Monday, April 28, 2025

5 มิติเพื่อเข้าใจเหล่าวัยรุ่น ‘Gen Z’ คลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม

ที่ทำแบบนั้นก็เพราะเราเป็น ‘วัยรุ่นเจนซี’ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเราเป็น ‘เจนซี’ แม้คำว่า Generation Z จะถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อเรียกเหล่าผู้คนที่เกิดในช่วงปี 1996–2012 กันมาตั้งแต่นมนาน แต่พักหลังมานี้เรากับได้ยินคำว่า เจนซี มากยิ่งขึ้นกว่าปกติ ตอกย้ำบทบาทของพวกเขาเหล่านี้ที่เริ่มก้าวขึ้นมารันทุกๆ วงการสมกับเป็นกลุ่มคนที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังคงมีประเด็นมากมายเกี่ยวกับชาวเจนซีที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ วันนี้แอลจึงขอพาทุกคนมารู้จักกับพวกเขา (หรือพวกเรา) ให้มากยิ่งขึ้น ผ่าน 5 มิติของเหล่าเจนซีที่ควรรู้

#1 Aesthetic Comes First

เมื่อ ‘ใคร’ ก็สามารถเป็นผู้นำแฟชั่นในยุคปัจจุบันได้ เหล่า ‘Gen Z’ ก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มคนยุคใหม่ที่สร้างแรงจูงใจ โน้มน้าว อีกทั้งเป็นทั้งผู้สร้างเทรนด์ใหม่ๆ ขณะเดียวกัน Gen Z ก็เป็นผู้ตามและผู้บริโภคสื่อในเวลาเดียวกัน ซึ่งอีกหนึ่งเทรนด์ที่เราเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคือการกลับมาของแฟชั่น Y2K หรือช่วงที่เทรนด์แฟชั่นต่างๆ กำลังรุ่งเรืองในช่วงปี 2000 โดยในตอนนี้กำลังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งตั้งแต่ประมาณปลายปี 2022 เราจะเห็นได้ชัดจากการแต่งตัวของผู้คนในช่วงวัยเริ่มโตอายุในช่วง 11 ปี ไปจนถึงประมาณ 26-28 ปี และส่งอิทธิพลไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันเช่น ไลฟ์สไตล์ความเป็นอยู่ต่างๆ การเลือกหรือตัดสินใจในการทำกิจกรรม ไปจนถึงค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวชาว Gen Z ก็เลือกที่จะค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงแฮชแท็กที่คนฮิตในช่วงเวลานั้นๆ

การส่งต่อของมิลเลเนียมหรือกลุ่มผู้คนที่มาก่อนซึ่งพวกเขาเติบโตมากับการเรียนรู้แบบอะนาล็อก สู่ผู้คนอายุน้อยยุคที่ 2 อย่างเหล่า Gen Z ที่มีการเรียนรู้สิ่งรอบตัวแตกต่างไปจากคนในยุคก่อนจนอาจเรียกได้ว่า Gen Z คือกลุ่มคนแบบ ‘ชาวดิจิทัล’ แม้จะเติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างการเผชิญกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างโรคระบาดอย่าง Covid-19 จนทำให้สังคมต้องเกิดการปรับตัวด้วยการ Social Distancing ทำให้สิ่งนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Gen Z มีความโดดเด่น เป็นตัวเองสูง เพราะฉะนั้นต่อให้คุณจะอินกับ Y2K หรือไม่ คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชาว Gen Z ได้ทั้งสิ้น

#2 Everyday Is The New Content

ไม่ว่าจะทำอะไร Gen Z สามารถสร้างให้เป็นเรื่องใหม่ได้เสมอ หรือที่คนในยุคนี้เขาพูดกันว่า ‘ชีวิตติดคอนเทนต์’ ไม่ว่าจะทำอะไร Gen Z ก็สามารถกระพือให้เป็นเทรนด์ได้! เห็นได้จากการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างเทรนด์ในทุกสิ่งทั้งการชอปปิ้ง การเดต ไปจนถึงการหาเพื่อน ชาว Gen Z ก็สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างไว้ได้อย่างง่ายดายด้วย ‘โทรศัพท์มือถือ’ เพียงเครื่องเดียว 

กระแสความนิยมของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อชาว Gen Z ในหลากหลายแพลตฟอร์ม อย่าง TikTok ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ช่วงปี 2020 จากการเกิดโรคระบาดทำให้ทุกคนต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการลงรูปบน อินสตาแกรมเพื่อแชร์มุมต่างๆ ให้เหล่า ‘ผู้ติดตาม’ ได้กดถูกใจกันถ้วนหน้า โซเชียลมีเดียจึงเข้ามามีบทบาทต่อทุกการตัดสินใจของคนยุคใหม่และไม่เพียงแต่ทุกคนจะเริ่มติดตามเทรนด์และทำตามเท่านั้น แต่การปรับตัวครั้งใหญ่ในยุคนี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ จนสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล และใครก็ตามสามารถเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ได้ 

#3 Blurring The Line

ช่วงเวลาในการเติบโตของเด็ก Gen Z นั้นถือเป็นห้วงเวลาที่เทคโนโลยีเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าหากัน เส้นแบ่งระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เคยชัดเจนในอดีตกำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งระหว่าง ออนไลน์และออฟไลน์ การเรียนและการทำงาน หรือแม้แต่เพศและอัตลักษณ์ส่วนบุคคล อินเทอร์เน็ตทำให้ Gen Z สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทุกมุมโลกภายในเสี้ยววินาที ทำให้โลกถูกเชื่อมต่อกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลต่อมุมมองและวิธีคิดอย่างมหาศาล เด็ก Gen Z ไม่ได้ยึดติดแค่ความคิดของคนรอบตัวหรือวัฒนธรรมเเบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่อยู่กันคนละซีกโลก พวกเขาเลือกที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกสอนมา และพยายามมองหาคำตอบที่แท้จริงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย

Gen Z อยู่ในยุคที่เทคโนโลยีและค่านิยมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยถูกมองว่า ผิด หรือ แปลก ในอดีต กลับถูกทำลายลงจากเส้นเเบ่งทางชนชั้นหรือรวมไปถึงเรื่องเพศ Gen Z ไม่ได้ยึดติดกับกรอบที่สังคมวางไว้ แต่เลือกที่จะมองโลกในมุมที่กว้างขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น เส้นแบ่งเหล่านี้ที่จางลงทำให้เกิดข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน ข้อดี คือ เรามีอิสระในการเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองมากขึ้น ในส่วนของ ข้อเสีย คือ ความชัดเจนบางอย่างหายไป ความไม่แน่นอนก็เพิ่มขึ้น บางครั้งเรากลับรู้สึกกดดันเพราะทางเลือกมีมากเกินไป ต้องหาคำตอบให้ตัวเองตลอดเวลา ซึ่งอาจจะต่างจากคนรุ่นก่อนที่มีเส้นทางชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว

#4 Gen Z Visions

หลายคนคงมองว่าเด็ก Gen Z ถูกมองว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ แปลกแยก ดื้อรั้น และไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หลายครั้งคนรุ่นก่อนอาจมองว่าเด็ก Gen Z เป็นพวกที่ ไม่อดทน เปลี่ยนงานบ่อย หรือหมกมุ่นอยู่กับโลกออนไลน์ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่กรอบความคิดและการกระทำของนั้นลึกซึ้งกว่าที่หลายคนคิด สิ่งที่ช่วยขัดเกลา Gen z คือ การโตมากับอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย ทำให้ไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ แต่ชอบตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ยึดติดกับระบบเดิม ๆ เพราะรู้ว่ามันมีทางเลือกอื่นเสมอ การเติบโตในยุคที่โลกไม่แน่นอนเห็นวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ยังเด็ก เห็นโรคระบาดที่ทำให้ชีวิตพลิกผันภายในข้ามคืน สิ่งเหล่านี้ทำให้ Gen z ไม่เชื่อในความมั่นคงแบบเดิมๆ แต่เลือกที่จะสร้างความมั่นคงในแบบของตัวเอง

