Tuesday, April 29, 2025

3 คอลเล็กชั่นที่ไม่มีหัว แต่ทีมสตูดิโอ CHANEL ไม่กลัว รักษา DNA มาดมัวแซลล์ COCO ได้ทุกอณู  

หลังจาก Virginie Viard โบกมือลาใน Haute Couture Fall 2024 เมื่อเดือนมิถุนายนปีกลาย ทีมอินเฮาส์ทำ 3 คอลเล็กชั่นกันเองอยู่ตั้งราวครึ่งปี ซึ่งนับว่าใจกล้ามากสำหรับแบรนด์ที่มียอดขายปีละเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอะไรทำให้ CHANEL ยังรักษาดีเอ็นเอของแบรนด์อย่างเหนียวแน่นหนึบ แม้ในวันที่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ยังมาไม่ถึง   

Spring/Summer 2025: Freedom

คอลเล็กชั่นแรก(อย่างเป็นทางการ)จากทีมสตูดิโออินเฮาส์ของ CHANEL เจองานใหญ่กับการพาแฟชั่นโชว์กลับไปยัง Grand Palais ที่แทบจะเป็นบ้านหลังที่สองของเมซง เพราะโชว์ใหญ่เว่อร์เบอร์ 11 ในยุค Karl Lagerfeld ยังแต่งแต้มรอยจำอยู่ทุกที่ รันเวย์โชว์จึงลงท้ายที่ “กรงนกมหึมาที่ผู้ถูกกักขังติดปีกอิสรภาพ แล้วปลดปล่อยตัวเองออกไปได้สำเร็จ”

สตอรีราวกับนิทานเช่นนี้ แน่นอนว่าย่อมผูกโยงกับ Coco Chanel ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งมาจากวรรคทองของเธอว่า “ใครๆ อยากขังฉันไว้ในกรงกันนัก กรงทองที่มีทุกสิ่งตามคำหวาน แต่ฉันไม่เคยอยากอยู่ในกรงของใครอื่นนอกจากกรงที่ฉันสร้างเอง” และมีหลักฐานอ้างอิงเป็นเดรสวินเทจจากปี Spring/Summer 1939 ที่โกโก้ ชาเนลออกแบบเดรสเกาะอกลายขนนกตกแต่งขนนกกระจอกเทศสีชมพูสด ซึ่งดูผิดแผกมากไปจากดีไซน์ขาว-ดำ-คลีน ตามแบบฉบับของมาดมัวแซลล์

ผ้าทวีด รองเท้าทูโทน(ทรงส้นตัน) และซิลูเอตต์ทรงกระบอก ทีมสตูดิโอใช้เพียงเท่านี้ก็ตะโกนได้ดังก้องกร็องด์ปาเลส์แล้วว่า ‘CHANEL!’ ไม่ว่าจะแต่งแต้มด้วยอะไรอื่นอีก เช่น ลายขนนกและสิ่งที่ดูคล้ายขนนก(ทำจากผ้าทูลล์ขยุม) ปกเสื้อปีเตอร์แพน เคปคลุมไหล่ หรือเดนิม

Spring/Summer 2025 Haute Couture: Sky Palette

ครบ 110 ปีที่ทำโอตกูตูร์ วาระใหญ่แบบนี้ทีมสตูดิโอไม่เป๋ไปเล่นงานถมระดมความแม็กซิมัลลิสม์ อย่างที่ Hetty Mahlich บรรณาธิการแห่ง SHOW Studio รีวิวไว้หลังเดินออกจากกร็องด์ปาเลส์สดๆ ร้อนๆ ว่า “เป็นคอลเล็กชั่นที่สวยที่สุดในรอบหลายปี” และ “ไม่มีใครคาดหวังให้ CHNEL เปลี่ยนทิศทางหรือทำอะไรตามกระแส นอกจากคาดหวังจะได้เห็นสไตล์ไร้กาลเวลาซึ่งเป็นปรัชญาดีไซน์ของเมซง”

CHANEL ทุ่มเทซื้อกิจการเมซงงานคราฟต์เก่าแก่ทั้งในและนอกฝรั่งเศสเพื่อไม่ให้งานฝีมือเก่าแก่สูญหาย เมื่อถึงคราวทำคอลเล็กชั่นเครื่องแต่งกายชั้นสูงจึงเป็นคราวปล่อยของจากทุกเมซง ไม่ว่าจะเป็นงานปัก (Lesage) ผ้าพลีต (Lognon) กระดุม (Desrues) รองเท้า (Massaro) เครื่องประดับและงานทอง (Goossens) ฯลฯ ให้เฉิดฉายบนผ้าทวีดและชีฟองในโทนสีท้องฟ้าในทุกโมงยาม จากสูทผ้าทวีดสีแดดอ่อน โค้ตสีส้มอมชมพูของฟ้ายามอาทิตย์อัสดง จนถึงเดรสสีมิดไนต์บลูตกแต่งงานปักวิบวับราวกับดาวกระพริบ โดยแทบจะเป็นเมซงเดียวที่ทำโอตกูตูร์ใส่สบายราวกับเรดี้ทูแวร์ ตามข้อความในบัตรเชิญที่ว่า “Comfort has forms, Love has colours” ไม่ต้องทายก็ได้ว่า นี่ก็มาจากอีกหนึ่งในวรรคทองของโกโก้ ชาเนลนั่นเอง    

