Saturday, March 15, 2025

5 หนังและซีรีส์วัยรุ่นที่ไม่เพียงเล่าชีวิตสุดว้าวุ่น แต่ยังคุกรุ่นไปด้วยประเด็นสังคม

เพราะวัยรุ่นในวันนี้ได้ก้าวขาข้างหนึ่งเตรียมตัวสู่โลกของผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ทว่าระหว่างทางแต่ละมื้อแต่ละวันกลับเต็มไปด้วยสารพัดบททดสอบนับไม่ถ้วน จึงไม่แปลกที่เรื่องราวของเหล่าวัยว้าวุ่นจะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าผ่านจอ จนเป็นเครื่องบันทึกยุคสมัย เป็นกระจกสะท้อนปัญหาต่างๆ และเป็นกระบอกเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลกที่พวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า วันนี้แอลเลยขอมามัดรวม 5 ซีรีส์วัยรุ่นที่หยิบประเด็นสังคมในแต่ละยุคสมัยมาถ่ายทอดได้อย่างเข้มข้นจนแม้เวลาจะผ่านไปก็ยังทิ้งเรื่องราวเอาไว้ให้พูดถึงกัน

รักแห่งสยาม (2007)

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยเราจะก้าวขึ้นมาสู่ระดับแนวหน้าของแหล่งผลิตสื่อ Boys’ Love และ Girls’ Love จนกลายมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญ พร้อมด้วยหลายเรื่องหลากพล็อตมาให้เราเลือกรับชมอย่างไม่ขาดสาย แต่ย้อนกลับเมื่อ 18 ปีก่อน ภาพยนตร์ในดวงใจใครหลายคนที่ถ่ายทอดความรักของเด็กผู้ชายสองคนกลับต้องเปิดตัวด้วยตัวอย่างที่มีฉากหน้าเป็นเรื่องราวความรักใสๆ ใจกลางสยามของเหล่าวัยรุ่น ก่อนจะพาเราดำดิ่งสู่ความสัมพันธ์ระหว่าง โต้ง (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) และ มิว (รับบทโดย พิช วิชญ์วิสิฐ) สองหนุ่มที่เคยผูกพันกันในวัยเด็ก ที่การวนกลับมาเจอกันอีกครั้งในรอบหลายปีจะขยับให้พวกเขากลายมาเป็นคนพิเศษของกันและกัน แม้สังคมในตอนนั้นจะยังไม่ได้เปิดรับความรักในรูปแบบอื่นนอกจาก ชาย-หญิง ดังเช่นตอนนี้ จนเป็นที่มาของวลีในตำนาน “เราคบกับมิวไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้รักมิว” ที่ยังคงสร้างอิมแพ็กและจุดประเด็นในสังคมได้อย่างเหนือกาลเวลา มาจนถึงวันนี้ที่ประเทศไทยเรามีกฎหมายสมรสที่เท่าเทียมแล้ว ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับทั้งโต้งและมิวว่า ตอนนี้พวกเขาสามารถรักกันได้แล้วนะ

นอกเหนือจากการบุกเบิกเรื่องราวความรักของสองตัวละครชาย รวมไปถึงความสัมพันธ์แสนเปราะบางระหว่างสมาชิกในครอบครัวเคร่งศาสนาซึ่งสูญเสียลูกสาวคนโตไปตามที่ภาพยนตร์ตั้งใจนำเสนอ สิ่งที่จะไม่พูดถึงไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ ‘สยาม’ แหล่งรวมตัววัยรุ่นใจกลางเมืองทุกยุคทุกสมัยที่ได้ชื่อว่าเปลี่ยนแปลงใหม่ตลอดเวลา เพราะท่ามกลางกระแสธารแห่งเทรนด์ที่ไหลมาและจากไปอย่างรวดเร็วนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบได้กับเครื่องบันทึกความทรงจำชั้นดี ที่บรรจุภาพของสยามเมื่อวันวานอันเป็นทั้งฉากหลังและเสมือนตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ที่ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป เฉกเช่นเดียวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตวัยรุ่นยุคนั้น ทั้งการแต่งกายสุดจ๊าบ โทรทัศน์มือถือมือแป้นพิมพ์ ร้านรวงและบรรยากาศต่างๆ ที่ตอนนี้อาจหายไป เช่นกันกับลานน้ำพุเซนเตอร์พอยต์และโรงหนังสกาล่าซึ่งเปี่ยมด้วยเสน่ห์ของสถาปัตยกรรม ที่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงความทรงจำกับภาพของโต้งและมิวที่มานั่งด้วยกันแล้ว

