หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็น people pleasers ใครขออะไรทำให้ก่อน เรื่องของตัวเองไว้ทีหลัง สุดท้ายในชีวิตเราเอง ไหงตัวเรากลายเป็นคนที่ถูกมองเห็น ถูกรับฟัง ถูกใส่ใจเป็นอันดับโหล่ ที่ร้ายกว่านั้น บทจะลุกมารักตัวเองก็ self-love ด้วยการช้อปปิ้ง กินแหลก ฉีดฟิลเลอร์ฉ่ำ ฯลฯ
ELLE พาไปสำรวจกระบวนการสู่การรักตัวเองของสามสาว Billie Eilish, Jisoo และ Rosé เพื่อให้เห็นว่า การรักตัวเองแบบลึกสุดใจ พวกเธอต้องทำอะไรบ้าง เอ็กซ์ตรีมแค่ไหน มีอะไรบ้างที่ต้องจ่าย วิธีรักตัวเองของพวกเธออาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด…
1. รับฟังตัวเอง
พยายามมีสติรับรู้สภาวะทางกายและจิตใจว่าต้องการอะไร คิดและรู้สึกอย่างไรให้บ่อยที่สุด เพราะหลายๆ ครั้งเราอาจคาดคั้นเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป หรือใช้ชีวิตไหลแบบออโต้ หรือทำในสิ่งที่เราคิดว่า ‘ต้อง’ ทำอยู่ร่ำไป ซึ่งมักนำไปสู่การพังทลายทางกายหรือใจ เวลาที่เราถามตัวเองว่า “นี่ฉันทำอะไรอยู่” นั่นละ คือสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังใจร้าย หรือไม่รับฟังความต้องการของตัวเองอยู่หรือเปล่า ประเมินสภาพร่างกายและจิตใจ แล้วปรับไปตามสภาพหน้างานของตัวเรา ไม่ต้องตึงจัดหรือผ่อนเกินไป
Case Study: Jisoo กินรามยอนมื้อละกี่ถ้วย?
จีซูเล่าว่าชอบกินรามยอนมาก ปกติจะกินที 2 ถ้วย ซึ่งถือว่าปกติมากสำหรับคนที่ต้องคอยยับยั้งชั่งใจอยู่เสมอไม่ให้กินมากเกินไป แต่บางวันที่มีถ่ายงานมาราธอนจนเลิกกองเอาตอนรุ่งเช้า จีซูโหยกินรามยอนมาก แต่คอยยั้งใจไว้ไม่ยอมกิน ทันใด จีซูที่รู้สึกเหนื่อยล้าและต้องการ comfort food ก็รู้สึกว่า “ทำไมฉันต้องใช้ชีวิตแบบนี้ด้วยนะ ทำไปเพื่ออะไร ทำไมต้องหักห้ามใจตัวเองอยู่นั่น” พอจับความต้องการของตัวเองได้ จีซูบอกว่า เธอจัดการต้มรามยอนกินไปเลย 3 ถ้วย…
2. เลิกตัดสินตัวเอง
ผลการศึกษาของ Dr. Fred Luskin จาก Stanford University พบว่า โดยเฉลี่ยคนเราคิดเรื่องต่างๆ 60,000 เรื่องต่อวัน ซึ่ง75% หรือ 45,000 เรื่องคือความคิดในแง่ลบ และ 90% หรือ 54,000 เรื่องคือการคิดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ
เมื่อรู้จักธรรมชาติของสมองของเราแล้วว่าชอบคิดลบซ้ำซาก การพยายามไม่คิดลบซ้ำซากคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่เราจะทำได้ เพราะเป็นธรรมชาติของสมองอีกเช่นกันที่ชอบแทงสวน เช่น ‘ห้ามนึกถึงสีแดง’ สิ่งแรกที่เรานึกถึงก็คือ…สีแดง
การรับมือกับพฤติกรรมคิดลบต่อตัวเองซ้ำซากที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ‘การเขียนบันทึก’ (Journaling) ลองหยิบยกเหตุการณ์ที่ทำให้วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมา 1 เรื่อง แม้ในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แล้วเขียนออกมาว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้เราก่นด่าตัวเอง ในตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรบ้าง ระบายออกมาให้หมด ไม่ต้องกั๊ก และซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
เมื่อเขียนบันทึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็นแบบแผนของตัวเองว่ามักจะคิดและรู้สึกแบบใดซ้ำๆ ครั้งต่อไปหากมีเรื่องที่จะมาสะกิดต่อมปรี๊ดแตก แทนที่จะปากไวชิงตำหนิตัวเอง เราจะเริ่มรู้เท่าทันตัวเองเร็วขึ้นว่า มันเป็นแค่ความคิด/ความรู้สึกที่เกิดขึ้นชั่วครู่แล้วก็จะหายไป มันไม่ใช่ทั้งหมดที่ฉันจะเป็นได้ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของฉันเท่านั้น
