Thursday, March 27, 2025

พูดสุดพิเศษกับทีมนักออกแบบของ Issey Miyake ถึงงานออกแบบแฟชั่นเชิงนวัตกรรมและจิตวิญญาณล้ำยุค

FOR NOW AND TOMORROW

ด้วยผลงานออกแบบแฟชั่นเชิงนวัตกรรมที่ทำให้ Issey Miyake ดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าชาวญี่ปุ่นสร้างชื่อในระดับโลก ปัจจุบันมรดกตกทอดทางความคิดและจิตวิญญาณล้ำยุคได้ถูกส่งต่อถึงทีมนักออกแบบ Miyake Design Studio (MDS) แอล ประเทศไทยได้ถามถึงเบื้องลึกเบื้องหลังโดยเฉพาะกับไลน์ 132 5. ISSEY MIYAKE ของแบรนด์ รวมถึงคอลเล็กชั่นประจำฤดูกาลล่าสุด

ELLE: Reality Lab ที่ก่อตั้งโดยอิสเซ่ มิยาเกะ ในปี 2007 มาพร้อมกับไอเดีย ‘การสร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้’ ช่างเป็นสเตตเมนต์อันอาจหาญแม้ในทุกวันนี้ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นอะไรคือส่วนสำคัญที่สุดในงานสร้างสรรค์ของ 132 5. ISSEY MIYAKE?

Reality Lab เริ่มต้นจากแนวคิดในการพัฒนาวัสดุแห่งอนาคตและนำมาใช้ในงานออกแบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของนวัตกรรม เราต้องการปรับมุมมองกระบวนการผลิตตามปกติเสียใหม่ โดยผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมที่ยังคงใช้กันในสายพานการผลิตทั่วประเทศญี่ปุ่นเข้ากับรูปแบบใหม่ๆ เท่าที่เทคนิคต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปปรับใช้เข้ากันได้ ในวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้วที่แบรนด์ก่อกำเนิดขึ้นมา วัสดุตัดเย็บต่างๆ รวมถึงเทคนิคในกระบวนการผลิตก็ได้พัฒนาไปไกลขึ้นมาก ขยายขอบเขตจากเส้นใยพอลิเอสเตอร์และพอลิเอส เตอร์รีไซเคิล ไปจนถึงพอลิเอสเตอร์จากพืชและพอลิเอสเตอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เรายังคงค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เห็นได้จากการที่เรายังคงอัพเดตกระบวนการผลิตใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ELLE: ช่วยเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการอันเป็นเอกลักษณ์กว่าจะออกมาเป็นคอลเล็กชั่นของ 132 5. ISSEY MIYAKE สักคอลเล็กชั่น และมีความต่างจากแบรนด์อื่นๆ ทั่วไปอย่างไร?

 ในส่วนของขั้นตอนการผลิตและการพัฒนาตัววัสดุตัดเย็บของ 132 5. ISSEY MIYAKE ในแต่ละคอลเล็กชั่นล้วนแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ทั่วไป กระบวนการดั้งเดิมคือการสร้างแพตเทิร์นให้สอดรับกับเรือนร่าง แต่สำหรับ 132 5. ISSEY MIYAKE นั้น เราเริ่มจากงานโครงสร้างในเชิงเรขาคณิตที่ถูกพับแบนราบ จากนั้นเมื่อคลี่ออกและนำมาอยู่บนเรือนร่างก็จะเกิดเป็นชุดแต่ละชุดขึ้นมา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเราหลีกหนีจากวิธีการเดิมๆ ของการสร้างแพตเทิร์นกระดาษที่ล้อไปกับเส้นสายร่างกายและขับเน้นทรวดทรงไปสู่เรื่องของโครงสร้างพับซ้อนที่แปรเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าเมื่อสวมใส่ นี่คือไอเดียสร้างสรรค์พื้นฐานสำคัญของ 132 5. ISSEY MIYAKE เป็นขั้นตอนงานดีไซน์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สะท้อนมุมมองความงามทั้งเวลาพับแบนราบและยามสวมใส่บนเรือนร่าง

ELLE: จากการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้งสู่ระเบียบวิธีคำนวณทางคณิตศาสตร์ จากรูปแบบใหม่ของการสวมใส่เสื้อผ้าสู่ความจำเป็นในการรักษาสภาพแวดล้อม จากงานเรียบแบน 1 มิติสู่งานคลี่ออกเป็น 3 มิติ นอกจากนี้ยังมีอะไรให้สำรวจต่อไปอีกสำหรับ 132 5. ISSEY MIYAKE?

