Dior ก้าวสู่ตำนานบทใหม่ด้วยการเปิดบูติกในแบบ stand-alone ภายใต้ชื่อ ‘Dior Gold House’ บนถนนเพลินจิต เมื่อมองจากด้านนอกคืออาคารสีทองอร่ามด้วยกระเบื้องโมเสกที่ดึงเอารายละเอียดโครงสร้างฟาซาดของบูติก Dior รายล้อมไปด้วยสวนอันแสนร่มรื่น นอกจากนี้ยังมีโซนที่สงวนไว้เพื่อเป็น Café Dior ที่มีทั้งส่วนอินดอร์และเอาต์ดอร์ อีกหนึ่งไฮไลต์คือการแสดงผลงานศิลปะและงานฝีมือจาก 9 ศิลปินไทยกระจัดกระจายอยู่ ณ จุดต่างๆ ทั่ว Dior Gold House ที่ต่างแสดงให้เห็นว่าโลกของแฟชั่นและศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ ที่รู้จักกันในระดับสากลฝีมือศรัณย์ เย็นปัญญา จากสตูดิโอ 56 โดดเด่นด้วยการใช้กกและหวายสาน บริเวณหน้าทางเข้า, กระเป๋า Lady Dior ไม้ไผ่สาน จากคู่แม่-ลูก วาสนาและสาวิน สายมา จากแบรนด์ Vassana จัดวางเรียงรายบนผนังหน้า Café Dior หรือจะเป็นเก้าอี้ Nirvana d’Oro ของเอกรัตน์ วงษ์จริต โดยเขานำกระจกเกรียบสี งานหัตถศิลป์พื้นบ้านของไทยที่หาได้ยากยิ่งแล้วมาปูลายแบบโมเสกบนตัวเก้าอี้


ในส่วนของงานคอลลาบอเรชั่นกับศิลปินนั้นยังหยิบยกแนวคิดในการรักษ์โลกจึงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นสู่ปัจจุบันที่การรังสรรค์ชิ้นงานต่างๆ อันไร้กาลเวลามักต้องสามารถนำมาซ่อมแซม ฟื้นฟู หรือผ่านการรีไซเคิลได้ ในแง่มุมทางศิลปะการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงถูกหยิบยกมานำเสนอเพื่อสะท้อนรากเหง้าและชี้ให้เห็นอีกแง่ของความงามอันเป็นส่วนหนึ่งของเมซงแห่งนี้ด้วยเช่นกัน วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ คือหนึ่งในนั้นที่ร่วมสร้างงานหลายชิ้นภายใต้ชื่อ ‘Unleashed Nature’ เพื่อ Dior Gold House จากวัสดุเหลือใช้ เธอได้เนรมิตราชสีห์และยูนิคอร์นขึ้นมาเป็นงานศิลปะจัดวางภายนอกอาคาร ต่อด้วยโซฟาทั้งตรงโซนรองเท้าและตรงมุมหน้าทางเข้า Café Dior โดยชิ้นงานทุกชิ้นเป็นสีขาว เพื่อเป็นตัวแทนของความไร้เดียงสา ชี้ชวนให้ตระหนักถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เราได้มีบทสัมภาษณ์เจาะลึกถึงความเป็นมาเป็นไปของเธอกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชิ้นงานสุดพิเศษเพื่อ Dior Gold House ในครั้งนี้ด้วย



GREEN MINUTES WITH WISHULADA
มุมมองในการทำงานศิลปะของคุณเป็นอย่างไร?
