Coperni ใช้วิธีเข้าถึงแฟชั่นยั่งยืนด้วยนวัตกรรมเหมือนหลุดจากหนังไซไฟ ตั้งแต่สมัยพ่น ‘สเปรย์เส้นใย’ จนเกิดเป็นผืนผ้าหุ้มร่าง Bella Hadid ต่อหน้าต่อตาผู้ชม แม้หลายๆ อย่างจะยังทำขายเชิงพาณิชย์ไม่ได้แต่แบรนด์พยายามนำเสนอความเป็นไปได้ว่าแฟชั่นยั่งยืนทำได้หลายทาง เมื่อมาถึง Fall/Winter 2024-2025 Coperni หามุขใหม่มาเล่น เซ่นยอดไลก์ในโซเชียลมีเดียด้วย Swipe Bag กระเป๋าสร้างชื่อของแบรนด์ที่เวอร์ชั่นก่อนๆ ทำจากวัสดุทดแทนหนังแท้ ไม่ว่าจะเป็นหนังวีแกน หนังแก้วเทียม แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า ‘อากาศ’ จะใช้ทำกระเป๋าได้ด้วย
Air Swipe Bag เรียกว่าแฟชั่นไอเท็มดูจะด้อยค่าไปนิด เรียกว่าเป็นประดิษฐกรรมแห่งจักรวาลน่าจะเข้าท่ากว่า เมื่อวัสดุ 99% คืออากาศ และอีก 1% คือแก้ว สมแล้วที่ตั้งชื่อแบรนด์ Coperni สดุดี Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ผู้รื้อความเชื่อเก่าๆ ที่ว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล
อากาศที่ว่าแท้จริงคือซิลิกา แอโรเจล วัสดุเบาที่สุดในโลก พัฒนาโดย NASA เพื่อใช้ดักจับละอองดาวในอวกาศ ด้วยรูปลักษณ์ที่เหมือนควันสีฟ้าซึ่งประกอบด้วยซิลิกอนเป็นเบส อีก 99% คืออากาศ แต่มีความหนาแน่นมากกว่าแก้วถึง 1,000 เท่า Air Swipe จึงเป็นกระเป๋าเบาหวิวเพียง 33 กรัม แต่ทนความร้อนได้ถึง 1,200 องศาเซลเซียส และรับแรงกดมากกว่าน้ำหนักของตัวมันเองได้ 4,000 เท่า
Stella McCartney คืออีกแบรนด์ที่เป็นโปสเตอร์เกิร์ลของขบวนการแฟชั่นยั่งยืนมาตั้งแต่เดย์วันที่ก่อตั้งแบรนด์ในปี 2001 และดูเหมือนแต่ละมื้อแต่ละเดย์สเตลลาและทีมจะหรรษาสอดส่องวัสดุยั่งยืนใหม่ๆ มาแทนที่วัสดุเดิมๆ ที่อุตสาหกรรมแฟชั่นใช้กันมา กระทั่งกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นแรกในโลกที่ใช้หนังไมซีเลียมที่ทำจากเส้นใยเห็ดราทำกระเป๋า หรือการใช้ประดิษฐกรรมเฟอร์ปลอดพลาสติกครั้งแรกของโลก ซึ่งเป็นเฟอร์เทียมที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพผนึกกำลังกับเทคนิคการทอดั้งเดิม ทำให้วัตถุดิบธรรมชาติล้วนๆ ทั้งเซลลูโลสซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผนังเซลล์พืช เช่น ผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช ผสมกับเส้นใยกัญชงและลินิน กลายเป็นเฟอร์ plant-based ปลอดพลาสติก 100% และทางแบรนด์ยังนำเสนอโค้ตเฟอร์แบบใหม่ใช้เส้นใยอัลปากาที่มีกระบวนการเลี้ยงและผลิตเส้นใยอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน นำมาถักเป็นเส้นเชือกใหญ่แล้วร้อยเป็นห่วงเหมือนหินงอกหินย้อยงอกออกมาจากโค้ต
Stella McCartney ยังพานางเอกใหม่มาเปิดตัว ‘UPPEAL™️’ วัสดุจากเศษแอปเปิล ไม่ว่าจะเป็นเปลือก แกน และเมล็ด ลำพังเพียงตอนเหนือของอิตาลี แหล่งอุตสาหกรรมแยมและน้ำแอปเปิ้ลก็ผลิตขยะแอปเปิ้ลมากถึง 30,000 ตัน ซึ่งกำจัดโดยส่งไปบ่อขยะหรือเผาทิ้ง แต่หากนำเศษแอปเปิ้ลมาอบแห้ง บดเป็นผง ผสมกับพลาสติกโพลิยูริเทน และเคลือบผิว ก็จะได้วัสดุทดแทนหนังแท้แบบแยกไม่ออก ดังนั้น เมื่อนางแบบสวมเทรนช์โค้ต ‘หนังจระเข้’ สีแทนของ Stella McCartney เดินออกมาก็เล่นเอาคนดูร้องเมี้ยว เมื่อเจอคำเฉลยว่ามันคือหนังแอปเปิ้ลปั๊มลายต่างหาก #เซฟจระเข้
กระโปรงหนังทรงดินสอกับเทรนช์โค้ต พร้อมเข็มขัดสีขาว นี่ก็เดาไม่ออกแน่ๆ ว่าที่แท้ทำจาก YATAY B วัสดุชีวภาพจากส่วนผสมของพลาสติก PES รีไซเคิลจากขวดใช้แล้ว ผสมกับวัตถุดิบชีวภาพหมุนเวียนจากพืชเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร (เช่น ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน) และเศษซากข้าวโพดที่ไม่ตัดแต่งพันธุกรรม ได้ออกมาเป็นหนังวีแกนเนื้อนุ่มแถมมีรอยแตกลายงาราวกับหนังแท้วินเทจ
และต้องยกให้กับความวิริยะหาวัสดุยั่งยืนอีกจอก เมื่องานปักส่องแสงวิบวับล้วนปลอดภัยต่อคน สัตว์ และโลก ไม่ว่าจะเป็นเลื่อมทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล โซ่จากสต๊อกเก่า คริสตัลปลอดสารตะกั่วพ่นสี Airlite สีนวัตกรรมที่ฟอกอากาศได้ในตัว ร้อยเรียงกันเป็นมินิเดรสและบราเลตต์ ไปจนถึงป้ายโลโก้แบรนด์เงาวับก็ทำจากซาแมค โลหะที่ไม่ผสมเหล็กซึ่งทางแบรนด์เลือกซัพพลายเออร์ที่บริหารจัดการกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
Coperni นำเสนอแฟชั่นยั่งยืนแบบล้ำๆ ดึงดูดความสนใจคนได้กระหึ่ม ตราตรึงจนโซเชียลแตก ผิดแผกกับ Stella McCartney ที่ขยันแท้ในการสรรหาวัสดุนวัตกรรมล้ำไม่แพ้กันหรอก แต่หาทางออกให้คนคุ้นชินด้วยการทำเสื้อผ้าและแอ็กเซสเซอรี่ส์หน้าตาเหมือนของที่ใช้กันอยู่เดิม คล้ายว่าแบรนด์หนึ่งนำเสนอความยั่งยืนประหนึ่งอาหาร plant-based ส่วนอีกแบรนด์ปรุงแฟชั่นราวกับอาหารมังสวิรัติ แม้การพรีเซนต์จะแตกต่าง แต่เนื้อในคือวัสดุใหม่ที่จะนำไปสู่ปลายทางแห่งความยั่งยืนเหมือนกัน
TEXT: SUPHAKDIPA POOLSAP