Monday, April 28, 2025

กันแดด 101: รู้ลึก 5 เรื่องกันแดดที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อปกป้องรังสี UV ให้ถูกวิธี

กันแดด’ ที่เราใช้อยู่ทุกวัน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าใช้ได้อย่างถูกวิธี และสามารถปกป้องผิวจากแสงแดดได้จริง เพราะเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเบสิกอย่างกันแดดนี้ ก็อาจจะไม่ได้เบสิกอย่างที่คิดหากเรายังตอบไม่ได้ว่ากันแดดแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร, SPF คืออะไร, PA+++ หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ความแตกต่างของรังสี UVA และ UVB เอง ทั้งหมดล้วนเป็นคำที่เราคุ้นหูและเห็นบ่อยอยู่บนกล่องกันแดด แต่กลับไม่รู้ลึกจนอาจเผลอเลือกกันแดดมาใช้แบบผิดๆ ดังนั้นวันนี้แอลจึงอยากขอพาทุกคนไปเจาะลึกถึง 5 เรื่องของกันแดดที่จะทำให้เราเข้าใจและสนิทกับกันแดดมากขึ้น!

#1 Two-Type of Sunscreen

เคยสังเกตหรือไม่ว่ากันแดดที่เราใช้อยู่ทุกวันเป็นกันแดดแบบไหน เพราะในความเป็นจริงแล้วกันแดดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ Chemical Sunscreen และ Physical Sunscreen (หรืออาจเรียกว่า Mineral Sunscreen) ส่วนจะรู้ได้อย่างไรนั้นก็ไม่ยากเลย เพราะ Chemical Sunscreen จะมีสารกันแดดแบบเคมี ให้สังเกตที่ข้างกล่องจะเจอชื่อส่วนผสมเหล่านี้อยู่ Oxybenzone, Avobenzone, Octisalate, Octocrylene, Homosalate และ Octinoxate ซึ่งกันแดดประเภทนี้จะปกป้องผิวด้วยการดูดซับรังสี UV แล้วเปลี่ยนให้เป็นพลังงานรูปแบบอื่น ไม่ให้มาทำอันตรายต่อผิวหนัง ทาแล้วจึงมักไม่ค่อยทิ้งคราบขาวเอาไว้ โดย Chemical Sunscreen สามารถปกป้องรังสี UVB ได้ ส่วนการปกป้องรังสี UVA-I และ UVA-II จะแตกต่างกันออกไป ในขณะที่ Physical Sunscreen หรือกันแดดที่มีสารกันแดดแบบฟิสิคัล และมีส่วนผสมอย่าง Titanium Dioxide และ Zinc Oxide โดย Physical Sunscreen จะปกป้องผิวด้วยการสะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว ไม่มีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น ไม่ดูดซึมสู่ผิว เมื่อทาแล้วจึงอาจทิ้งคราบขาวไว้บนผิว โดย Physical Sunscreen จะสามารถปกป้องได้ทั้งรังสี UVB, UVA-I และ UVA-II ดังนั้นหากอยากรู้ว่ากันแดดที่เราใช้อยู่เป็นกันแดดประเภทไหน ก็สามารถเช็กดูจากส่วนผสมที่ข้างกล่องได้เลย

#2 SPF and UVB Protection

หลายๆ คนอาจจะสงสัยเกี่ยวกับค่า SPF ในกันแดดว่าเราควรจะเลือกค่า SPF แค่ไหนจึงจะปกป้องผิวได้ดี ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า SPF หรือ Sunburn Protection Factor นี้ คือระดับความสามารถของกันแดดในการปกป้องผิวจากรังสี UVB อันเป็นสาเหตุของผิวไหม้แดดรวมถึงมะเร็งผิวหนัง โดยแนะนำให้เลือกกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ส่วนการปกป้องนั้น หากค่า SPF 30 ก็หมายความว่ากันแดดตัวนี้สามารถป้องกันรังสี UVB ได้มากกว่าปกติ 30 เท่า หากคิดเป็นระยะเวลาในการป้องกัน เราอาจจะต้องลองสังเกตลิมิตของตัวเองก่อนว่า เมื่อเราตากแดดแล้วจะเกิดอาการผิวไหม้ แสบ แดง คือกี่นาที? ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นคนตากแดด 10 นาทีแล้วผิวเริ่มไหม้แดง ดังนั้นเมื่อคุณทากันแดดที่มี SPF 30 ไป คุณก็จะสามารถอยู่กลางแดดได้นาน 10 x 30 = 300 นาทีนั่นเอง (ส่วนคนที่ตากแดดได้ 15 นาทีแล้วผิวจะเริ่มไหม้ เมื่อใช้กันแดด SPF 30 ก็คำนวณได้ว่า 15 x 30 = เขาสามารถอยู่กลางแดดได้ 450 นาทีนั่นเอง) และหากคุณต้องอยู่กลางแดดนานเกินกว่านี้ก็ควรทากันแดดซ้ำเพื่อการปกป้องผิวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับใครที่อยากรู้ว่า เราควรจะเลือกกันแดด SPF 30, 50 หรือมากกว่าดี แล้วค่า SPF ที่สูงต่ำต่างกัน ประสิทธิภาพในการกันรังสี UVB จะแตกต่างกันด้วยหรือไม่ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก แนะนำให้เลือกค่า SPF ที่เหมาะกับลักษณะการใช้ชีวิตประจําวันของเราด้วยวิธีการคำนวณที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น พิจารณาร่วมกับประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ดังนี้

  • SPF 30 ป้องกันรังสี UVB ได้ 97%
  • SPF 50 – 60 ป้องกันรังสี UVB ได้ 98%
  • SPF 100 ป้องกันรังสี UVB ได้ 99%