WISHULADA: ฉันอยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมจากการนำวัสดุเหลือใช้มารังสรรค์ขึ้นเป็นงานศิลปะ เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยความเชื่อในประเด็นของ ‘งานออกแบบและศิลปะฟื้นประโยชน์เพื่อความยั่งยืน’ (Regenerative art and design)
บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ‘ศิลปะสามารถเปลี่ยนมุมมองและวิถีการดำเนินชีวิต’ ฉันตระหนักได้ว่าทุกการตัดสินใจเชิงสร้างสรรค์ย่อมส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อการนำทรัพยากรโลกของเรามาใช้ประโยชน์ ฉันได้นำแนวคิดนวัตกรรมมาใช้กับการวางแผนอย่างละเอียดลออ โดยให้ความสำคัญด้านการลดกากวัสดุและของเสียจากกระบวนการผลิตชั้นต้น ไปจนถึงการนำวัสดุเหลือทิ้งทั้งหลายกลับมาใช้งานใหม่ เป็นแนวทางคู่ขนานเพื่อช่วยลดปริมาณขยะโลก เอื้อต่อการจับเคลื่อนอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้งานศิลปะของฉันจึงเหมือนเครื่องมือหรือกลไกในการบ่งชี้ปริมาณของเสีย ควบคู่ไปกับการกระตุ้นทุกคนให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ทางสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นผลงานศิลปะเหล่านี้ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั้งหลายหันมานำบรรดาเศษวัสดุหรือของเหลือทิ้งรอบตัวกลับมาใช้งานใหม่จนเกิดประโยชน์สูงสุด
ฉันเชื่อว่าพลังทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับการวางแผนดำเนินงานอย่างเหมาะสมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่นการออกแบบกระบวนการผลิตอันคำนึงถึงการใช้งานท้ายสุดของผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคสามารถนำของเสียเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จะช่วยลดปริมาณขยะที่มักถูกละเลยหรือมองข้ามจนก่อให้เกิดการสูญเปล่าทางทรัพยากร วิธีนี้ถือเป็นหนึ่งในส่วนสนับสนุนกลไกเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เพราะปัญหาของเสียประเด็นต่างๆ ล้วนก่อวิกฤตยืดเยื้อมานานจนไม่สามารถขจัดลงได้ด้วยบุคคลเพียงกลุ่มเดียว ปัญหาประเด็นนี้ควรได้รับการหยิบยกมาอธิบายว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนซึ่งใช้ชีวิตและหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของโลกใบนี้

คุณตัดสินใจเป็นศิลปินตอนไหนและเริ่มต้นทำงานศิลปะได้อย่างไร?
WISHULADA: ฉันต้องการทำงานด้านศิลปะมาตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น ระหว่างเรียนอยู่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุต่างๆ ทำความเข้าใจในรายละเอียดทางผิวสัมผัส รวมถึงวิธีการติดตั้งหรือจัดวาง สำหรับโครงการสำเร็จการศึกษา ต้องศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับรายละเอียดแง่มุมต่างๆ ของวัสดุให้มากยิ่งกว่าเดิม เริ่มโยงประเด็นไปหากรณีของปัญหากากวัสดุ ของเสีย ขยะกับพฤติกรรมการอุปโภคและบริโภคทรัพยากรแวดล้อมของมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่าโครงการสำเร็จการศึกษาคืองานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมชิ้นแรก นับจากนั้นงานของฉันก็มีความเกี่ยวกันกับสิ่งแวดล้อมมาตลอด กว่า 10 ปีที่ตั้งใจนำวัสดุเหลือทิ้งทั้งหลายมาสรรค์สร้างเป็นงานศิลป์ ด้วยเชื่อว่าศิลปะคือเครื่องมือหรือกลไกในการเปลี่ยนมุมมองทางความคิดของผู้คน พร้อมกันนั้นก็เป็นช่องทางอำนวยประโยชน์ต่อการถ่ายทอดเนื้อหาหรือแนวคิดต่างๆ จากศิลปินสู่ผู้รับชม ฉันต้องการยกระดับการตระหนักรู้เกี่ยวกับวิธีนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยอาศัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้จักจัดการกากวัสดุกับของเหลือทิ้งเหล่านี้ เช่นนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ลดจำนวนของเสีย ลดการทิ้งข้าวของเพื่อไม่ให้สูญเปล่า และการซ่อมแซม เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถลดปริมาณขยะและการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง
ฉันเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่มุมมองทางความคิดของผู้คนทั้งหลายเปลี่ยนไป วิถีการดำเนินชีวิตก็จะเปลี่ยนตาม จนนำไปสู่การขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด
ผลงานชิ้นใดแสดงถึงตัวตนของคุณได้ดีที่สุด และเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของคุณ?
