Thursday, January 9, 2025

คุยเจาะลึก 5 เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจฝังเข็ม ศาสตร์การรักษาจากอดีตที่กำลังกลับมาฮิต

การรักษาโรคด้วย ‘การฝังเข็ม’ ตามหลักศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่โบราณ กำลังกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เหมือนจะเจ็บ แต่เหล่าดาราเซเลบระดับฮอลลีวู้ดหลายคนกลายเป็นคนติด(การฝัง)เข็มไปแล้ว ไม่ต่างกับกระแสคนรักสุขภาพในบ้านเราที่เป็นปลื้มกับการฝังเข็มไปตามๆ กัน แอลชวนทุกคนมาเจาะลึกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฝังเข็มผ่านการพูดคุยกับคุณหมอเหมียว-ปรียนันท์ สุนทรปกรณ์กิจ แพทย์จีนประจำบ้านหมอเหมียว คลินิกการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนจีน เพื่อประกอบการตัดสินใจหากใครยังลังเลหรือสงสัยในศาสตร์การรักษาที่กลับมาฮิตในยุคนี้

ACUPUNCTURE IS…

ในปัจจุบันการฝังเข็มแบ่งเป็น 2 แบบ ตามหลักตะวันตก เรียกว่า dry needling เน้นการรักษากลุ่มอาการคลายกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยต่างๆ และการฝังเข็มแบบแผนจีน บนคอนเซ็ปต์ที่ว่าเป็นการรักษาแบบองค์รวม หมายถึงการมองคนไข้ให้เห็นเป็นภาพใหญ่ ไม่ได้เจาะจงเพียงแค่ว่าจะรักษาแค่โรคใดโรคหนึ่ง เวลาคนไข้ที่ปวย 1 คน มักจะไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยเพียงอาการเดียว แต่อาจมีความเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย หรือความเจ็บป่วยต่อเนื่อง และความเจ็บป่วยมักมาจากความไม่สมดุลที่เกิดภายในร่างกาย เมื่อทำงานไม่สมดุลเหมือนเดิมก็เจ็บป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นความเมื่อยล้า ความเครียด อาการนอนไม่หลับ ประจำเดือนไม่ปกติ ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ เป็นต้น ล้วนมาจากการทำงานที่ไม่สมดุลอย่างใดอย่างหนึ่งของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อภายในร่างกายที่บีบคลายไม่ดี ฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ จนก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้

ซึ่งการฝังเข็มจะปักเข็มลงไปตามจุดฝังเข็ม ประมาณ 20-30 นาที การฝังเข็มเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายหรืออวัยวะภายในร่างกายปรับสมดุลหรือฟื้นฟูตัวเอง และในการรักษาอาจมีแนวทางอื่นตามหลักแพทย์แผนจีนร่วมด้วย เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวดทุยหนา นวดกัวซา การปรับอาหารฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็น ทั้งนี้ควรมีการสังเกตและสอบถามอย่างละเอียดระหว่างคนไข้และหมอเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด

ELECTROACUPUNCTURE

การหมุนปั่นเข็มและการฝังเข็มร่วมกับการใช้กระแสไฟฟ้า

เทคนิกการฝังเข็มตามศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ถูกถ่ายทอดและบรรจุในการเรียนนั้น จะมีการหมุนปั่นเข็มระหว่างที่ฝังเข็มร่วมด้วย ซึ่งตามตำรานั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือการช่วยบำรุงคนไข้ในกรณีที่พลังงานพร่อง และการหมุนเข็มเพื่อลดพลังงานที่มากเกินไป ซึ่งในปัจจุบันจะมุ่งเน้นการหมุนปั่นเข็มเพื่อระบายพลังงานที่มากเกินไป ที่อาจเกิดจากความเครียดสะสม การใช้ร่างกายหนัก เช่นการออกกำลังกายหนักเป็นต้น โดยการฝังเข็มร่วมกับการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการพัฒนาที่เกิดในปัจจุบันโดยหนีบที่ตัวเข็มและส่งกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่อ่อนมาก (ไม่ก่อให้เกิดอันตราย) ที่หมอจะปรับความถี่ให้เหมาะสมเสมือน การหมุนปั่นเข็มของหมอ โดยมากจะออกฤทธิ์เพื่อระบายให้คนไข้ผ่อนคลายมากขึ้น การหมุนเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น

ACUPUNCTURE VS CUPPING THERAPY

ปัจจุบันเรามักจะเห็นรอยช้ำเป็นวงกลมๆ ที่บ่า ไหล่ และแผ่นหลังจากการรักษาอาการปวดเมื่อยหรือออฟฟิศซินโดรมได้บ่อยมากขึ้นจากการครอบแก้ว แล้วฝังเข็มกับครอบแก้วแบบไหนเหมาะกับเรา?