Hormones วัยว้าวุ่น (2013-2015)

มาถึงซีรีส์วัยมัธยมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้อย่าง Hormones วัยว้าวุ่น ต้องขอบอกเลยว่าเป็นซีรีส์เรื่องโด่งดังเเละประสบความสำเร็จมากๆ เเจ้งเกิดดาราศิลปินในปัจจุบันมากมายไม่ว่าจะเป็น เเบงค์ ธิติ, แพรวา ณิชาภัทร, เจมส์ ธีรดนย์, ต้าเหนิง กัญญาวีร์ เเละคนอื่นๆ จนทำให้ถูกสร้างมาอย่างต่อเนื่องถึง 3 ซีซั่น โดยภายในเรื่องได้เล่าถึงตัวละครต่างๆ ในวัยมัธยมปลายที่กำลังเข้าถึงวัยรุ่นโดยใช้ชื่อของฮอร์โมนส์ผ่านการเล่าเรื่องในเเต่ละตอน ซีรีส์เรื่องนี้ได้สะท้อนสังคมในช่วงเวลานั้นมากมาย เเละเกิดการตั้งคำถามจากตัวละครว่า ‘ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน’ หรือ จะเป็นมุมมองของความหลายหลากทางเพศที่อาจจะไม่ถูกยอมรับในครอบครัว หลังจบทุกๆ ตอนของเรื่องทำให้เราเกิดประเด็นถงเถียงในสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นกับประโยคเด็ดที่ว่า ‘อยากกินสไปรท์ต้องใส่ถุง’ โดยคำพูดนี้ถูกพูดจากตัวละครเด็กผู้หญิงที่อยู่ในชุดนักเรียนที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายในห้องเรียน ทำให้ผผู้ชมชาวไทยก็ต่างเสียงแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะหลายคนแทบไม่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นจริงในห้องเรียน

ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองความคิดของเด็กวัยรุ่นไทยมีว่าอะไรมากกว่านั้นเยอะ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยการค้นหา เรียนรู้ ลองผิดลองถูก และตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความสนุก ความคะนอง ความรัก ความเกลียด หรือแม้แต่ความฝัน จนเกินกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนจะจินตนาการได้ทุกแงมุมของประเด็ดในสมัยนั้นที่ไม่กล้าเล่าเรื่องในรูปแบบนี้ ในเวลามีการประกาศว่าถ้าเด็กจะดูเรื่องนี้ถึงขั้นให้ต้องมีพ่อแม่อยู่ด้วยตลอดเวลา เเละซีรีส์เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นการถูกแบนห้ามฉายเพราะถูกร้องเรียนอย่างหนักแต่สุดท้ายสามารถฉายได้ปกติแต่ตัวซีรีส์ถูกจัดอยู่ในประเภทเรท 18+ เเต่ในอีกแง่มุมนึ่งก็ทำให้ผู้ใหญ่เข้าเด็กวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น กล้าที่จะสอนในสิ่งต่างๆ ที่ในห้องเรียนไม่เคยได้บอก

The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์ (2018 & 2020)

ท่ามกลางความหลากหลายของกระแสซีรีส์วัยรุ่นที่ถูกถ่ายทอดผ่านการดำเนินเรื่องช่วงวัยมัธยมและโรงเรียน มีซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องที่โดดเด่นขึ้นมาแบบปฎิเสธไม่ได้อย่าง The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์ ด้วยพล็อตที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ใหม่ต่อจากเค้าโครงเดิมที่เคยเป็นภาพยนตร์สั้นและหนังสือในปี 2558 ซึ่งได้จำกัดความตัวเองว่าเป็นซีรีส์แนว ‘แฟนตาซีวิทยาศาสตร์’ ทำให้ทุกคนต่างจับตามองว่าเมื่อนำมาเป็นบทซีรีส์แล้วจะถ่ายทอดออกมาเป็นอย่างไร? และผลลัพธ์ก็เหนือความคาดหมาย เมื่อ 4 ผู้กำกับอย่าง โอ ปัฎฐา ผู้กำกับมากประสบการณ์ที่ได้เคยฝากผลงานไว้อย่างเพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอนและอื่นๆ อีกมากมาย, วา วาสุเทพ กับลายเส้นการกำกับที่โดดเด่นจนได้รางวัลอย่างภาพยนตร์มะลิลา หรืออนธการ, แซนด์ ธรรมรงค์ ผู้กำกับภาพยนต์สั้นต้นฉบับ และ โดม จารุพัฒน์ ผู้กำกับและเขียนบท รวมถึงเคยมีประสบการณ์การทำละครเวทีมาก่อน เมื่อทั้ง 4 คนได้มารวมกันจึงทำให้ผลงานนี้ถูกจับตามองในหลายแง่มุมทั้งบท งานภาพ สัญญะ และทุกองค์ประกอบที่ถูกผสมอย่างลงตัว 