WISHULADA: จุดเด่นในการแสดงตัวตนของฉันผ่านการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นคงเป็นเรื่องของการรู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของวัสดุเหลือทิ้ง ยิ่งไปกว่านั้นงานศิลปะของฉันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสไตล์การนำเสนอได้หลากรูปแบบ หลายเทคนิค เพื่อให้เข้าถึงผู้รับสารได้ทุกกลุ่ม จากมุมมองในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะของฉันคือช่องทางการสื่อสารเชิงนามธรรมเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวและเรื่องของแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน

คุณต้องการถ่ายทอดค่านิยมใดบ้างผ่านผลงานสร้างสรรค์ของตนเอง?
WISHULADA: เมื่อมาถึงประเด็นเกี่ยวกับการตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อม ฉันอยากบอกกับศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่ว่าจงมีปณิธานมุ่งมั่นและรักในสิ่งที่คุณทำ อย่ากลัวที่จะทดลองและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สำคัญที่สุดก็คือใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคุณเป็นกระบอกเสียงยกระดับการตระหนักรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก มั่นใจที่จะแบ่งปันแนวทางความคิดหรือมุมมองที่แตกต่าง มั่นใจในการคิดนอกกรอบ พร้อมเผชิญหน้ากับโจทย์ท้าทาย มุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการทำสิ่งที่ตนรัก ลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วยการบริโภคแต่เพียงสิ่งที่จำเป็น ตระหนักถึงคุณค่าด้วยการใช้ให้น้อยลง นำกลับมาใช้ใหม่ หรือรู้จักหาประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้ง ใช้วัสดุทดแทนในราคายุติธรรมหรือใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อลดการรุกรานและทำร้ายธรรมชาติ
ฉันหวังว่าผลงานของตนจะเป็นกระบอกเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางสังคม อาทิ ช่วยให้มีผู้คนใส่ใจการแยกขยะมากขึ้น ช่วยให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการผลิตอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมวลมนุษยชาติมากขึ้น ให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจถึงความหมายของ ‘ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการอัพไซเคิล’ ว่าหมายถึงการนำกากวัสดุหลังกระบวนการผลิตจากนิคมหรือชุมชนต่างๆ มาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับการผลิตใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในบริษัทของพวกเขา ช่วยลดหรือยุติการนำเข้าขยะพลาสติกเพราะขยะพลาสติกในประเทศไทยสะอาดมากพอที่จะนำมารีไซเคิลได้ ลดปัญหาภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สัตว์ และประเด็นมลภาวะอย่างการเสื่อมสภาพของเนื้อดิน มลภาวะทางน้ำ และมลภาวะทางอากาศ
ปัญหาที่ฉันต้องการนำเสนอต่อทุกคนคือประเด็นทางสิ่งแวดล้อม อยากให้ทุกคนสามารถแยกขยะด้วยตัวเองได้โดยเริ่มจากที่บ้าน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการบริโภค อุปโภคธรรมชาติด้วยการลดปริมาณขยะอาหาร พร้อมกันนั้นก็ช่วยให้ทุกคนสามารถนำศักยภาพ ความสามารถ และพลังของตนออกมาใช้สร้างนวัตกรรมหรือกระบวนการพัฒนาต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาหรือลดสาเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อม เพราะทุกคนสามารถทำได้ด้วยการเริ่มต้นกับตัวเอง ขอให้เพียงเริ่มลงมือทำ!

การร่วมงานครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีกระบวนการพัฒนาอย่างไร และอะไรทำให้คุณตัดสินใจเข้าร่วมโปรเจ็กต์นี้?
