ท่ามกลางกระแสซีรี่ส์ชายรักชายที่มีความโด่งดังมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งคอมมูนิตี้ที่เติบโตไม่แพ้กันก็คือกลุ่มซีรี่ส์หญิงรักหญิงที่มีคนพูดถึงอยู่เรื่อยๆ ทั้งในเชิงเนื้อหาซีรี่ส์ที่น่าสนใจหรือเคมีของนักแสดงนำ ส่วนยอดเอนเกจเมนต์และการพูดถึงต่างๆ ก็สูงขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่กับซีรี่สืไทยเท่านั้น แต่ซีรี่ส์ต่างชาติเองก็มีการนำเสนอภาพคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงเพิ่มขึ้นด้วย แล้วเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้คืออะไรกัน? แอลชวนคุณมาหาคำตอบกันในคอลัมน์ ELLE 5 Things กับ 5 เรื่องราวสะท้อนปรากฏการณ์ความฮิตของซีรี่ส์หญิงรักหญิงในยุคปี 2024
อ่านเพิ่มเติม: มองภาพสะท้อน ‘PRIDE MONTH’ เดือนแห่งความภาคภูมิใจในยุคแห่งความเท่าเทียมของปี 2024
What is Yuri & Sapphic?
ต้องย้อนกลับไปว่าก่อนที่คำว่า ‘ซีรี่ส์แซฟฟิก’ ที่แปลว่า ซีรี่ส์หญิงรักหญิง จะเป็นที่รู้จักดังในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้คนจะคุ้นเคยกับคำว่า Yuri (ยูริ) มากกว่า เพราะคำว่ายูริคือประเภทสื่อหญิงรักหญิงในญี่ปุ่น ส่วนคำว่า Yaoi (ยาโออิ-ยาโอย) ก็จะสื่อถึงผลงานแนวชายรักชายที่ในไทยเรียกกันอย่างง่ายว่า ‘วาย’ ดังนั้นซีรี่ส์และนิยายประเภทนี้ก็จะถูกอธิบายว่าเป็นซีรี่ส์ยูริ-วายเป็นหลัก และกระแสความนิยมที่มีต่อสื่อเหล่านี้ในญี่ปุ่นก็ส่งต่อมาในไทยจนกลายเป็นคำเรียกนี้มาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็อยากจะให้เรียกด้วยคำว่า ‘แซฟฟิก’ มากกว่า (ในขณะที่ชายรักชายจะใช้คำว่า Achillean – เอคีเลียน) เพราะคำว่าแซฟฟิกคือร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมทุกความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิง ไม่ว่าจะเป็นเลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ ไบเซ็กชวล แพนเซ็กชวล นอนไบนารี่ อเซ็กชวล ฯลฯ พวกเขาต่างก็สามารถนิยามความสัมพันธ์หญิง-หญิงได้ด้วยคำนี้นั่นเอง
Sapphic on Screen
การนำเสนอภาพหญิงรักหญิงในสื่อไทยในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถ้าหากย้อนไปในอดีตก็จะเห็นว่าในหนังหรือละครเรื่องต่างๆ ก็จะมีการหยิบยกเรื่องราวความสัมพันธ์ของคู่รักเลสเบี้ยนมาบอกเล่าอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Yes or No อยากรัก ก็รักเลย ที่เป็นกระแสจนมีภาคต่อในสองปีให้หลัง หรืออาจจะเป็นคู่ก้อย-ดาวในซีรี่ส์วัยรุ่นสุดฮิตอย่าง Hormones ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เมื่อหลายปีก่อน ก็ล้วนทำให้สังคมไทยเห็นภาพของคอมมูนิตี้นี้บนจอหนังกันมากขึ้น
ในวงการเพลงไทยเองก็มีศิลปินหลายคนที่หยิบยกความสัมพันธ์ของเหล่าแซฟฟิกมานำเสนอผ่านมิวสิกวิดีโอ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีวง The Parkinson ที่พวกเขาปล่อยเอ็มวีเพลง เพื่อนรัก (Dear Friend) โดยเล่าเรื่องราวของเพื่อนสาวสองคนที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ตัดสินใจจะผ่าตัดแปลงเพศ แต่สุดท้ายแล้วเธอกลับตกหลุมรักเพื่อนสนิทตัวเองที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความรักของแซฟฟิกรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยนำเสนอบนสื่อไทยมากนัก แต่พวกเขากลับถ่ายทอดออกมาอย่างสวยงามและน่าจดจำ
Thai Sapphic Series
แม้ว่าการนำเสนอภาพหญิงรักหญิงในละครหรือหนังไทยจะมีมานานแล้ว แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีผลงานหลายเรื่องที่นำเสนอเนื้อเรื่องที่มีปัญหา อาทิ การควบคุมจนเกินเหตุ (manipulate) การเข้าหาคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (grooming) หรือมักจะนำเสนอความสัมพันธ์ของคู่รักหญิง-หญิงในมุมมองของการเป็นชู้อย่างจงใจ แต่หลังจากที่ผู้คนเริ่มตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีปัญหา ซีรี่ส์เควียร์ในช่วงปีที่ผ่านมาจึงสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่เหมาะสมหรือทำให้คนตระหนักรู้มากขึ้น อย่างเช่นซีรี่ส์เรื่อง หอมกลิ่นความรัก ก็นำเสนอเรื่องราวคู่รัก ‘เม้ย-เอื้องผึ้ง’ ที่ถูกสังคมชายเป็นใหญ่กดทับและเอื้องผึ้งถูกบังคับให้แต่งงานผู้ชาย ทั้งๆ ที่ใจเธอต้องการจะคบหากับเม้ย รวมทั้งการนำเสนอเรื่องราวโศกนาฏกรรมของ ‘ถม-ช้อย’ คู่รักหญิงหญิงที่คบหากันอย่างเปิดเผยแต่อีกฝ่ายตายจากไปด้วยการถูกลอบยิง ซึ่งอ้างอิงมาจากเรื่องจริงเมื่อปี 2471 อีกด้วย
ส่วนซีรี่ส์เรื่อง 23.5 องศาที่โลกเอียง ซึ่งนำแสดงโดย มิ้ลค์ พรรษา – เลิฟ ภัทรานิษฐ์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นำเสนอรักในวัยเรียนในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อใจในทุกมิติ ทั้งการนำเสนอภาพคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างครอบคลุมในแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนักในสื่อ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวการค้นหาตัวตนและการเติบโตแบบ Coming of Age ที่ทัชใจคนดู หรือแม้แต่ความรักของแซฟฟิกของทรานส์เจนเดอร์ก็ด้วย จนอาจเรียกได้ว่าซีรี่ส์เรื่องนี้สามารถเป็นมาตรฐานที่ดีต่อไปให้กับแซฟฟิกเรื่องอื่นๆ ในอนาคตเช่นกัน
‘GL Drama’ Phenomenon
หากจะบอกว่าซีรี่ส์หญิงรักหญิงกลายเป็นหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญของโลกป๊อปคัลเจอร์ไทยก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากที่ซีรี่ส์เรื่อง ทฤษฎีสีชมพู เรื่องราวความรักระหว่าง ‘คุณสาม-ม่อน’ ปล่อยออกมาให้แฟนๆ ได้ชมกันในช่วงปลายปี 2022 ชื่อของสองนักแสดงนำอย่าง ฟรีน สโรชาและเบ็คกี้ รีเบคก้าก็เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างล้นหลาม ซีรี่ส์เองก็โด่งดังจนเป็นที่รู้จักไปในหมู่แฟนๆ ต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ในขณะนี้ทั้งสองคนก็กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในระดับสากลอีกด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านักแสดงและซีรี่ส์แซฟฟิกไทยก็มีคุณภาพมากพอสามารถเปิดประตูบานใหม่หรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคอมมูนิตี้นี้ได้นั่นเอง
จนมาถึงปี 2024 นี้ก็ต้องบอกว่าซีรี่ส์แซฟฟิกกลายเป็นเมนสตรีมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเร็วๆ นี้ก็กำลังจะมีผลงานเรื่องใหม่ของสองสาวฟรีน-เบคกี้กับเรื่อง ปิ่นภักดิ์ ที่เล่าเรื่องราวความรักในเซตติ้งพีเรียด ทั้งยังมีซีรี่ส์ Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก ที่นำแสดงโดย น้ำตาล ทิพนารี และฟิล์ม รชานันท์ จากค่าย GMM TV ที่กำลังอยู่ในช่วงทำโปรดักชั่นต่างๆ ในขณะที่ทางช่องสามเองก็เพิ่งเปิดตัวซีรี่ส์หญิงรักหญิงครั้งแรกอย่างเรื่อง ใจซ่อนรัก ที่นำแสดงโดยหลิงหลิง คองและออม กรณ์นภัส เช่นเดียวกัน
The Purging of Sapphic TV
แม้กระแสแซฟฟิกไทยดูจะไปได้สวยทั้งในระดับเอเชียและระดับโกลบอล แต่กระแสซีรี่ส์ฝั่งตะวันตกกลับสวนทางเป็นอย่างมาก เพราะซีรี่ส์หญิงรักหญิงหลายต่อหลายเรื่องไม่มีวี่แววจะมีภาคต่อหรือโดนแคนเซิลกันเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่ผลงานมีเสียงตอบรับหรือคำวิจารณ์ที่ดีด้วยซ้ำไป ซึ่งเมื่อพวกเขาโดนแคนเซิล ก็มักจะมีเหตุผลว่ายอดผู้ชมไม่มากพอและใช้งบประมาณมากเกินไปจนผลลัพธ์อาจไม่คุ้มที่จะทำต่อ จนสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วโลกของเรายอมรับคอมมูนิตี้แซฟฟิกมากแค่ไหน และในอนาคตจะมีผลงานน้ำดีที่นำเสนอเรื่องราวของคอมมูนิตี้นี้ให้เราได้ชมกันอีกหรือเปล่า ถ้าหากเหล่าผู้จัดทั้งหลายมองว่ามันไม่คุ้มที่จะลงทุนทำต่อเช่นนี้