โรงเรียนอาจเป็นสถานที่ให้ความรู้สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับ ฤทธาวิทยาคม กลับมีเงื่อนงำและซับซ้อนไปยิ่งกว่านั้นเพราะถูกแบ่งแยกออกจากกันแบบห้องเรียนธรรมดาและ ห้องกิฟต์ แต่แล้ววันหนึ่ง แปง เด็กนักเรียนธรรมดาจากห้องเรียนท้ายสุดกลับมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในห้องเรียนกิฟต์ จนไปค้นพบความลับภายในห้องเรียนว่าเพื่อนทุกคนในห้องมี ‘ศักยภาพ’ หรือพลังวิเศษบางอย่างที่แตกต่างกันไปและต้องร่วมแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับเพื่อนร่วมห้อง พร้อมคำถามมากมายว่าทำไมผู้ใหญ่ต้องปิดบังเรื่องบางอย่างไม่ให้คนภายนอกรู้? ผ่านตัวละครที่่จิกกัดระบบสังคมโรงเรียนไทยตั้งแต่อาหารกลางวัน หอพัก สัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ให้สิทธิพิเศษเด็กกิฟต์มากกว่าเด็กนักเรียนธรรมดา เสมือนชนชั้นที่ถูกเปรียบเปรย และสถานะที่แตกต่างของการถูกเลือกปฎิบัติ

เพราะ ‘ศักยภาพ’ หรือพลังวิเศษที่เด็กกิฟต์มี ถูกปกปิดให้คนภายนอกรู้จาก ‘ผู้ใหญ่’ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามทดลองทุกทางให้เด็กที่มีพลังวิเศษในโรงเรียนพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพื่อทำให้ฤทธาวิยาคมโด่งดังและมีคนมาให้เงินมาสนับสนุนโรงเรียนมากยิ่งขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งอื่นว่าเด็กที่อยู่ภายใต้ระบบการศึกษาทุกคนจะรู้สึกอย่างไร และการดำเนินซีรีส์เรื่องนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านการประท้วงภายในโรงเรียนอย่างเงียบๆ โดยนักเรียนที่ต้องการจะทำลายระบบและกฏในโรงเรียนที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่พวกเขาต้องต่อสู้คือครูใหญ่ ที่เปรียบเสมือน ‘อำนาจ’ ที่เราอยากจะทลายไปในสังคมได้ 

Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019)

“หนูยังไม่มีความฝันอะไรเลยค่ะ การไปจากที่นี่นับเป็นความฝันได้ไหมคะ” ประโยคบาดใจที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์เพราะกระทบใจใครหลายคนนั้นออกมาจากปากของ ซู (รับบทโดย เจนนิษฐ์) จาก Where We Belong ภาพยนตร์แนววัยรุ่นสะท้อนสังคมที่ไม่ได้อุดมไปด้วยแก๊งนักเรียนหลากหลายคาแรกเตอร์สีสันจัดจ้านในเมืองกรุง แต่พาเราไปสู่จังหวัดจันทบุรีเพื่อทำความรู้จักกับสองเด็กสาว ซู และ เบล (รับบทโดย มิวสิค แพรวา) ที่เพิ่งจบมัธยมมาหมาดๆ หลังจากอยู่รั้วในโรงเรียนมาทั้งชีวิต ระบบการศึกษาก็ผลักให้พวกเธอต้องหาเส้นทางของตน ซึ่งเส้นทางที่ซูเลือกไปนั้น คือการไปจากที่แห่งนี้ ที่ที่เธออยู่มาทั้งชีวิต แต่ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นที่ของเธอเอง

