ไม่ใช่เล่นๆ อีกแล้วเมื่อกิจกรรมการ resale มีเงินสะพัดมากถึง 197 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023 และคาดการณ์ว่าจะโตไปแตะ 350 พันล้านเหรียญในปี 2028 นอกจากแพลตฟอร์มแฟชั่นมือสองจะโตตามเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนได้อะไรบ้างจากพฤติกรรมผู้บริโภคเช่นนี้?

The Waste and Resources Action Programme (WRAP) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม นำข้อมูลการซื้อขายจากแพลตฟอร์มช็อปปิ้งแฟชั่นมือสองต่างๆ ได้แก่ Vestiaire Collective, eBay, Depop, SOJO, The Seam และ Finisterre ไปต่อยอดคิดเป็นสูตรคำนวณใหม่ที่นำไปสู่การค้นพบ ‘ค่าการแทนที่’ (displacement rate) ที่บ่งชี้ว่าการซื้อแฟชั่นมือสองเริ่มเข้ามาทดแทนการซื้อของมือหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตของใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อนได้จริงด้วยแฮะ

แม้การรณรงค์ให้คนหันมาใช้เสื้อผ้ามือสองกันให้มากๆ เพื่อช่วยลดการผลิตใหม่จะมีมาช้านาน แต่รายงานของ WRAP ที่เพิ่งเปิดเผยในเดือนกุมภาพันธ์นับเป็นครั้งแรกที่มีสถิติตัวเลขมารับรองมากกว่าคำกล่าวอ้างลอยๆ ว่าใช้ของมือสองสิจะได้ช่วยลดโลกร้อน แถมยังเป็นตัวเลขสูงสวยงามยังความปลาบปลื้มแก่หมู่ผู้นิยมการรีเซล
รายงานของ WRAP ยังพบด้วยว่า ประเทศที่ซื้อขายแฟชั่นมือสองมากที่สุดในโลก 4 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และสหราชอาณาจักร อีกทั้งมีมาตรวัดเป็นครั้งแรกว่าธุรกิจหมุนเวียนใหม่ๆ อย่างบริการซ่อมแซมและเช่าเสื้อผ้าสร้างผลกระทบในทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นหลักฐานให้คนที่อยากทำธุรกิจแฟชั่นได้มีทางเลือกมากขึ้นที่มากไปกว่าการผลิตของใหม่


การนำเสนอข้อมูลว่า “เสื้อผ้าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากจากการปลูกวัตถุดิบสิ่งทอ เช่น ฝ้าย และสร้างขยะแฟชั่น มลพิษทางน้ำ สิ้นเปลืองการใช้ผืนดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดมาก และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางน้ำรวมกันเสียอีก” ปรากฏว่าไม่สะท้านสะเทือนหัวใจของสายแฟได้มากนัก
แต่สูตรคำนวณค่าการแทนที่ของ WRAP แทนที่ค่าต่างๆ ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทุกการตัดสินใจเล็กๆ ว่าจะซื้อเสื้อสักตัวหรือรองเท้าสักคู่ส่งผลต่อโลกได้นับ 10 กิโลกรัม! เช่น การนำเสื้อผ้าไปซ่อมทุกๆ 5 ชิ้นช่วยลดการซื้อของใหม่ได้ 82.2%, การซื้อของมือสองทุกๆ 5 ชิ้นช่วยลดการซื้อของใหม่ได้ 64.6%, การนำเสื้อยืดผ้าค็อตตอนไปซ่อมแทนการซื้อเสื้อตัวใหม่ทุกๆ 1 ตัว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.5 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการรีดผ้า 25 ชั่วโมง (เลิกรีดผ้ากันเถอะ!), การซื้อกางเกงยีนส์มือสองทางออนไลน์แทนการซื้อยีนส์ใหม่ทุกๆ 1 ตัว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 30 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการชงชา 600 แก้ว

การซื้อสนีกเกอร์มือสองแทนการซื้อของใหม่ทุกๆ 1 คู่ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 12 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการดูหนังบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเกือบ 10 วัน, การซ่อมสเวตเตอร์ตัวเก่าแทนการซื้อใหม่ทุกๆ 1 ตัว ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 16 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการเปิดหลอดไฟ 60 วัตต์ 50 วัน และการซ่อมแจ็กเกตผ้ากันน้ำแทนการซื้อใหม่ทุกๆ 1 ตัว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 45 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าการใช้เครื่องซักผ้า 300 ครั้ง
‘ค่าการแทนที่’ เหล่านี้ช่วยให้เห็นภาพว่าหากเราซ่อมแซมเสื้อผ้าหรือซื้อของมือสองจะช่วยลดการทำลายโลกได้มากเพียงไร และช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกต่างหาก WRAP จึงเรียกร้องให้บริษัทสิ่งทอและแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ใช้สูตรคำนวณใหม่นี้เป็นมาตรวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้ Vestiaire Collective ยังเอาจริงเอาจังกับการจูงใจให้คนหันมารักแฟชั่นมือสอง นอกจากแบนไม่ให้ซื้อขายแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นบนแพลตฟอร์มของตนแล้ว ยังทำการศึกษาด้วยว่าการซื้อไอเท็มมือสองใน Vestiaire ในระยะยาวจะได้ราคาถูกกว่าซื้อสิ้นค้าฟาสต์แฟชั่นมือหนึ่ง 33% และช่วยลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมได้ถึง 90%
ส่วนในลอนดอนแฟชั่นวีกที่ครบรอบ 40 ปีไปเมื่อเดือนกันยายน 2024 เป็นครั้งแรกที่ eBay จัดแฟชั่นโชว์ ‘Endless Runway’ แบบไลฟ์สตรีม พรีเซนต์ไอเท็มพรีเลิฟที่คัดมาเฉพาะชิ้นที่ก่อร่างสร้างวงการแฟชั่นฝั่งอังกฤษตลอด 4 ทศวรรษ ซึ่งควรค่าน่าสะสมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นชุดกระโปรงวินเทจลายสกอตอันเป็นซิกเนเจอร์ของ Vivienne Westwood กระโปรงพลีตสไตล์คิลต์ยุคใหม่ชิ้นดังที่แจ้งเกิดให้ Chopova Lowena ไปจนถึง Bayswater กระเป๋ารุ่นเดียวก็ทำให้ Mulberry ยืดได้จนทุกวันนี้ ฯลฯ นับเป็นครั้งแรกของรันเวย์แฟชั่นมือสอง 1 ใน 4 แฟชั่นวีกหลักของโลก

การค้นพบค่าการแทนที่และกิจกรรมแฟชั่นพรีเลิฟ-รีเซลใหม่ๆ เป็นหมุดหมายสำคัญที่สนับสนุนแฟชั่นที่หมุนเวียนใช้ซ้ำมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งจะนำไปสู่แฟชั่นยั่งยืนในที่สุด
TEXT: SUPHAKDIPA POOLSAP