เราถามตัวเองเหมือนกันว่ากระบวนการผลิตจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เราจะใช้มันเพื่อสร้างความสุขและความหวังให้โลกได้อย่างไร เสื้อผ้าของ 132 5. ISSEY MIYAKE คือส่วนผสมของโครงสร้างพับซ้อนอันเที่ยงตรงแม่นยำ โดยอาศัยงานคราฟต์ งานฝีมือแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมเป็นส่วนสำคัญ ผลงานทั้งหมดล้วนต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจนนำมาซึ่งคุณค่าเฉพาะตัว ด้วยเหตุนี้ขั้นตอนอันสลับซับซ้อนจึงไม่เอื้อต่อการผลิตในจำนวนมากๆ การคงไว้ซึ่งความชัดเจนที่มีต่อตัวผลงานทำให้เราพยายามหาหนทางหลากหลายเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรของแมสโปรดักชั่นและของเหลือทิ้งจำนวนมหาศาล เรามีความปรารถนาที่จะใช้เสื้อผ้าของเราเพื่อสื่อสารและส่งต่อเทคนิคตัดเย็บและเทคโนโลยีอันซับซ้อนและมีความประณีตบรรจงตามแบบฉบับญี่ปุ่น

ELLE: อะไรคือข้อดีของการใช้เส้นใยจากพอลิเอสเตอร์รีไซเคิล (จากผลิตภัณฑ์พอลิเอสเตอร์และขวด PET) และเส้นใยเหล่านั้นช่วยเพิ่มสมรรถนะทางงานออกแบบและแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ 132 5. ISSEY MIYAKE อย่างไร?

วัสดุพื้นฐานตั้งต้นของ 132 5. ISSEY MIYAKE อย่างพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลได้รับการพัฒนาตั้งแต่ตอนที่แบรนด์ก่อตั้งขึ้น ระหว่างการพัฒนาวัสดุตัดเย็บที่จะนำมาใช้นั้นเราได้ทำการสืบเสาะค้นหาพื้นที่และโรงงานทั่วประเทศญี่ปุ่นจนมาบรรจบลงตัวที่เส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลจาก Teijin Fiber เราประทับใจกับเทคโนโลยีเฉพาะตัวที่หาใครลอกเลียนแบบได้ยากแม้ในสมัยนั้น (ทั้งยังสะท้อนความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างในสมัยนั้นด้วยเช่นกัน) เราจึงตัดสินใจที่จะนำวัสดุรีไซเคิลชนิดนี้มาใช้ผลิตชิ้นงาน หลังจากลองผิดลองถูกมานานหลายปี เกิดเป็นผ้าชนิดมาตรฐานของ 132 5. ISSEY MIYAKE ในที่สุด โดยเป็นผ้าที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีที่มาอันถูกหลักเหมาะสมแล้ว ยังโดดเด่นด้วยเท็กซ์เจอร์ทรงตัว เปลี่ยนฟอร์ม สร้างสีสันได้ดังใจ กระบวนการรีดและทำให้เรียบแบนของผืนผ้านำมาซึ่งรอยพับอันชัดเจน และจะไม่แปรเปลี่ยนหายไปหลังจากผ่านการซัก เนื้อผ้ายังทนทานต่อการยับและดูแลรักษาง่าย เมื่อถูกนำมาใช้ในหลายต่อหลายซีซั่นผ้าชนิดนี้จึงได้กลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญในงานออกแบบของ 132 5. ISSEY MIYAKE

ELLE: 132 5. ISSEY MIYAKE หลอมรวมเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมเข้ากับมรดกตกทอดของญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์แฟชั่นโลกอย่างไร?