ค่านิยมที่เปลี่ยนไป Gen Z ส่วนมากมีความคิดเห็นว่า เราไม่ได้ต้องการ บ้าน รถ ครอบครัว แบบที่สังคมกำหนดมาเสมอไป แต่เราเลือกใช้ชีวิตในแบบที่เรารู้สึกว่าเหมาะกับตัวเอง หลายคนอาจจะมองและเข้าใจในสิ่งที่ Gen Z เป็นเด็กหัวเเข็งเเต่เนื้อแท้จริงเด็ก Gen Z ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง เเต่มีความคิดที่เป็นตัวของตัวเองสูง เช่น เด็ก Gen Z เปลี่ยนงานบ่อย เพราะไม่อดทน เเต่จริงๆ แล้ว เขาแค่ไม่ทนกับสิ่งที่ไม่เขาไม่ชอบหรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขารู้ลบกับชีวิต หรือจะความคิดที่ว่า Gen Z ติดโซเชียลมากเกินไป แต่ความจริงเเล้วพวกเขาอาจจะกำลังใช้มันเป็นเครื่องมือในการหาเงินผ่านโซเชียลมีเดีย

#5 Gen Z in the Workplace

เพราะเหล่า Gen Z คือช่วงวัยที่เกิดนับตั้งแต่ปี 1996–2012 จึงไม่แปลกที่ชาวเจนซีหลายๆ คนจะเริ่มก้าวขาเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน เป็น First Jobber กันอย่างเต็มตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี บทบาทของชาว Gen Z ในที่ทำงานที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งได้รับความสนใจจากสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโคจรมาพบกับเหล่ารุ่นพี่หรือหัวหน้าจากเจเนอเรชั่นก่อนหน้าจนเกิดเป็น ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ที่เห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างเหล่านั้นไม่ได้เป็นเส้นที่มาขีดตัดสินว่าแนวคิดแบบของใครนั้นผิดหรือถูก เพียงแต่สะท้อนถึงมุมมองต่อการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันเท่านั้น เช่น เป้าหมายของคนในยุคก่อนๆ อาจจะเป็น ‘ความมั่นคง’ และพยายามดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทิศทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองไปยังอนาคตอันไกลโพ้นถึงเพียงนั้น แต่เป็นการ ‘ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด’ มากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่วัฒนธรรมการย้ายงานนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดามากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าพวกเขาอยู่ได้ไม่นาน แต่พวกเขากำลังมองหาที่ๆ เหมาะสมกับตนที่สุดนั่นเอง

เฉกเช่นเดียวกับการปฏิบัติร่วมกันในสังคมที่เส้นแบ่งชนชั้นค่อยๆ เลือนลาง รวมไปถึงเส้นแบ่งระหว่างความอาวุโสด้วยเช่นกัน ชาว Gen Z เริ่มให้ความสำคัญกับการทรีตคนรอบข้างอย่างเท่าเทียมและมองว่าผู้คนมีศักดิ์ศรีที่เทียบเท่ากันยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการนี้อาจสั่นสะเทือนระบบ Seniority ในบางครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ชวนให้สังคมตั้งคำถามถึงความพอดิบพอดีของสองสิ่งนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ค่านิยมต่างๆ ก็ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นชาวเจนซีหรือเจนอื่นๆ ก่อนหน้า แม้กระทั่งเจนหลังไปจากนี้ เราต่างก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ เพียงเปิดใจยอมรับในคอนดิชั่นที่แตกต่าง และหาจุดสมดุลตรงกลางนั่นเอง

Latest Posts

Don't Miss