Case Study: Billie Eilish กับการฝึกโอบรับด้านมืดของตัวเอง
บิลลีกล่าวว่า เธอเต็มไปด้วยความเกลียดชังตัวเองตอนอายุน้อยกว่านี้ ในช่วงวัยที่เธอสับสนว่าตัวเองเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้ชอบตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ จะให้เป็นแบบคนอื่นก็ไม่ชอบอีก แถมเจอความดังระดับปรอทแตกทับถมเข้ามาอีก บิลลี่จึงสติแตกไปเลยช่วงหนึ่งต่อหน้าคนทั้งโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่ายนัก
บิลลี่ฝึกโอบรับด้านมืดของตัวเอง (Shadow Work) ซึ่งเป็นทฤษฎีของ Carl Jung ปรมาจารย์ด้านจิตวิเคราะห์ที่เสนอว่า ‘จงเป็นคนที่เรากลัวจะเป็นที่สุด’ หรือก็คือให้โอบรับสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเอง ตัวตนที่เราซุกซ่อนไว้ลึกที่สุดในใจ ด้านที่เราไม่อยากให้คนอื่นเห็น รวมไปถึงลักษณะนิสัยที่เราเกลียดในคนอื่น เพราะสิ่งเหล่านั้นคือศักยภาพ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำลายเรา “ฉันเกลียดตัวเองมานานมากๆ แต่พอเลิกวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไปเสียทุกเรื่อง และพยายามยอมรับมันให้มากขึ้น ซึ่งฉันยังทำได้ไม่ดีนัก แต่รวมๆ แล้วฉันรักตัวเองขึ้นเยอะมากๆ ตอนนี้แค่ได้อยู่กับตัวเองก็มีความสุขแล้ว”
3. ขีดขอบเขตให้ตัวเอง
การทำตัวเป็นร้านสะดวกซื้อที่เปิดรับทุกคำขอจากทุกคนได้ทุกเมื่อ ไม่ได้ทำให้คุณเป็นที่รัก แต่กลับเป็นของตาย(เหมือนร้านค้าที่สะดวกจะซื้อเมื่อไรก็แวะมา) และพฤติกรรมสุดฝืนที่ปากบอกว่า ‘ได้’ แต่ใจบอกว่า ‘ไม่’ หรือกลับกันก็จะเปลี่ยนให้คุณกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมตู้มต้ามใส่ตัวเองได้สักวัน แม้แต่การทุ่มเททำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ต่อให้เป็นงานที่รัก เกมที่ชอบ สัตว์เลี้ยงที่โปรดปราน งานอดิเรกที่หลงใหล ฯลฯ โดยลืมไปว่า ด้านอื่นๆ ในชีวิตก็เรียกร้องความใส่ใจจากเราเช่นกัน
‘การขีดขอบเขต’ (Set Boundaries) ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อน คนรัก ฯลฯ คือสกิลที่ต้องฝึกฝนเพื่อช่วยให้ ‘ฉัน’ ในตัวเราได้มีพื้นที่และเวลาชาร์จแบตให้ตัวเองบ้าง ซึ่งไม่ใช่การหนีหรือทำตัวติสต์แตก แต่จะยิ่งช่วยให้เราออกไปเชื่อมโยงกับผู้คนและกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้นต่างหาก
Case Study: Rosé คนบ้างานที่เพิ่งหัดกั้นรั้วให้ตัวเอง
โรเซ่กล่าวว่าเธอเป็นพวกบ้างาน (workaholic) มีช่วงหนึ่งที่เธอไม่มีวันหยุดพักเลยตลอด 6 เดือน เพราะไม่รู้ว่าจะปิดสวิตช์โหมดทำงานของตัวเองอย่างไร กระทั่งวันหนึ่งโรเซ่ถามทุกคนว่า ถ้าเธอหยุดพักพรุ่งนี้สักวัน อาชีพการงานของเธอจะพังครืนหรือเปล่า แล้วตัดสินใจที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า “พรุ่งนี้ขอให้ทุกคนอย่าติดต่อ อย่าส่งข้อความมาหา 1 วัน เดี๋ยววันจันทร์ ฉันจะกลับไปทำงาน”
การตัดสินใจครั้งนั้นนำไปสู่ประสบการณ์ที่โรเซ่รู้สึกเหมือนฝันไป เมื่อเสียงในหัวที่ดังอยู่เสมอกลับเงียบเสียงลงเป็นครั้งแรก เธอได้สัมผัสความเงียบสงบในใจอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต ได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ และปล่อยให้ตัวเองได้พรั่งพรูความรู้สึกทั้งมวลที่กักเก็บไว้ภายในมานาน โดยไม่วิตกกังวลว่างานจะเสีย กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำที่ควบคุมชีวิตตนเองได้ “มันว้าวมาก เป็นการรีเซตตัวเองที่ดีมากๆ” โรเซ่ aka. คนรักตัวเอง 2025 กล่าว
Text: Suphakdipa Poolsap