Fall/Winter 2025: Black Ribbon

ของประดับชิ้นประจำของมาดมัวแซลล์ชาเนลก็ได้แก่ ดอกคามิลเลีย ไข่มุก และโบว์ซาตินสีดำ ซึ่งอันหลัง Willo Perron นักออกแบบชาวแคนาดาระเบิดเป็นโบว์ยักษ์สีดำขนาด 65 เมตรเลื้อยพันเป็นรันเวย์คอลเล็กชั่นล่าสุดและสุดท้ายของทีมออกแบบอินเฮาส์

ยิ่งผ่านไปหลายซีซั่นเข้า งานของพวกเขาดูจะยิ่งเข้าฝัก มันมือ และเป็นคอลเล็กชั่นที่ดีไซน์เป็นเอกเทศจากโกโก้, คาร์ลและวีร์ฌีนีที่สุด ทั้งเยาว์วัยสไตล์เจนซีอย่างเห็นได้ชัด บทจะเฟียสก็ฟาดจนขอบตาดำเหมือนคาดที่เปลือกตา ขณะที่มวลรวมยังสุขุมและสง่าสไตล์ CHNAEL

ทีมดีไซน์ในบ้านทำให้โบว์รักสีดำเป็นอะไรก็ได้มากกว่าผ้าแถบผูกผม เมื่อมันเป็นกระเป๋า เดรส ดีเทลคัตเอาต์ หรือกลายเป็นดอกคามิลเลียเสียเอง ท่ามกลางไข่มุกที่โดนเบ่งจนลูกใหญ่เท่าไข่นก และผ้าทูลล์โปร่งสีดำคลุมทับลุคตัวในให้ดูปลิวๆ ลอยๆ เหมือนโบว์ไสวในอากาศ

Unsung Heroes      

ช่วงรอยต่อรอครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ มักเป็นช่วงเวลาที่คนเสพแฟชั่น(รวมทั้งผู้บริหารของแบรนด์)ทั้งลุ้นทั้งให้กำลังใจทีมดีไซน์ในบ้าน ซึ่งหลายครั้งทำคอลเล็กชั่นที่เห็นแล้วชวนให้ออกเสียงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ หืม เฮ้ย แว้ก ว้าย ขุ่นพระ อิหยังนี่ ฯลฯ

ทว่า ผลงานนับร้อยลุคใน 3 คอลเล็กชั่นที่ผ่านจากบ้านเลขที่ 31 ถนนกัมบง กรุงปารีส สามารถคลอดออกมาสู่สายตาชาวโลกอย่างตรงเวลาตามปฏิทินแฟชั่นได้เกือบปี โดยโขลกดีเอ็นเอ CHANEL แบบไม่ผิดฝาผิดตัว สะท้อนถึงทิศทางที่ชัดเจนของแบรนด์มาแต่แรก และพฤติกรรมไม่เปลี่ยนตัวครีเอทีฟไดเร็กเตอร์บ่อยๆ (ในกรณีของคาร์ลคือ 36 ปีที่ CHANEL)

เมื่อแบรนดิ้งไม่แกว่ง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า กระเป๋าที่จะซื้อในวันนี้ ซีซั่นหน้าจะยังดูเป็นแบรนด์นั้นๆ อยู่ใช่ไหม คนอื่นจะรู้แน่ๆ ใช่ไหมว่าฉันใช้ของแบรนด์นี้ หรืออย่างน้อยๆ ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ยังตายตาหลับได้ว่า แบรนด์ของฉัน ‘วิวัฒน์’ แต่ไม่ได้ ‘กลายพันธุ์’ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ CHANEL ทำได้ตลอด 115 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าคอลเล็กชั่นแรกของ Matthieu Blazy ในเดือนตุลาคมนี้จะเป็นเช่นไร หาก 3 คอลเล็กชั่นที่ผ่านมา ขอคารวะน้ำพักน้ำแรงที่ผสมกับน้ำอดน้ำทนของผู้อยู่เบื้องหลังหนึ่งในแบรนด์สุดรักในโลกแฟชั่น เรารู้นะว่ามันไม่ง่าย แต่พวกนาย(เธอ พวกเขา และสรรพนามอื่นๆ) สมควรได้รับการปรบมือให้จริงๆ.

Text: Suphakdipa Poolsap

Latest Posts

Don't Miss