WISHULADA: การร่วมงานครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อทีมงานของ Dior ได้ให้เกียรติแวะมาชมผลงานที่ Wishulada อันนำมาซึ่งโครงการต่อเนื่อง 1 ปีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 ระหว่างกระบวนการพัฒนาผลงาน มีทั้งการเยี่ยมชุมชนแหล่งผลิตในท้องถิ่นต่างๆ การศึกษาผลงานในอดีตของ Wishulada และปรึกษาหารือกันถึงความต้องการของพวกเขา
สาเหตุที่ทางเราตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ก็คือความปรารถนาที่จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานของ Dior ได้โอกาสเพิ่มขึ้นในการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งและนำมาหลอมรวมเข้ากับงานออกแบบ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นไทย โดยมีเป้าหมายท้ายสุดคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนจากทุกภูมิหลังได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านศักยภาพ ทักษะ ความชำนาญ และอาชีพการงานของพวกเขา

ทักษะความชำนาญด้านใดที่คุณต้องการแสดงให้เห็นผ่านการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ และจากวัสดุสร้างงานใดบ้าง?
WISHULADA: ผลงานสร้างสรรค์ของ Wishulada แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ งานศิลปะจัดวาง: ประติมากรรมราชสีห์และยูนิคอร์นที่สร้างขึ้นจากปลายสายรัดเคเบิล (วัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง) จำนวน 18,000 ชิ้น ผ้าขาวฉีกเป็นรูปทรงหยดน้ำตา (เศษวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ) 5,000 ชิ้น ลูกแก้วที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 4 ลูก ลูกขนไก่แบดมินตันชำรุด 100 ลูก และเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งภายใน: เฟอร์นิเจอร์ 4 ชิ้นทำจากกรอบไม้ของเครื่องเรือนเก่า นำมาแปรรูปดัดแปลงเป็นที่นั่ง (2 ชิ้น) เศษผ้าเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ 100 กิโลกรัม โดยเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนช่างฝีมือท้องถิ่นของจังหวัดนนทบุรี ชัยนาท และจันทบุรี อันเป็นการช่วยกระจายรายได้ พร้อมกับสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิให้แก่ 20 ครัวเรือนโดยประมาณในชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้น ฉันได้ออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลป์แนวคิดใหม่หลายต่อหลายชิ้นโดยอาศัยบรรดาวัสดุซึ่งล้วนเป็นตัวแทนโจทย์ท้าทายต่างๆ ในประเด็นของสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิกฤตขยะพลาสติกกับวิกฤตทรัพยากรในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
กระบวนการทำงานของฉันประกอบไปด้วยงานฝีมือตัดวัสดุด้วยเทคนิคต่างๆ โดยต้องอาศัยความประณีตพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงการย้อมสี ลงสี หรือแต่งเติมสีสัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าท้ายที่สุดวัสดุเหล่านั้นยังสามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นเมื่อเป็นงานฝีมือจึงไม่มีการใช้เครื่องจักรใดๆ ทั้งขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เท่ากับช่วยลดการใช้พลังงาน และเมื่อปราศจากการเผาผลาญพลังงานก็เท่ากับช่วยลดปริมาณการแพร่ก๊าซเรือนกระจก เป็นการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน
ฉันให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะ พัฒนาทักษะของชุมชนท้องถิ่น จัดหา และแยกประเภทความสามารถ รวมถึงขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากร รู้จักชื่นชมของใช้ประจำวัน และกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ ไร่พัฒนา ในอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และกลุ่มช่างเย็บผ้าของชุมชนภายในจังหวัดสมุทรสาคร
การร่วมงานกับ Dior ช่วยขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนมุมมองระดับสากลเกี่ยวกับผลกระทบจากขยะ ของเสีย และของเหลือทิ้งอันมีต่อสิ่งแวดล้อม ฉันตระหนักได้ว่าการรับมือกับวิกฤตวงกว้างนี้จำต้องอาศัยแนวร่วมปฏิบัติและแนวร่วมรับผิดชอบจากทุกคนที่ใช้ทรัพยากรโลก ด้วยการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเพื่อความยั่งยืนก็ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าในอนาคตโลกใบนี้จะยังคงเป็น ‘โลกสุขภาพ’ สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป
คุณหลอมรวมบรรดาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง ‘ความเป็น Dior’ เข้ากับเอกลักษณ์ทางการสร้างสรรค์งานศิลป์ของคุณอย่างไร และมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณ?
