เชื่อว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงตื่นตากับปรากฏการณ์ของซีรี่ส์ไทยเสียดสีสังคมอย่าง ‘สืบสันดาน’ ที่มาแรงจนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยกระแสความนิยมที่พุ่งแรงติดอันดับที่ 2 ซีรี่ส์ที่มียอดคนดูสูงสุดของโลกใน Netflix รวมไปถึงยังติดท็อป 10 มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยสืบสันดานนี้เป็นซีรี่ส์ตีแผ่เรื่องราวของคำว่า ‘สันดานรวย’ ตามแบบฉบับตระกูล ‘เทวสถิตย์ไพศาล’ ผ่านสายตาของ ‘ไข่มุก’ อดีตสาวรับใช้ที่ถูกเลื่อนขั้นเป็นภรรยาคนใหม่ของเจ้าสัวอาณาจักรเพชรที่เสียชีวิตไปอย่างปริศนา และนี่ก็เป็นเพียงเรื่องย่อเท่านั้น แต่ก็ทำเอาผู้ชมอย่างเราๆ ตื่นเต้นจนอยากชมกันไม่ไหว! วันนี้แอลอยากจะชวนทุกคนไปล้วงลึกเบื้องหลังเรื่องราวอันเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการแคสต์นักแสดงมากฝีมือมาร่วมเสกผลงาน หรือจะเป็นนัยยะและแง่มุมต่างๆ ในซีรี่ส์เรื่องนี้ว่าจะทำเอาไว้ได้น่าทึ่งจนติดอันดับโลกได้อย่างไร
The Art of Long Takes and Editing
ซีรี่ส์เรื่องนี้มีการใช้เทคนิกถ่ายทำแบบ Long-take หรือ One Single Shot ที่นิยมใช้ในวงการหนังฮอลลีวูด ซึ่งเป็นความพิเศษที่ไม่ค่อยเห็นในซีรี่ส์ไทยเรื่องอื่นๆ แต่ผู้กำกับเลือกนำเทคนิกนี้มาใช้เพื่อเป็นการยกระดับซีรี่ส์ขึ้นไปอีกขั้น อย่างซีนที่เปิดมาด้วยฉากงานศพของเจ้าสัวรุ่งโรจน์

Long-take หรือ One Single Shot เป็นการถ่ายแบบต่อเนื่องโดยที่จะไม่มีการหยุดของกล้องหรือการตัดต่อเข้าช่วย เพื่อบีบคนดูให้โฟกัสไปกับเนื้อหา ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสับเปลี่ยนมุมกล้อง การจัดแสงไฟต่างๆ และการดำเนินเรื่องของตัวละคร ที่หากผู้ชมได้เห็นเบื้องหลังการสับเปลี่ยนฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตา รับรองว่าจะต้องตะลึงไปตามๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการตัดต่อเข้ามาช่วย เช่น ฉากที่เสื้อผ้าของไข่มุกที่ถูกสับเปลี่ยนภายในเสี้ยววินาทีไปพร้อมกับอารมณ์ของตัวละครที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ถูกคนดูจับได้แม้แต่น้อย ในฉากสั้นๆ ที่มีความยาวไม่กี่นาทียังสะกดผู้ชมได้มากขนาดนี้ ถ้าหากได้ชมซีรี่ส์เต็มๆ แล้วเชื่อว่าทุกคนคงละสายตาไปจากแต่ละฉากไม่ได้อย่างแน่นอน
นอกจากเทคนิกการถ่ายทำแล้ว ยังมีเรื่องการตัดต่อที่โดดเด่นเช่นกัน ที่มีการใช้เทคนิก Match Cut Editing เป็นเทคนิกการตัดสลับเหตุการณ์ในปัจจุบันและเหตุการณ์ในอดีตของตัวละคร 2 คนอย่างไข่มุกและดาว ที่ทำให้คนดูเข้าใจปมและความยากลำบากของสองตัวละครนี้ได้อย่างง่ายดายมากขึ้นว่าเป็นอย่างไร และทั้งสองต้องพบเจอกับความโหดร้ายแบบเดียวกัน จนนำไปสู่การเลือกเส้นทางว่าจะตัดสินใจใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

The Incredible Cast
เนื้อเรื่องที่ว่าเข้มข้นแล้ว ทีมนักแสดงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทวีคูณความเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในนักแสดงนำที่ถูกพูดถึงอย่างมากเลยคือ ญดา นริลญา นักแสดงดาวรุ่งที่ฝากผลงานโดดเด่นในภาพยนตร์ชิงออสการ์อย่างร่างทรง และละครคลาสสิกเรื่องดวงใจเทวพรหม โดยในซีรี่ส์เรื่องนี้เธอรับบทเป็น ‘ไข่มุก’ ซึ่งญดาได้เล่าถึงฉากที่ท้าทายที่สุดนั่นก็คือฉากสลับอารมณ์ที่ต้องเปลี่ยนจากความเศร้าในงานศพมาเป็นความกระตือรือร้นในงานเลี้ยงวันเกิดในชั่วพริบตา จากการถ่ายทำแบบ Long-take ซึ่งเจ้าตัวยอมรับเลยว่ายากมาก แต่ถ้าหากได้ชมแล้วก็ต้องถึงกับลุกขึ้นปรบมือให้ดังๆ กับฝีมือในการใช้สายตาเพื่อการสื่อสารได้อย่างน่าขนลุก

นักแสดงรุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง ชาย ชาตโยดม ในบท ‘ภูพัฒน์’ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ความทุ่มเทของเขาทำให้ตัวละครมีความลึกซึ้งและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าต้องการให้ตัวละครนี้มีความเป็นมนุษย์และซับซ้อนเกินกว่าที่เห็นจากภายนอก ดังนั้นการแสดงของเขาจึงเต็มไปด้วยความละเอียดและสามารถสะท้อนอารมณ์ที่หลากหลายได้อย่างมีเสน่ห์

อีกหนึ่งนักแสดงที่ต้องพูดถึงคือ คลาวเดีย จักรพันธุ์ ที่รับบท ‘อารยา’ เธอมีเทคนิกการแสดงที่น่าทึ่ง โดยใช้เสียงเพลงในหัวเพื่อช่วยในการแสดงออกทางสีหน้าโดยไม่ต้องพูด นอกจากนี้ คลาวเดียยังได้ทำงานร่วมกับ แก๊ป ธนเวทย์ ในบทคู่สามีภรรยา โดยเธอถึงขั้นเก็บกลิ่นน้ำหอมของแก๊ปมาดมที่บ้านเพื่อสร้างความอินให้กับตัวเอง การที่เธอทำให้ตัวละครอารยามีความลึกซึ้งและซับซ้อนได้อย่างมากเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถและความทุ่มเทของเธอ

นอกจากนี้ยังมีนักแสดงอีกมากมายที่มาร่วมสร้างสีสันให้กับซีรี่ส์นี้ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงตัวพ่อตัวแม่อย่าง บี๋ ธีรพงศ์ และ นุสบา ปุณณกันต์ รวมไปถึงนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง แพรว นฤภรกมล, ตังโก้ ฐิตินันต์ และอีกหลายคนที่มีความสามารถเฉพาะตัว การประชันฝีมือระหว่างนักแสดงทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ซีรี่ส์นี้น่าติดตาม ทั้งการแสดงที่ลึกซึ้งและการสร้างมิติที่หลากหลาย รับประกันว่าคุ้มค่าที่จะรับชมอย่างแน่นอน

Hidden Symbolism
ความโดดเด่นของเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้สัญญะในการสื่อถึงแก่นหลัก ‘ผีเสื้อ’ สัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงความรักและอิสรภาพ หรืออาจเป็นสิ่งที่สื่อถึงชีวิตและการเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อีพีแรก เราจะเห็นผีเสื้อถูกขังอยู่ในขวดโหล ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกราวกับถูกขังของตัวละคร โดยภาพนี้ไม่เพียงแสดงถึงความท้าทายและความยากลำบากของตัวละครเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความหวังในการดิ้นรนหาทางออกจากสภาวะนี้

ยิ่งไปกว่านั้น กานต์ ศิวโรจณ์ ผู้กำกับซีรี่ส์เองก็พูดถึงว่าชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษ ‘Master of the House’ แปลเป็นคำย่อได้ว่า MOTH ที่มีความหมายว่า ผีเสื้อกลางคืน นอกจากนี้ยังสังเกตได้อีกว่าตัวละครเจ้าสัวที่รับบทโดย บี๋ ธีรพงศ์ ที่หลงใหลในสัตว์ชนิดนี้และมักดัดแต่งปีกของมันตามใจอยาก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญะที่สื่อถึงการควบคุมคนอื่นตามใจต้องการ และยังเป็นแก่นหลักของเรื่องสืบสันดาน

โดยในฉากที่ไข่มุกกางปีกเป็นการสะท้อนถึงทัศนคติของเจ้าสัวที่มีต่อเธอซึ่งแตกต่างจากคนอื่ เพราะเขามีอำนาจในการควบคุมและจำกัดการกระทำของเธอได้ตามต้องการ ท่าทางการกางปีกของไข่มุกอาจสื่อได้ว่าเธอพร้อมที่จะถูกควบคุมและดัดแปลงตามกฎแล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่ความปรารถนาของเธอก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเองโดยไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งยังตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในสังคมอีกด้วย

Gender Dynamics
สืบสันดานถือเป็นซีรี่ส์ที่ตีแผ่ปิตาธิปไตย ผ่านเลนส์ของบรรดาสาวรับใช้ในบ้านมหาเศรษฐีตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล โดยมี ‘ไข่มุก’ เป็นตัวแทนของเฟมินิสต์ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติความไม่เท่าเทียมทางเพศและการถูกกดขี่ที่เกิดขึ้นภายในคฤหาสน์หลังนี้ และอาจเป็นภาพสะท้อนถึงโครงสร้างทางสังคมโดยรวมอีกด้วย