ทั้ง 2 แนวทางการรักษาเป็นทางเลือกให้คนไข้ แต่ก็มีความแตกต่างเรื่องผลลัพธ์เช่นกัน การครอบแก้ว (Cupping Therapy) อาจเหมาะกับคนไข้ที่กลัวเข็ม เป็นการรักษาที่ระดับผิวชั้นบนที่ตื้นกว่า เป็นการกระตุ้นการหมุนเวียนเลือดที่กล้ามเนื้อมัดตื้นได้ ระบายของเสียที่สะสมบนกล้ามเนื้อมัดตื้นได้ดี เช่น กรดแลคติก (lactic acid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อออกกำลังกาย หรือนักกีฬาที่ปวดเมื่อยจะช่วยลดความปวดเมื่อยได้ดีมาก ส่วนการฝังเข็มจะรักษา ฟื้นฟูถึงกล้ามเนื้อมัดลึก หรือระดับที่ลึกกว่า เพราะเข็มปักลงผ่านผิวหนังลงสู่ชั้นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อได้  และยังมีหลายขนาดความยาวให้เลือก ซึ่งแต่ละจุดที่ฝังเข็มก็ช่วยปรับสมดุลได้แตกต่างกัน จึงไม่เพียงแต่คลายปวดเมื่อย แต่ยังรักษาโรคอายุรกรรมได้อย่างหลากหลาย โดยอาศัยองค์ความรู้ตามหลักแพทย์แผนจีน

WHAT WOMEN WANT

การรักษาด้วยการฝังเข็มตามศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้น สามารถรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยที่มากกว่าปวดเมื่อย และการฝังเข็มเพื่อความงามอาจจะทำให้สาวๆ ปลื้มขึ้นได้

การฝังเข็มช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่ปกติได้ โดยจะไปกระตุ้นให้ร่างกายปรับฮอร์โมนกลับมามีสมดุล นอกจากนี้อาการนอนไม่หลับหรือความเครียดสะสม รวมทั้งอาหารการกินล้วนมีผลให้ให้ฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากสมดุล 

นอกจากนี้การฝังเข็มเพื่อความงามในประเทศไทยนิยม 2 รูปแบบ คือ ฝังเข็มลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องและระยะเวลาแต่ละบุคคลที่ต่างกัน และการฝังเข็มเพื่อหน้าใส ช่วยแก้ปัญหาสิว  ลดสิวผ่านการปรับฮอร์โมนร่างกาย ที่อาจต้องเพิ่มจุดฝังเข็มบริเวณใบหน้า เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ดูแลอาหารการกิน การพักผ่อน ความเครียด เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของคนไข้เอง

DO & DON’T

คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากรักษาด้วยการฝังเข็ม ข้อห้ามที่สำคัญ

ตามประสบการณ์ของหมอสามารถฝังเข็มได้ตั้งแต่เด็กเล็กในวัยขวบกว่าๆ ที่ไม่สามารถให้ยารักษาโรคได้ หรือเด็กในกลุ่มที่มีพัฒนาการช้า ไปจนถึงคนไข้สูงวัย 80-90 ปี โดยผู้ป่วยเรื้อรังที่ร่างกายอ่อนแอ หรือคนไข้สูงวัยมากๆ เป็นกลุ่มคนไข้เปราะบาง ที่ต้องมีการซักประวัติและระวังมากเป็นพิเศษไม่ต่างจากการรักษาด้วยศาสตร์อื่นๆ ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์นั้นห้ามฝังเข็มเพราะอาจเกิดอันตรายได้  

การฝังเข็มอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น อาจรู้สึกระบม เกิดรอยฟกช้ำหรืออาจมีเลือดไหลซึมออกมาที่จุดฝังเข็ม เพราะไปโดนเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดขนาดเล็กได้ (เหมือนเวลาที่ฉีดยาทั่วไป) ซึ่งไม่เป็นอันตราย สามารถกดให้เลือดหยุดในเวลาไม่นาน หรือรอยช้ำจางหายไปเอง ระหว่างการฝังเข็มหากรู้สึกไม่สบายตัว หรือมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งหมอทันทีค่ะ 

การเตรียมตัวก่อนฝังเข็มแบบมือใหม่ แนะนำว่าให้รับประทานอาหารรองท้องมาก่อน เพราะหากรู้สึกหิวขณะฝังเข็ม ระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อยๆ ลดต่ำลง ส่งผลให้หน้ามืดวิงเวียน ได้ง่ายกว่าปกติ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนมาฝังเข็ม ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมารักษา หากมีรอบเดือนควรแจ้งหมอก่อน ที่สำคัญแจ้งโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อรับการรักษาและปรับตัวหลังฝังเข็มสู่สุขภาพดีอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

Latest Posts

Don't Miss