแค่บอกความต้องการและให้เขาไปจัดการให้ มันดีกว่าเยอะเลย
ELLE: มีเพื่อนเรียนสถาปัตย์หลายคน และทั้งหมดเลิกทำอาชีพสถาปนิกไปหมดแล้ว ไปเป็นช่างสักบ้าง เป็นนักเขียนบ้าง ทุกคนมีความสุขขึ้นมาก
PARPIS: (หัวเราะ) มีคนเยอะมากที่เลิกทำอาชีพนี้ ทุกอาชีพมีความยาก แต่งานสถาปัตย์ โดยเฉพาะถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการมีหลายมิติให้เราคิด ไม่ได้นั่งดีไซน์หรือเขียนแบบเท่านั้น ต้องคิดเรื่องการติดต่อลูกค้า ดีลกับช่าง ทำการตลาดหางาน และเป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลากับคนเยอะมาก ทั้งเจ้าของบ้าน ผู้รับเหมา ช่าง ฯลฯ
ELLE: ความหนักของอาชีพนี้เคยทำให้ท้ออยากเลิกบ้างไหม เพราะแต่ละโปรเจ็กต์ต้องทำเป็นปีๆ?
PARPIS: มีบ้าง แต่ก่อนวงการสถาปัตย์และวงการก่อสร้างเป็นโลกของผู้ชาย ตอนนั้นเราเป็นผู้หญิงและอายุน้อย เวลาคุยกับช่างเขาไม่ค่อยรับฟัง ทำให้ทำงานลำบากมาก แม้เรารู้ว่าเราทำงานนี้ได้ แต่พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะประสบการณ์เรายังน้อย และไม่มีเครดิตในการทำงานกับใครเลย ทั้งกับลูกค้า ช่าง และผู้รับเหมา ไม่เหมือนตอนนี้ที่เราพูดอะไรแล้วคนรับฟัง เพราะเรามีเครดิตแล้ว แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นเขาคงจะคิดแบบนั้น แต่พอเวลาผ่านไปบอกเลยว่าทัศนคติของคนทำงานดีขึ้นมาก เปิดใจรับฟังผู้หญิงมากขึ้น
ELLE: เคยเจอเรื่องอคติทางอาชีพบ้างไหม เช่น ผู้หญิงเหมาะกับงานตกแต่งภายใน ผู้ชายเป็นสถาปนิก?
PARPIS: บางคนยังเข้าใจอยู่เลยว่าเราเป็นอินทีเรียร์ ส่วนพาร์ตเนอร์เราเป็นสถาปนิก หรือบางคนถามว่าเราทำงานอะไร พอเราบอกว่าเป็นสถาปนิก เขาก็บอกว่า อ๋อ ทำงานอินทีเรียร์ ไม่ได้ออกแบบตึกใช่ไหม เราต้องอธิบายว่าเราออกแบบตึก แต่เรามีทีมที่ออกแบบภายใน ตอนนี้คนเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าสองอาชีพนี้ต่างกัน และในกระบวนการมีผู้หญิงมากขึ้นด้วย เช่น มีทีมที่ปรึกษาหรือโฟร์แมนที่เป็นผู้หญิง ในทีมของเราก็มีเพศที่หลากหลาย เรามองว่าเพศไหนก็ทำงานได้ ไม่จำกัดว่าอาชีพนี้ต้องให้เพศนี้ทำเท่านั้น
TEXT : Suphakdipa Poolsap
PHOTOGRAPHER : Pathomporn Phueakphud
FASHION EDITOR : Preuksapak Chorsakul
MAKE-UP : Chanajit Dechasatidwong
HAIR : Pakorn Seesem
ASSISTANT PHOTOGRAPHER : Supasit Sooksawat, Panpetch Petchphloy
ASSISTANT STYLIST : Tidawan Suttichai, Junjira Wangaug
FASHION COORDINATOR : Petcharaporn Sornkrang