หากเราแบ่งกลุ่มตัวละครในซีรี่ส์เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือบรรดาสมาชิกตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล ครอบครัวเศรษฐีชนชั้นสูง และเหล่าคนรับใช้ภายในบ้านที่เป็นภาพแทนของชนชั้นล่างผู้ถูกเอาเปรียบและเหยียบย่ำโดยพวก ‘ผู้ดี’ เราจะเห็นว่าซีรี่ส์เรื่องนี้กำลังเล่นกับพลวัตทางอำนาจ (Power Dynamic) ระหว่างคน 2 ชนชั้น ผ่านภาพการกดขี่และย่ำยีที่ตระกูลนี้กระทำต่อผู้ใต้ปกครอง ถึงอย่างนั้นเหล่าคนรับใช้ก็จำเป็นต้องอดทนทั้งน้ำตาและเก็บความคับแค้นไว้ในใจ ทั้งยังต้องปกปิดความลับของตระกูลนี้เอาไว้ตามสัญญา




อย่างไรก็ตาม ภายในความแตกต่างทางชนชั้น ก็ยังแฝงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงและชาย แม้ในหมู่ผู้ลาภมากดีกันเองก็ตาม โดยในซีรี่ส์เราจะเห็นภาพคนรับใช้ในบ้านส่วนมากเป็นผู้หญิง ซึ่งยิ่งทำให้ง่ายต่อการกดขี่และคุกคามทางเพศ ด้านตระกูลเทวสถิตย์ไพศาลที่แทบทุกคนดูจะมีอำนาจล้นมือ แต่ผู้ที่มีอำนาจจริงๆ กระจุกอยู่แค่ในหมู่สมาชิกเพศชาย อย่างตัวเจ้าสัวและลูกชายทั้งสอง ส่วนสะใภ้ที่ถึงแม้จะดูมีชีวิตฟู่ฟ่าและมักมีซีนบทบาทเจ้านายอำมหิตให้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะ ‘อารยา’ (รับบทโดยคลาวเดีย จักรพันธุ์) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเธอมีอำนาจหรือความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริง ด้วยระบบชายเป็นใหญ่และทุนนิยมที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนนำไปสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมในฐานะเฟมินิสต์ ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนผ่านแผนการปฏิวัติของไข่มุกและบรรดาสาวรับใช้ที่ต้องการจะเปิดเผยเบื้องหลังของตระกูลมหาเศรษฐี พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิให้เหล่าสาวใช้ทุกคน




Comedic Contents
แม้ที่ผ่านมาซีรี่ส์เรื่องนี้จะสร้างปรากฏการณ์ไวรัลด้วยการปล่อยตัวอย่างซีรี่ส์ที่เผยให้เห็นเนื้อหาความดราม่าอันหนักหน่วงที่แรงถึงใจคนดูทางทีมผู้สร้างยังโหมกระแสซีรี่ส์ผ่านการเล่นกับอารมณ์ที่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว โดยการหยิบยกรสนิยมของผู้คนในยุคนี้ที่ชื่นชอบความตลกและเนื้อหาที่เข้าใจง่าย แล้วนำมาพลิกแพลงอย่างสร้างสรรค์ด้วยการเชิญชวนเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายฮามาร่วมโปรโมตผ่านการสร้างคอนเทนต์วิดีโอ ‘รับสมัครแม่บ้าน’ กับทีมนักแสดงตระกูลเทวสถิตย์ไพศาลผ่าน TikTok จนทำให้ซีรี่ส์เรื่องนี้กลายเป็นกระแสไวรัลทั่วโลกออนไลน์ พร้อมทั้งเรียกเสียงหัวเราะของผู้คนได้อย่างมากมาย และถึงแม้ความขบขันของคอนเทนต์โปรโมตจะดูขัดแย้งกับความดาร์กของซีรี่ส์ แต่ก็ยังสามารถคงแก่นหลักของเนื้อเรื่องไว้ได้อย่างดี
@turk_tk เมื่อพี่เติํกไปสมัครเป็นแม่บ้านที่ #สืบสันดาน #ภาษาอังกฤษหยาบๆ #เรื่องนี้ต้องดู #tiktokพาดู #NetflixTH @Netflix Thailand #netflix ♬ original sound – Turk Tk
@pete_pamana มาออดิชั่นเป็นเมียเจ้าสัวค่ะ #สืบสันดาน #NetflixTH @Netflix Thailand #พีทพามานา #petepamana #Tiktokการแสดง ♬ original sound – petepamana
TEXT: SURADA TAWEESAENGSAKULTHAI, SYDNEY TRAKOONCHUENWIRAT, WASAWAT NATPATCHARAKUL