เปิดเรื่องมาด้วยการจิกกัดการศึกษาที่ปล่อยให้เหล่านักเรียนต้องลอยเคว้งคว้างระหว่างการมองหาเส้นทางในอนาคต ก่อนจะลงลึกไปถึงความเหตุผลที่ว่า อะไรที่ทำให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่ควรคู่จะอยู่ในบ้านเกิด ทั้งอุดมการณ์ของคนรุ่นเก่าที่มากดทับเด็กรุ่นใหม่ ทั้งสภาพแวดล้อมในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตจนชวนให้หลายคนในเจเนอเรชั่นนี้เริ่มมีความคิดที่จะย้ายประเทศ นับเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความเจ็บปวดที่หลายคนต้องเคยประสบเมื่อครั้งเข้าสู่วัยหัวเลี้ยวหัวต่อได้อย่างคมกริบ

Gelboys สถานะกั๊กใจ (2025)

เพราะซีรีส์วัยรุ่นคือตัวแทนของคนยุคใหม่ที่อยากจะส่งเสียงหรือสารบางอย่างสะท้อนตอบ ซึ่ง บอส นฤเบศ กูโน ก็ได้ตอบโจทย์เสียงเหล่านั้นในผลงาน ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ มาแล้วและได้รับกระแสตอบรับการันตีฝีมือด้วยรางวัลอย่างล้นหลาม และต่อจากนั้นไม่นานก็ได้มีผลงานที่เชือดเฉือนความรู้สึกคนดูอีกครั้งกับ ‘วิมานหนาม’ และกลับไปค้นหาตัวตนตัวเองในมุมมองใหม่ๆ อีกครั้งเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนเขาจะกลับมาพร้อมกับบทที่สดใหม่อย่าง GELBOYS สถานะกั๊กใจ ผลงานล่าสุดที่มีรสชาตแปลกใหม่แต่ยังคงลายเซ็นเดิมไว้ 

ซึ่งหัวใจหลักใหญ่ของเรื่องที่เป็นเหมือนพงศาวดารสะท้อนยุคสมัยของเด็ก Gen Z ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของวัยรุ่นยุคนี้ด้วยการถ่ายทำซีรีส์ผ่าน ‘โทรศัพท์’ ทั้งหมด เพราะในสมัยใหม่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือทำ ‘ทุกอย่าง’ ได้ จึงทำให้ ตั้ง ตะวันวาด ผู้กำกับภาพ หยิบไอเดียนี้ขึ้นมาออกแบบงานภาพอย่างมีนัยยะ  ท่ามกลางบรรยากาศหรือสถานที่สุดฮิตตลอดกาลอย่างสยาม รวมถึงวัฒนธรรม แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ที่หากอีก 10 ปีเราย้อนกลับมามองได้ก็คงจะรู้สึกคิดถึงสิ่งเหล่านี้จริงๆ และด้วยเนื้อหาที่เข้าถึงง่ายทำให้ทุกคนยิ่งอยากลงไปค้นหาคำตอบของการเกิดวัฒนธรรมและกระแสที่เคยเกิดขึ้นเหล่านั้นผ่านการถ่ายทอดด้วยเรื่องราวที่เล่าจากล้องโทรศัพท์มือถือจนชวนให้คนรู้สึกอินตามได้อย่างง่ายดาย

“เรียกอะไรหันอ่ะ? เจลบอยหันป่ะ?” ความโดดเด่นของตัวละครคือการที่เนื้อเรื่องถูกดำเนินไปด้วยการไปทำเล็บเจล และลายเล็บที่่เปิดเผยออกมาตั้งแต่ตัวอย่างซีรีส์ก็มีความน่าสนใจด้วยสีสันและมองเห็นตัวตนของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น แต่นอกจากการทำเล็บแล้วอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจและชวนให้คนขบคิดมากขึ้นคือเด็กในยุคสมัยนี้กล้าที่จะเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต และกฏเกณฑ์ภายในโรงเรียนต่างๆ ก็ดูจะมีความอิสระมากกว่าเดิม นอกจากที่ซีรีส์จะเป็นตัวแทนสะท้อนความเป็น Gen Z และเหมือนกับว่าจะทำให้วัยรุ่นรู้สึกมี ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจและอ่านความคิดตัวเองออกแล้ว อีกแง่มุมหนึ่งซีรีส์ยังเป็นตัวกลางที่่สะท้อนให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกมากกว่าเดิม

TEXT: Rathatip Khamnurak, Tikumporn Chaiyakote, Thanayut Wanametin

Latest Posts

Don't Miss