เมื่อเวลาเดินทางมาถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี เดือนนี้จะกลายเป็นเดือนสำคัญของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจที่พวกเขาสามารถเฉลิมฉลองให้กับความเป็นตัวของตัวเอง สิทธิเสรีภาพของชาวเควียร์ รวมทั้งระลึกถึงเหล่าผู้บุกเบิกที่ถางทางให้ชาว LGBTQIAN+ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งสำหรับประเทศไทยในปี 2024 นี้ก็ยิ่งน่ายินดี เพราะตอนนี้ไทยเพิ่งผ่านร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียม โดยนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สำคัญของบ้านเราเลยก็ว่าได้ แอลจึงอยากจะชวนคุณไปย้อนรอยที่มาของเดือนไพรด์ พร้อมทั้งสรุปเหตุการณ์สำคัญอันสะท้อนให้เห็นว่าโลกของเราและสังคมไทยในช่วงปีที่ผ่านมานี้โอบรับความเท่าเทียมและความหลากหลายมากเพียงใดผ่าน 5 เรื่องราวน่ารู้ของ Pride Month ต่อไปนี้
From Stonewall to Pride Month
คำว่า ‘Pride Month’ อาจไม่ใช่คำใหม่สำหรับสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว เพราะในขณะนี้ผู้คนมากมายเข้าใจว่าเดือน Pride Month ที่เกิดขึ้นในทุกๆ เดือนมิถุนายนทุกปีนั้นเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมและรำลึกถึงความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานสเจนเดอร์ เควียร์ และเพศอื่นๆ อีกมากมายในชุมชนนี้ ซึ่งในประเทศไทยก็มีการจัดงานไพรด์ในทุกๆ ปีด้วย
โดยการเฉลิมฉลองนี้ก็มีมาตั้งแต่หลังจากการจบลงของการจลาจลที่สโตนวอลล์เมื่อปี 1969 ที่ชาวเกย์ในย่านนั้นรวมตัวประท้วงและต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจากตำรวจที่คุกคามพวกเขา จนสุดท้ายมีการสูญเสียมากมาย แต่นั่นก็นำพามาสู่ความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา จนในปัจจุบันงาน Pride Month ก็กลายเป็นธรรมเนียมที่กลุ่ม LGBTQIAN+ ทำเพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้นมาโดยตลอด และในที่สุดการจัดไพรด์พาเหรดก็กลายเป็นวัฒนธรรมของชาวเควียร์ทั่วโลก
Rainbow Flag for Pride Month
ธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญที่แสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นงานดีไซน์ฝีมือของ Gilbert Baker ที่เขาสร้างธงเพื่อใช้ในขบวนไพรด์ของนักการเมืองเกย์ที่เคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่าง Harvey Milk เมื่อปี 1978 โดยได้แรงบันดาลใจจากสายรุ้งที่เป็นสิ่งสวยงามซึ่งอยู่ในธรรมชาติ และด้วยความที่สายรุ้งมีสีทุกสเปกตรัม มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ อายุ และเพศในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
ในอดีตธงสีรุ้งมีทั้งหมด 8 สี 8 ความหมาย นั่นก็คือ สีชมพูฮอตพิ้งก์ (เพศ), สีแดง (ชีวิต), สีส้ม (การรักษา), สีเหลือง (แสงแดด), สีเขียว (ธรรมชาติ), สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ (ศิลปะ), สีครามน้ำเงิน (ความสามัคคี) และสีม่วง (จิตวิญญาณ) แต่ในอดีต สีชมพูเข้มฮอตพิ้งก์นั้นหาได้ยาก พวกเขาจึงตัดออกในภายหลัง และผนวกรวมฟ้าเทอร์ควอยซ์เข้ากับสีคราม จึงเหลือเพียงแค่ 6 สีเท่านั้น จนในที่สุดธงสีสันสดใสนี้ก็ถูกใช้เฉลิมฉลองในขบวนไพรด์ครั้งแรกที่วันแห่งเสรีภาพของชาวเกย์ในซานฟรานซิสโกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนปี 1978 และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนทั่วไปรู้จักมาถึงปัจจุบัน
แต่ในขณะนี้ที่คนเราเรียนรู้เรื่องเพศหลากหลายมากยิ่งขึ้น สีในธงก็มีการเพิ่มเติมเข้ามาหลายสี ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำตาลสีดำที่หมายถึงกลุ่มคนดำที่เป็นเควียร์ สีชมพู เบบี้บลู และขาวก็สื่อถึงกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ และยังมีธงสีอื่นๆ ที่สื่อไปถึงกลุ่มคน Asexual, Aromantic, Non Binary, Pansexual, Intersex และอีกมากมายในคอมมูนิตี้
Gender Fluid Fashion