WISHULADA: สำหรับการร่วมงานครั้งนี้ ฉันได้ทำการศึกษา ทบทวน และใช้จินตนาการกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ของราชสีห์กับยูนิคอร์น ขณะที่ราชสีห์เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ตามตำนานความเชื่อของไทย ยูนิคอร์นก็เป็นที่รู้จักอยู่ในตำนานพื้นบ้านของยุโรป จากนั้นก็ได้รังสรรค์สัตว์ทั้งสองนี้ขึ้นโดยอาศัยงานฝีมือกับเศษวัสดุและของเหลือทิ้งเพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งที่ถูกละเลยและมองข้าม ด้วยความแยบคายในการออกแบบหลอมรวมวัฒนธรรม เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นถูกผลิตขึ้นจากเศษผ้าสีครีมกับสีขาวซึ่งผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันเพื่อสื่อถึงเฉดสีหลักที่ใช้ในคอลเล็กชั่นล่าสุดของ Dior จากนั้นเราก็นำวัสดุมาถักและขัดสานเข้าด้วยกันโดยใช้เทคนิคสานปลาตะเพียนพื้นบ้านไทย ร่วมกับงานถักลายเกลียวเปียแบบต่างๆ ตลอดจนเทคนิคอื่นๆ ในส่วนของรายละเอียด ก่อให้เกิดผลงานอันงดงาม ภูมิฐาน เต็มไปด้วยความประณีตซับซ้อน

อะไรทำให้ผลงานสร้างสรรค์ครั้งนี้มีเอกลักษณ์อย่างยิ่งสำหรับคุณ และอะไรเป็นรายละเอียดที่คุณชื่นชอบหรือประทับใจมากที่สุด?
WISHULADA: นี่เป็นโปรเจ็กต์ที่ท้าทายขอบเขตการทำงานระหว่างทีมนักออกแบบและช่างฝีมือ Wishulada ของฉันเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่ผลงานลำดับก่อนๆ ของเรามีความโดดเด่นเฉพาะตัวจากการใช้สีสันสดใสกับเฉดสีโทนสว่าง ผลงานสร้างสรรค์ครั้งนี้กลับเปลี่ยนแนวทางสีมาสู่การใช้วัสดุอันหลากหลายภายใต้การคุมโทนสีเพียงเฉดเดียว เรียกได้ว่าเป็นการนำพวกเขาไปพบกับลูกเล่นใหม่ๆ ในการแสดงมุมมองและจินตนาการทางศิลปะ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ไหวพริบพลิกแพลงกับงานออกแบบและกระบวนการสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
Dior Gold House ในประเทศไทยมีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ การร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นการยกย่องคุณค่าและความสำคัญของศิลปะทุกแขนงในทุกรูปแบบได้หรือไม่ ถือเป็นการหักล้างขีดจำกัดทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบเดิมๆ ได้หรือไม่?
WISHULADA: ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมโปรเจ็กต์นี้กับ Dior Gold House เราขอขอบคุณจากใจจริงต่อ Dior ที่มอบโอกาสให้เราได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในครั้งนี้
การร่วมงานครั้งนี้หาได้เป็นเพียงการยกย่องคุณค่าและความหมายของศิลปะต่างแขนงในทุกรูปแบบ หากยังเป็นการแสดงผลงานสู่สายตาสากล ให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงภูมิปัญญาและคุณค่างานหัตถศิลป์ไทย บนบรรทัดฐานงานออกแบบหมุนเวียนซึ่งสามารถดัดแปลงและแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทั้งหลายให้กลับมาเป็นบางสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล
