ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศในสากลโลกที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน สังคมก็มีการเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบให้แต่ละคนได้เข้าร่วมสนับสนุนโดยไม่ต้องคำนึงว่าคุณจะนิยามตนเองเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลายหรือไม่ก็ตาม และวันนี้แอลอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับ ‘แดร็ก’ หนึ่งในศิลปะที่ถูกใช้เป็นตัวแทนการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกัน
หากถามว่าแดร็กคืออะไร ในอินเทอร์เน็ตมักให้ความหมายว่าเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ถูกแสดงผ่านผู้ที่แต่งกายข้ามเพศ โดยเดิมทีจะนำเสนอผ่านการแต่งหน้าแต่งกายเป็นหญิง ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากในสมัยศตวรรษที่ 17 ที่บทประพันธ์ของเชกสเปียร์กำลังโด่งดังและถูกหยิบยกมาแสดงเป็นละครเวที แต่ในขณะนั้นมีเพียงเพศชายเท่านั้นที่จะสามารถทำการแสดงละครเวทีได้ นักแสดงชายจึงจำเป็นต้องสวมบทบาทภายในและสวมชุดภายนอกให้กลายเป็นหญิงเพื่อรับกับตัวละคร
หลังจากนั้น ในยุคที่การกีดกันการมีอยู่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันกำลังรุนแรง ศิลปะแห่งการแต่งกายและนำเสนอตัวตนของชาวเพศหลากหลายอย่างแดร็กก็นับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมใต้ดินมาเป็นเวลากว่าหลายสิบปี แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากการต่อสู้อย่างหนักแน่นของชาว LGBTQIA+ โลกได้เปิดรับความหลากหลายมากขึ้น แดร็กที่เคยถูกกดทับไว้จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั่วไป โดยเฉพาะการแสดงในสถานบันเทิง
จนในปี 2009 แดร็กได้ก้าวเข้าสู่เมนสตรีมอย่างเป็นทางการโดย RuPaul เจ้าของวลี “We’re All Born Naked and the Rest Is Drag” หนึ่งในบุคคลที่หลายคนยกย่องให้ เป็น Queen of Queen ที่ได้จัดทำรายการ RuPaul’s Drag Race ซึ่งรายการนี้นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมแดร็กโด่งดัง และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การแสดงแดร็กในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ภาพอัตลักษณ์ความเป็นหญิงให้เห็นบนเวทีอีกต่อไป แต่เป็นการนำเสนอศิลปะบนเรือนร่างใดๆ ก็ตามผ่านรูปแบบการแสดงที่สะท้อนความเป็นตัวเองตามแบบที่เจ้าตัวต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการลิปซิงค์เพลงของเหล่านักร้องระดับตำนานที่เป๊ะตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ท่าทาง และรูปปากตามแบบฉบับแดร็กดั้งเดิม การสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ โดยไม่ได้ต้องคำนึงถึงเพศหรือไม่ได้ต้องเป็นคนเสียด้วยซ้ำ หรือถ้าคุณไม่ได้เข้าแข่งขันในรายการใด การแต่งหน้าแต่งกายถ่ายลงโซเชียลแสดงตัวตนในอีกเฉดสีหนึ่งที่คุณภูมิใจก็สามารถนับว่าเป็นแดร็กได้ทั้งหมด
กลับมาที่วงการแดร็กในประเทศไทย แม้จะยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายหรือมีสถานที่ให้แสดงมากมายเท่าต่างประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแดร็กไทยมีแนวโน้มการเติบโตเป็นไปในทางที่ดี เริ่มมีอีเวนต์ต่างๆ มากขึ้นทั้งในแง่การโชว์และการแข่งขัน บาร์แดร็กในไทยก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นกัน และมีผู้คนมากหน้าหลายตาที่ลุกมาจับการทำแดร็กเป็นอาชีพ โดยเมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศไทยได้มีรายการ Drag Race Thailand เป็นครั้งแรก
และในปี 2022 ที่ผ่านมา แดร็กควีนไทยอย่าง Pangina Heals หรือ ปันปัน นาคประเสริฐ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยและนับเป็นคนเอเชียเพียงหนึ่งเดียวที่ได้ไปร่วมรายการ RuPaul’s Drag Race: UK vs the World ในฐานะผู้เข้าแข่งขัน ทำให้ชื่อเสียงของแดร็กควีนไทยเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกมากขึ้น
อีกทั้งล่าสุดในปีนี้ แดร็กควีนไทยรุ่นใหม่ๆ ยังได้ปรากฏตัวในเอ็มวีของศิลปินระดับโลกอย่าง Troye Sivan กับเพลง Got Me Started ที่มาถ่ายทำถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นภาพคำว่าแดร็กที่ทั้งสวยงามและทรงพลังนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่แดร็กในไทยก็ยังเป็นศาสตร์ที่ยังต้องการการสนับสนุนและตัวคนทำแดร็กเองก็พร้อมรับกำลังใจในการค้นหาตัวตนและผลิตงานสร้างสรรค์ดีๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งถ้าหากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบแฟชั่น การแต่งหน้าแต่งกาย หรือศิลปะใดๆ ก็ตาม และเป็นหนึ่งในคนที่อยากให้โลกมีความเท่าเทียมทางเพศ โลกของแดร็กเป็นสิ่งที่เราอยากให้คุณได้รู้จักและสนับสนุนดูสักครั้ง