ถ้าหากย้อนไปในอดีต การแต่งกายข้ามเพศหรือการแต่งตัวที่มีความลื่นไหลทางเพศเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากสังคม แม้กระทั่งสีฟ้า-สีชมพูก็ถูกแบ่งแยกไว้สำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ในยุคนี้การแต่งตัวได้กลายเป็นวิธีที่แสดงออกถึงตัวตนอันเป็นอิสระของแต่ละคนไปแล้ว ถ้าหากผู้หญิงอยากจะแต่งตัวแบบผู้ชายก็ทำได้ จะใส่เสื้อผ้าเผยให้เห็นผิวหนังบ้างก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ถ้าผู้ชายอยากจะใส่กระโปรง ใส่สีชมพูหรือสีพาสเทลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือแม้แต่การแต่งแดร็กก็เป็นทั้งศิลปะแขนงหนึ่งและยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สะท้อนตัวตนของคนข้ามเพศเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จัก แดร็ก ศิลปะบนเรือนร่างกับการแสดงออกถึงตัวตนที่ไร้ขอบเขต
แน่นอนว่าโลกแฟชั่นที่เป็นพื้นที่อิสระในการแสดงออกย่อมตระหนักรู้ในข้อนี้มาโดยตลอด เราอาจจะเห็นดีไซเนอร์หรือคนดังหลายคนทลายกรอบจำกัดเรื่องเพศมาตั้งแต่ยุคแฟชั่นสุดคลาสสิกเมื่อ Yves Saint Laurent ทำสูท Le Smoking ให้กับเหล่าสุภาพสตรีในยุคที่ผู้หญิงใส่กางเกงไม่ได้ หรือศิลปินระดับตำนาน David Bowie ก็เป็นผู้บุกเบิกเรื่องแฟชั่นแบบ Androgynous ตลอดจนยุคของ Alessandro Michele ก็ทำเสื้อผ้าผู้ชายของ Gucci ให้มีกลิ่นอายความเฟมินีน จนถึงยุคนี้ที่ไม่ว่าเราจะมองไปทางไหน รันเวย์ของแบรนด์ใดๆ ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสรเสรีที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร คุณก็แต่งกายได้ตามใจอยาก
อ่านเพิ่มเติม: MÅNESKIN วงแกลมร็อกไฟแรงจากอิตาลีที่กล้าแหวกทุกขนบของดนตรี แฟชั่น และเรื่องเพศ
Thai Queer Series
เราอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ผลิตซีรี่ส์เกี่ยวกับ LGBTQIAN+ มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในช่วงแรกเริ่มก็อาจมีบางเรื่องที่เนื้อหาของซีรี่ส์ค่อนข้างมีปัญหา (Problematic) ทั้งในเชิงการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรือตัวละครอาจมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อคนตระหนักรู้กับปัญหาต่างๆ ซีรี่ส์เควียร์ในไทยก็ค่อนข้างพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา เราอาจเห็นการนำเสนอภาพคอมมูนิตี้คนหลากหลายทางเพศได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราวความรักของคนรักเพศเดียวกันในซีรี่ส์พีเรียดเรื่อง หอมกลิ่นความรัก ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ทั้งชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือตัวละครคนข้ามเพศในยุค 1920s, เห็นตัวละคร Asexual (คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ) ในเรื่อง วันดีวิทยา หรือซีรี่ส์แซฟฟิกที่เป็นกระแสสุดๆ ในปีนี้อย่างเรื่อง 23.5 องศาที่โลกเอียง ก็มีคู่รักที่เป็น Transwomen อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: รวมสุดยอด 10 ซีรี่ส์และหนัง QUEER น้ำดีที่สร้างปรากฏการณ์ความฮิตประจำปี 2023
Marriage Equality in Thailand
หลังจากที่มีการรณรงค์เรื่องนี้มาหลายต่อหลายปี ตอนนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไฟเขียวให้กับสมรสเท่าเทียม โดยการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกัน สามารถสร้างครอบครัว ใช้สิทธิการลดหย่อนภาษี ตลอดจนการเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลเฉกเช่นเดียวกันกับคู่รักชายหญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเราเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ และก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเช่นกัน
ทำความรู้จักกับสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยได้ที่: สรุป 5 ข้อสำคัญ ‘สมรสเท่าเทียม’ กฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของ LGBTQIA+ ต่อไปในอนาคต
Photo: pexels, imaxtree