#3 PA+++ and UVA Protection

นอกจากจะเลือกกันแดดที่มี SPF มาป้องกันรังสี UVB แล้ว เรายังควรเลือกกันแดดที่ป้องกันรังสี UVA ได้ด้วยเช่นกัน เพราะ UVA เป็นตัวการที่ทำให้ผิวของเราเหี่ยวย่น สร้างอนุมูลอิสระ และอาจก่อเกิดมะเร็งผิวหนังบางชนิด โดยแนะนำให้เช็กดูที่กันแดดของเราว่ามีคำว่า PA (Protection Grade of UVA) เขียนไว้อยู่หรือไม่ หากยิ่งเป็น PA+ พร้อมกับเครื่องหมาย + แบบนี้ก็หมายความว่ากันแดดตัวนี้สามารถป้องกันรังสี UVA ได้มากขึ้น และถ้าหากใครที่มีคำถามต่อว่า เราควรจะเลือกตัวที่มี + เยอะแค่ไหนถึงจะดี ก็สามารถเช็กได้ตามนี้เลย (แนะนำว่าควรเลือกเป็น PA+++ ขึ้นไป)

  • PA+ ป้องกันรังสี UVA ได้ 2 – 4 เท่า (ระดับเริ่มต้น)
  • PA++ ป้องกันรังสี UVA ได้ 4 – 8 เท่า (ระดับกลาง)
  • PA+++ ป้องกันรังสี UVA ได้ 8 – 16 เท่า (ระดับสูง)
  • PA++++ ป้องกันรังสี UVA ได้มากกว่า 16 เท่า (ระดับสูงสุด)

#4 Sunscreen Application Tips and Tricks

แม้ว่าเราจะเลือกกันแดดมาดีแล้ว ทั้งการเช็กที่ประเภทของกันแดด ส่วนผสม ค่า SPF และ PA+++ ที่สามารถปกป้องได้ทั้งรังสี UVB และ UVA หรือจะให้ง่ายกว่านั้น แนะนำให้มองหาคำว่า ‘Broad Spectrum’ เพราะกันแดดที่ระบุว่า Broad Spectrum นั้นหมายความว่าสามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVB และ UVA นั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากเราทากันแดดไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้ประสิทธิภาพในการกันแดดได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรนัก โดยปริมาณกันแดดที่ควรทานั้นเราสามารถกะปริมาณได้หลายวิธีตั้งแต่ 2 ข้อนิ้วชี้ หรือ 1/4 ช้อนชา หรือ 1 เหรียญสิบบาท จากนั้นให้ทาอย่างน้อย 15 – 20 นาทีก่อนออกแดด เพื่อที่กันแดดจะได้พร้อมปกป้องผิวของเราอย่างเต็มที่ แต่ถ้าใช้กันแดดแบบ Chemical Sunscreen แนะนำให้ทาประมาณ 30 นาทีก่อนออกแดดจะดีกว่า เนื่องด้วยกันแดดชนิดนี้จำเป็นต้องถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังก่อนทำการปกป้อง แต่หากเราทาแล้วออกแดดทันทีเลย แบบนี้ก็อาจทำให้ผิวของเราไม่ได้รับการปกป้องได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก ส่วนใครที่มีเหงื่อออกมากหรือทำกิจกรรมที่ต้องโดนน้ำ อย่างเช่นการว่ายน้ำ กันแดดอาจจะหลุดง่าย จึงควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือเลือกกันแดดที่สามารถกันน้ำได้ โดยหากเขียนว่า Water Resistance จะกันได้ 40 นาที ในขณะที่ Very Water Resistance จะกันได้ 80 นาที

#5 Sunscreen is a must when staying indoors.

‘เราควรทากันแดดก่อนออกจากบ้าน’ เป็นเรื่องเบสิกที่ใครๆ ก็รู้และทำกัน โดยเฉพาะเมืองไทยเราที่แดดจัดแบบนี้ กันแดดจึงกลายไปเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า เราควรทากันแดดเมื่ออยู่บ้านหรือที่ทำงานด้วย เราคงต้องเปลี่ยนความคิด ‘อยู่ในร่ม ไม่ได้ตากแดด ไม่จำเป็นต้องทาหรอก’ เสียใหม่ โดยเฉพาะการอยู่ในบริเวณใกล้กับกระจกที่แสงแดดส่องถึง หรือแม้แต่ในรถเอง แม้ว่ารังสี UVB จะไม่สามารถทะลุผ่านกระจกเข้ามาได้ แต่ทว่ารังสี UVA กลับสามารถเล็ดลอดผ่านกระจกหรือหน้าต่างเข้ามาได้ ฉะนั้นหากไม่อยากให้ผิวโดนทำร้ายจนแก่กว่าวัยด้วยรังสี UVA แนะนำให้ทากันแดดอย่างถูกวิธีตามที่ได้แนะนำไว้ ไปพร้อมๆ กับการเลี่ยงอยู่ในที่แสงแดดส่องถึง ปิดม่าน ติดฟิล์มกรองแสงที่สามารถกรองรังสี UVA ได้ หรือแม้แต่การใช้กระจกลามิเนตแทนกระจกใสเพื่อลดระดับการทะลุผ่านของ UVA และสำหรับใครที่อาจเป็นกังวลกับแสงอื่นๆ ภายในบ้านอย่างหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ LED หรือแสงสีฟ้าจากหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เหล่านี้แทบจะไม่ส่งผลเสียต่อผิวหนังเลยก็ว่าได้

Latest Posts

Don't Miss