Tuesday, April 29, 2025

หรือทางออกของแฟชั่นยั่งยืนจะไม่ใช่ทางรีไซเคิล-อัพไซเคิล แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่รันทุกวงการนามว่า ‘เอไอ’

บราท็อป พัฟฟ์เทคแจ็กเกต เสื้อยืด สเวตเชิ้ต และกางเกงยีนส์ คือชิ้นขายดีตลอดปีของ Uniqlo จนครองสถานะสูงสุดเหนือโปรดักต์ทั้งมวลคือ ‘mainstay’ ซึ่งหมายความว่าด้วยระบบที่ใช้เอไอมาช่วยประมวลข้อมูล สินค้ากลุ่มขายดีทั้งปีเหล่านี้ ซึ่งมีราวๆ 50 แบบจากข้อมูลยอดขายทั่วโลกของ Uniqlo จะถูกผลิตมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ข้อมูลบ่งชี้ว่ายอดไม่ค่อยวิ่ง มักตรงดิ่งเป็นเดดสต๊อก เอไอจะแนะว่าให้ลดจำนวนการผลิตลง ช่วยให้แบรนด์กำหนดได้ชัดขึ้นว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตอะไรหลังจากหันไปใช้ Management Cockpit แพลตฟอร์มรวบรวมฟีดแบ็กกว่า 31.4 ล้านครั้งจากผู้บริโภคภายในปีเดียว และยังช่วยให้แบรนด์ปรับเปลี่ยนการผลิตได้ฉับไวขึ้น  

Uniqlo หันมาจับมือกับเอไอไปเพื่ออะไร? ก็เพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อม เพราะเอไอช่วยประมวลผลได้ทั้งสายพานการผลิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การทอผ้า กำหนดดีไซน์ที่จะผลิต คัดทิ้งไอเท็มที่ต้องเลิกผลิต ตรวจสอบมาตรฐานด้านความยั่งยืนของซัพพลายเออร์ การขนส่ง ตรวจสอบสินค้าคงคลังทุกสัปดาห์ ปรับจำนวนสินค้าตามยอดขาย ไปจนถึงการนำเสนอสินค้าหน้าร้าน แพ็กเกจจิ้ง และการใช้วัสดุรีไซเคิล (ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.5% ในปี 2023 เป็น 18.2% ในปี 2024) เมื่อมีการจัดการทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จึงช่วยลดช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการผลิต (lead time) และจัดการวัตถุดิบในสต๊อกได้ดีขึ้น มุ่งไปสู่เป้าหมายหนึ่งเดียวคือการเป็นแบรนด์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050

Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo พยายามผูกมิตรกับเอไอเป็นเพราะแบรนด์แฟชั่น โดยเฉพาะสายแมสโปรดักชั่นมักตกเป็นเป้าของผู้บริโภคที่จับตาหาความยั่งยืนไปถึงระดับอ่านรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแบรนด์ด้วยซ้ำ หากว่าแบรนด์ใดปรับตัวมาสู้กับปัญหาโลกร้อน ผู้บริโภคมักเปิดใจเลือกซื้อสินค้าและมีใจภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว

ห่างจากการนำเสนอรายงานประจำปีที่โตเกียวของ Uniqlo ทะเลทรายอาตากามาในชิลีนับเป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในโลกแห่งหนึ่งที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางถึง 105,000 ตร.ม. ความเวิ้งว้างห่างไกลผู้คนนี้ทำให้ทะเลทรายแห่งนี้กลายสภาพเป็นบ่อขยะไปเสียเลย โดยเฉพาะขยะแฟชั่นที่ขายไม่ออก โดนส่งคืนหรือมีตำหนิจะโดน ‘นำเข้า’ มาทิ้งที่นี่ปีละ 39,000 ตัน โดยมากเป็นเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์พวกพอลิเอสเตอร์ที่ย่อยสลายไม่ได้ สุดท้ายโดนแดดทะเลทรายลามเลียจนเปื่อยยุ่ย ปล่อยสารพิษสู่อากาศ ดิน น้ำ ทำลายระบบนิเวศเป็นลูกโซ่ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่าทะเลทรายอาตากามาจะรองรับขยะแฟชั่นมากขึ้น 30% ในทศวรรษหน้า 

Refashion สตาร์ตอัพแฟชั่นยั่งยืนในลาตินอเมริกาจึงจับมือกับ Theodora AI สตาร์ตอัพเอไอร่วมกันพัฒนา ‘Octavia’ เอไอแฟชั่นที่ช่วยพยากรณ์เทรนด์ ใช้ข้อมูลมาช่วยดีไซน์ให้โดนใจคนซื้อแบบไม่ต้องเดาสุ่ม มีความ inclusivity ที่โอบรับรูปร่างหลากหลายมากขึ้น 20% จึงทำให้ผู้บริโภคประทับใจกับสินค้า (และแบรนด์) มากขึ้นถึง 85% ช่วยลดขยะจากการผลิตได้ 60% ลดการผลิตเสื้อผ้าเกินความต้องการได้ 40% (ซึ่งจะช่วยลดขยะแฟชั่นที่จะขนไปทิ้งที่ทะเลทรายอาตากามาปีละ 12,000 ตัน และลดขยะแฟชั่นที่จะถูกผลิตขึ้นในทศวรรษหน้าได้ 250,000 ตัน) อีกทั้งยังช่วยเซฟต้นทุนการผลิตได้ 25% และแบรนด์ที่ใช้เอไอ Octavia มาช่วยประมวลข้อมูลมียอดขายเพิ่มขึ้น 42% Octavia จึงไม่ใช่แค่เกิดมาช่วยเซฟทะเลทรายอาตากามา แต่เรียกว่าเอไอตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งปวงก็ว่าได้

Balenciaga เคยใช้ภาพที่ให้เอไอสร้างขึ้นมาฉายเป็นฉากหลังแฟชั่นโชว์ Gucci ร่วมกับเฮดเซต Apple Vision Pro ให้ดูหนังสั้นผ่าน AR ส่วน Lanvin ใช้เอไอสเกตช์ดีไซน์ใหม่จากต้นแบบเดิมของ Jeanne Lanvin และ Dior เปิดตัว Astra เอไอที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคจากรีวิวต่างๆ เหล่านี้คือตัวอย่างพันธมิตรเอไอกับแบรนด์ต่างๆ ที่สะท้อนว่าเอไอหากใช้ให้ดี (ไม่ใช่ใช้เป็นกิมมิกให้ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์เก๋ไก๋ไฮเทค) ก็เหมือนมีโดราเอมอนที่มาช่วยโนบิตะให้เป็นมนุษย์ที่เก่งขึ้นและมีความเป็นมนุษย์ที่แยแสความเป็นไปรอบตัวเสียบ้าง ซึ่งห่างไกลจากภาพเอไอที่ลุกมาประหัตประหารหรือทำสงครามกับมนุษย์ – ซึ่งอยู่ในสงครามที่สุ่มเสี่ยงต่อการสิ้นสูญเผ่าพันธุ์อยู่แล้ว

Latest Posts

Don't Miss