รูปทรงผ่านการพับเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถูกผสมกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในหลากหลายแง่มุม เสื้อผ้าที่มีรากเหง้าจากวัฒนธรรมการพับแบบญี่ปุ่นสามารถทำให้ดูบางลงและเรียบแบน เอื้อต่อเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน สามารถเก็บรักษาได้อย่างงายดายโดยไม่กินเนื้อที่ 132 5. ISSEY MIYAKE พัฒนาคอนเซ็ปต์ สวยงามแม้ยามพับไว้ให้ไปไกลมากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นรูปฟอร์มเมื่อได้สวมใส่หรือในแบบที่พับเอาไว้ ก็ต่างมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง ทั้งยังสร้างความประทับใจ เส้นสายของรอยพับเปรียบได้กับการสอดประสานของรูปแบบ 2 มิติ เซอร์ไพรส์จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการคลี่กระจายออก เกิดเป็นรูปฟอร์มที่เราไม่สามารถจินตนาการออกได้ตอนพับไว้ และนั่นคือจุดน่าดึงดูดใจอันเป็นที่รู้กันของเสื้อผ้า 132 5. ISSEY MIYAKE ผลงานจากเทคโนโลยีการพับสู่ผลิตภัณฑ์ที่นำมาสวมใส่บนเรือนร่างได้

ELLE: อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังงานออกแบบคอลเล็กชั่นประจำฤดู Spring/Summer 2025 ที่ชื่อว่า ‘Continuity’?

สำหรับคอลเล็กชั่นประจำฤดู Spring/Summer 2025 นี้ เราเน้นในเรื่องของ ความเรียบแบน(flat),ความทรงตัว (solid) และความโค้งเว้า (curved) โดยนำเสนอแนวทางสำรวจในแต่ละธีมเป็นช่วงระยะเวลา 2 เดือน และเอาคีย์เวิร์ดอย่างคำว่า ความต่อเนื่อง(continuity) มาครอบไว้ สำหรับ ความเรียบแบนที่เชื่อมโยงกับรูปแบบ 2 มิตินั้น เราได้พัฒนาเสื้อผ้าที่ห่อหุ้มเรือนร่างจากแผ่นผ้าผืนเดียว ด้วยรูปแบบโครงสร้างของสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านขนาน (parallelogram) ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของ 132 5. ISSEY MIYAKE ต่อที่ ‘ความทรงตัว’ ที่เชื่อมโยงกับรูปแบบ 3 มิติ เราโฟกัสที่ความต่อเนื่องอันพบได้จากรูปทรงจำเพาะที่พบได้ทั่วไปรอบตัวเรา ทำให้เกิดฟอร์มของเสื้อผ้าอันเกิดจากความต่อเนื่องของรูปทรง โยงเข้าเป็นกรรมวิธีงานดีไซน์ 132 5. ISSEY MIYAKE ผลงานในซีรี่ส์นี้สร้างสรรค์ขึ้นจากแพตเทิร์นรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และรูปทรงเรขาคณิตอื่นๆ พร้อมกับเติมสีสันเข้าไปจนเกิดผลงานแบบ 3 มิติอันแสนโดดเด่น ปิดท้ายที่ ความโค้งเว้าโดยเราดึงเอาโมทีฟโค้งเว้าที่มีความต่อเนื่องเฉพาะตัวมาใส่ในงานออกแบบเพื่อพัฒนาผลงานเสื้อผ้าชิ้นใหม่ๆ

Parallel Wrap

ผ้าในซีรี่ส์นี้ได้รับการออกแบบและถูกตัดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานวางทับซ้อนกัน เพื่อให้ได้ผ้า 1 ชิ้นที่สามารถสวมใส่ได้ เส้นไหล่ซ้ายและขวาถูกปรับตามแนวทแยงเพื่อสร้างรูปทรงที่โดดเด่นและโปร่งสบาย เนื้อผ้าที่ใช้เป็นผ้าเจอร์ซีที่มีน้ำหนักเบา ทนทานต่อรอยยับ และมีคุณสมบัติกันน้ำ

Unified Half Cubes

ซีรี่ส์นี้สร้างขึ้นจากการเชื่อมต่อกันของรูปทรงครึ่งลูกบาศก์ (ซึ่งได้จากการแบ่งลูกบาศก์เป็น 2 ส่วนตามแนวทแยง) เสื้อ กางเกง และจั๊มป์สูท ไม่ได้เป็นเพียงการรวมครึ่งลูกบาศก์เข้าด้วยกัน แต่เป็นการออกแบบที่ต้องเชื่อมต่อครึ่งลูกบาศก์เข้าด้วยกันเป็นเส้นตรงเส้นเดียว และทุกชิ้นสามารถพับให้แบนได้

Latest Posts

Don't Miss