กระโปรงเทนนิส กางเกงโยคะ หมวกกอล์ฟ แต่ละชิ้นแต่ละอันที่พะยี่ห้อ Floétique ตะโกนบอกว่านี่คือแบรนด์ athleisure/activewear แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นหากว่าคุณเป็นผู้บริโภคที่ชอบอ่านฉลาก เพราะตราสัญลักษณ์ Fair Trade™ ที่อยู่บนป้าย Floétique คือข่าวใหญ่ข่าวดีว่านี่ละคือแบรนด์แฟชั่นไทยหนึ่งเดียวที่ได้ตราสัญลักษณ์ระดับโลก



ลึกลงไปในเส้นใยแฝงไปด้วยเรื่องราวของวัสดุที่ไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นแหประมง หรือขยะทะเลที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการให้เป็น Flocéan™ ผ้ารีไซเคิลจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับวัสดุตัดเย็บอีกหลายๆ อย่างของ Floétique บ้างก็มาจากไต้หวัน ญี่ปุ่น หรืออาจเป็นค็อตตอนรีไซเคิลในประเทศไทย ในบางวาระโอกาสคุณอาจเจอไอเท็ม ‘Random act of Kindness’ ซึ่ง 10% ของยอดขายจะแปรเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียบิดามารดาของมูลนิธิเด็กโสสะ

ใช่ว่าจะหาได้ง่ายที่แบรนด์แฟชั่น… ไม่ว่าจากประเทศไหนจะบียอนด์ความยั่งยืนไปอีกหลายขั้น เมื่อทำให้ทั้งกระบวนการยั่งยืนทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามเสาหลักที่หากเสาใดพร่องไปเสาอื่นก็คงอยู่ได้ยาก ธุรกิจจะรุ่งเรืองในโลกที่สิ่งแวดล้อมกำลังล่มสลายได้อย่างไร คนที่ทำเสื้อผ้าคุณภาพสูงให้คนอื่นใส่ แต่คุณภาพชีวิตของตนเองกลับต่ำเตี้ย จะสมเหตุสมผลไปได้อย่างไร ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า ‘ควรให้โปรดักต์ขายตัวมันเองมากกว่าจะขายสตอรี่’ อาจใช้ไม่ได้กับ Floétique ของบี-เปรมฤดี โลทารักษ์พงศ์ นักการทูตที่เติบโตมาในกิจการโรงงานตัดเย็บเก่าแก่ของครอบครัวที่ลุกขึ้นมาทำแบรนด์แฟชั่นตามแพสชั่น ซึ่งวางที่ทางให้ Floétique ไม่ใช่ emotional product ที่ขายอารมณ์ความรู้สึก แต่เป็น conscience product ที่กระตุ้นจิตสำนึกต่อสังคมของผู้บริโภค

ทว่าต้นทุนของความยั่งยืนคืออุปสรรคสำคัญ เพราะโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน Fair Trade Certified หมายความว่าแรงงานจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าโรงงานทั่วไป 20% ส่วนผ้ายั่งยืนมีราคาแพงกว่าผ้าทั่วไป 2-4 เท่า เมื่อทั้งยากและแพงจึงเป็นข้อจำกัดที่แบรนด์จำนวนมากไม่สามารถทำแฟชั่นยั่งยืนได้ครอบคลุมทั้งกระบวนการ

หลายปีมานี้ ‘sustainability’ กลายเป็นคำเก๋สุดเซ็กซี่ที่ธุรกิจต่างๆ ต้องมี แต่ลงท้ายหลายกรณีกลับกลายเป็นการฟอกเขียว “สเต็ปแรกอาจจะต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือความเขียวก่อนจะก้าวไปเรื่องการฟอกเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูยาก ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละแบรนด์” บีบอก “อย่างหนึ่งที่พอช่วยผู้บริโภคได้ก็คือการอ่านฉลาก อย่างโปรดักต์ทุกชิ้นของ Floétique จะมีตรา Fair Trade™”


อาชีพนักการทูตทำให้บีได้พานพบแบรนด์ที่ทำเรื่องยั่งยืนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป จนเธอตกตะกอนได้ว่าอุดมคติสูงสุดของการเป็นแบรนด์ยั่งยืนสำหรับเธอเป็นเรื่องของวัสดุคงทน มีคุณภาพสูง มีอายุการใช้งานยาวนานอันเป็นแกนของความยั่งยืน “เราอยากทำให้โปรดักต์ Made in Thailand ไม่จำเป็นต้องใส่ความเป็นไทย เช่น ลวดลายไทย แต่เป็นที่รับรู้ว่าเป็นของดีมีคุณภาพสูง เหมือนกับที่คนทั่วโลกเชื่อมั่นเมื่อเห็นคำว่า Made in Italy, Made in France หรือ Made in Japan ซึ่งโรงงานตัดเย็บของครอบครัวเราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 40 ปี เรามี know-how เรื่องการตัดเย็บที่มีคุณภาพ ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานและค่าตอบแทนของคนทำงานอย่างเป็นธรรม” ถึงขนาดที่แบรนด์แฟชั่นยั่งยืนระดับโลกยังมาตัดเย็บกับโรงงานของบีกันลย

แม้จะเจอความท้าทายกับการเป็นแบรนด์ยั่งยืน แต่ฟีดแบ็กจากคนซื้อจริงใส่เองคือแหล่งกำลังใจที่ยั่งยืน “คนที่ได้ใส่ดีไซน์ของ Floétique จะบอกตรงกันว่าใส่แล้วเอวมัฟฟินหายไปเลย นอกจากจะทำให้คนใส่ look right แล้วยังทำให้รู้สึก feel right ด้วย เป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่กลับมาซื้อซ้ำ บางคนสะสมทุกแบบ แค่รู้ว่ามีไอเท็มใหม่ออกมาก็โทร. มาบอกไซซ์และจองเลยโดยไม่ดูว่าเป็นดีไซน์แบบไหน นี่คือสิ่งที่ทำให้เราและทีมปลื้มใจ”


และจะน่าปลื้มใจมากกว่านี้ถ้าแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนเติบโตได้ทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายทางตามที่บีกล่าวว่า “เมื่อผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้ และสื่อช่วยนำเสนอเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น เพราะการมีพื้นที่ในสื่อหรือ visibility ช่วยขับเคลื่อนได้มากจริงๆ เมื่อนั้นความยั่งยืนจะไม่ใช่แค่เทรนด์แต่กลายเป็นวิถีชีวิต”

TEXT: SUPHAKDIPA POOLSAP