จากยุค ’50s ของ Jacqueline Kennedy, เครื่องประดับของสุภาพสตรีหมายเลข 1 ในยุค 2010s Michelle Obama, ชุดกระโปรงประดับไข่มุก 50,000 เม็ดของ Kim Kardashian ที่ Met Gala 2023, ลุคพรมแดงของ Harry Styles, Giorgio Armani Women Autumn/Winter 2024-2025 จนถึงแคปซูลคอลเล็กชั่น Tiffany Titan by Pharrell Williams จาก Tiffany & Co. ไม่ว่าเพศไหน ฤดูกาลใด ไข่มุกมีที่ยืนได้เสมอ จึงไม่เพียงเป็นหนึ่งในอัญมณีดาวค้างฟ้าตลอดกาล ดีไม่ดีความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ไข่มุกเป็นอัญมณีที่มาเซฟวิกฤตโลกร้อน…ได้อย่างไรกัน

“ไข่มุกมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มันคือรัตนชาติชนิดเดียวที่หมุนเวียนเกิดใหม่ได้หลายครั้งในชั่วชีวิตหนึ่งของมนุษย์” Dr. Saleem Ali ผู้อำนวยการ Centre for Social Responsibility in Mining, University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย กล่าวเมื่อครั้งนำงานวิจัยเรื่องไข่มุก อัญมณีแห่งความยั่งยืนไปบรรยายที่ GIA สถาบันอัญมณีระดับโลก


ยกตัวอย่างหอยนางรมสายพันธุ์ Pinctada maxima ใช้เวลาเพาะเลี้ยงในน้ำเค็มทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลียอันใสสะอาดปราศจากมลพิษ ทว่าอุดมไปด้วยสารอาหารอย่างน้อย 2 ปีจึงจะให้ไข่มุกเซาท์ซีสีขาว เทา เหลืองซึ่งเป็นที่ต้องการไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 1911 หลังจากเปิดปากหอยแงะเอาไข่มุกออกมาแล้ว (อาจได้ไข่มุก 1 เม็ด หรือมากถึง 50 เม็ดในบางสายพันธุ์) ผู้ผลิตจะปล่อยหอยนางรมลงสู่น้ำให้เติบโตขึ้นและขยายพันธุ์มากขึ้นต่อไป เช่นเดียวกับไข่มุกน้ำเค็มอย่างไข่มุกตาฮิติสีดำ เทา น้ำตาลแกมเทา หรือสีเหลือบเขียวที่เรียกว่า peacock colour ที่ราคาสูงกว่าปกติ ซึ่งได้จากสายพันธุ์ Pinctada margaritifera หอยนางรม 1 ตัวสามารถผลิตไข่มุกได้หลายครั้งในชั่วชีวิต

งานวิจัยของ ดร.ซาลีมยังพบด้วยว่า การทำฟาร์มหอยมุกยังช่วยพัฒนาคุณภาพน้ำ อนุรักษ์ปะการัง และลดการจับปลามากเกินไป เพราะน้ำบริเวณฟาร์มหอยมุกต้องใสกิ๊ง แต่มีสารอาหารมาก และมีระบบนิเวศสมบูรณ์พร้อม เอื้อให้ปะการังและสัตว์น้ำต่างๆ ได้อยู่กินอย่างผาสุกไปด้วย ในขณะที่คนท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำฟาร์มหอยมุกซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อีกทาง จึงไม่ต้องพึ่งพารายได้ทางเดียวจากอาชีพประมง และหอยมุกยังเป็น ‘blue carbon’ เพราะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำไปใช้การสร้างเปลือกหอยให้เจริญเติบโตขึ้น เท่ากับได้ช่วยกำจัดก๊าซที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนได้อีกทาง


ทว่ากระแสความนิยมไข่มุกทำให้วิวาทะเรื่องจริยธรรมของการทำฟาร์มมุกเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น นั่นเป็นเพราะไข่มุกธรรมชาติหาได้ยากยิ่ง พบเพียง 1 ในหอยนางรมธรรมชาติ 10,000 ตัวเท่านั้น ไข่มุกส่วนใหญ่ในโลกจึงเป็นมุกเลี้ยง นักรณรงค์สิทธิสัตว์จำนวนหนึ่งเชื่อว่ากระบวนการทำฟาร์มหอยมุกเป็นเรื่องผิดธรรมชาติและทารุณสัตว์ เพราะต้องผ่าเปิดฝาหอยมุกและใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไป อาทิ นิวเคลียสปลอม หรือไข่มุกเทียมที่มีรูปทรงกลม เพื่อให้หอยมุกเกิดการระคายเคืองต่อสิ่งแปลกปลอม แล้วระบบภูมิคุ้มกันของหอยจึงจะสร้างแนกเกอ (Nacre) ที่เป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูนมาเคลือบเอาไว้ เพราะมันกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไปไม่ได้

นอกจากนี้การนำไข่มุกออกมาก็ต้องใช้มีดแงะเปิดปากหอยมุก แม้ตามชีววิทยาแล้ว หอยนางรมจะไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีแนวโน้มว่าจะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด แต่ในทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ชัดเจนว่าหอยนางรมรู้สึกรู้สาต่อความเจ็บปวดหรือไม่ เพราะมีการทดลองหนึ่งที่พบว่าหอยนางรมจะปิดเปลือกแน่นเมื่อถูกก่อกวนหรือแม้แต่สัมผัสเสียงดังๆ ได้ ความกังวลนี้จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ ‘ไข่มุกวีแกน’ เช่น แบรนด์ Vellva ที่ทำไข่มุกเทียมโดยมีแกนกลางเป็นคริสตัลแล้วเคลือบผิวชั้นนอกด้วยสารประกายมุกให้เปล่งประกายนวลเนียนราวกับไข่มุกจริง อันเป็นวิธีการเดียวกับไข่มุกเทียมของ Swarovski

“ถ้าอยากได้ไข่มุกคุณภาพดี คุณต้องเลี้ยงให้หอยมุกเป็นหอยที่แฮปปี้ และหอยมุกที่แฮปปี้ต้องอยู่ในน้ำสะอาดปราศจากมลพิษเท่านั้น” ดร.ซาลีมย้ำด้วยใจหวังว่าหากผู้คนได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจทำให้ไข่มุกได้รับความนิยมมากขึ้นก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นมุกธรรมชาติ มุกเลี้ยง มุกน้ำเค็ม มุกน้ำจืด มุกอาโกย่า มุกเซาท์ซี มุกตาฮิติ หรือมุกวีแกนก็ตาม
TEXT: SUPHAKDIPA POOLSAP