Thursday, January 23, 2025

5 เช็กลิสต์ที่ควรรู้ ก่อนร่วมส่งแรงเชียร์ทัพนักกีฬาไทยใน Paralympic Game Paris 2024 

จาก Paris Olympic 2024 ส่งไม้ต่อที่ Paralynpic 2024 มหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่คู่ขนานโอลิมปิก ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 8 กันยายนนี้ แน่นอนว่าทั่วโลกต่างรอคอยทุกโมเมนต์สำคัญจากประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส แต่ก่อนจะร่วมชมความยิ่งใหญ่ของพิธีเปิด และร่วมเชียร์ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยสู้ศึกครั้งนี้ แอลชวนเช็กลิสต์ 5 เรื่องไฮไลต์พาราลิมปิกกัน

From Stoke Mandeville Games to Paralympic Games

เรื่องราวเริ่มต้นที่ปี ค.ศ. 1948 เมื่อ Sir Ludwig Guttman นักประสาทวิทยาชาวเยอรมัน ประจำโรงพยาบาล Stoke Mandeville ทางตอนเหนือของลอนดอน มีแนวคิดจัด Stoke Mandevile Games การแข่งขันกีฬาเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพกายและใจของทหารผ่านศึกชาวอังกฤษจากอาการอัมพาตแขนและขา นอกจากนี้ยังเป็นการคืนความหวังและความสุขให้ทั้งผู้ป่วย และครอบครัวของพวกเขา ต่อมาในปี ค.ศ. 1952 จึงมีการจัดกีฬานี้อีกครั้งโดยมีประเทศใกล้เคียงอย่างเนเธอร์แลนด์ร่วมด้วย ทุกๆ 4 ปีการจัดแข่งขันได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น 

กระทั่งปี ค.ศ.1960 ได้มีการปรับเปลี่ยนสู่การแข่งขัน ‘โอลิมปิกคนพิการ’ ต่อท้ายการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปีเดียวกันนั้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี แม้ว่าระหว่างอาจขรุขระแต่สุดท้ายในปีค.ศ. 1988 อีกก้าวสำคัญ เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ร่วมมือกับสหพันธ์กีฬาคนพิการนานาชาติ (ปัจจุบันคือคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล หรือ IPC) เกิดเป็นกีฬาพาราลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว จัดขึ้นทุก 4 ปี 

‘para’ ในคำหน้าจากภาษากรีกที่แปลว่าติดกันหรือเคียงคู่กัน Paralympic จึงหมายถึงกีฬาที่จัดเคียงคู่โอลิมปิกนั่นเอง 

สัญลักษณ์เป็นเส้นโค้งเรียงกันเหมือนพระจันทร์เสี้ยว 3 สีได้แก่ แดง น้ำเงิน เขียว ที่หมายถึงปณิธานแห่งความกล้าหาญ การสร้างแรงบันดาลใจและความเท่าเทียม 

The Paralympic Phryge

พาราลิมปิกจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องภายใต้คำขวัญสากล ‘Spirit in Motion’ ที่สื่อถึงความแข็งแกร่งจากภายในสู่ทุกการแข่งขัน ส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนมีพลังและไม่ยอมแพ้ โดย Paralympic 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 โดยมี ‘Phryges’ เป็นโลโก้และมาสคอตเช่นเดียวกับโอลิมปิก แตกต่างตรงที่ขาของเจ้า ‘ฟรีจีส’ ข้างหนึ่งคือขาเทียมเพื่อเป็นตัวแทนของนักกีฬาพาราลิมปิก 

ฟรีจีสมาจากหมวกแก๊ปฟรีเจียนสีแดง (Phrygian Cap) ที่ดีไซน์ออกมาสดใสน่ารักนั้น เต็มไปด้วยความหมายลึกซึ้งซึ่งสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและการปฏิวัติฝรั่งเศส เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของเสรีภาพและประชาธิปไตยทีชาวฝรั่งเศสภาคภูมิใจในระดับจิตวิญญาณตลอดมาของเขา หากใครนึกไม่ออกว่าขลังแค่ไหน ลองนึกถึงหมวกทรงนักรบที่มารีอานน์ (Marianne) ใส่ปรากฏในภาพวาด Liberty Leading People ภาพเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส โดย Eugene Delacroix อันโด่งดัง 

มาสคอตฟรีจีสมาพร้อมคำขวัญสุดสตรองว่า “Alone we go faster, but together we go further” หรือ ไปคนเดียวนั้นรวดเร็ว แต่ไปด้วยกันย่อมไปได้ไกล(กว่า) สะท้อนความคิดแห่งความสามัคคีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

The Epic Opening Ceremony 

เป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ประวัติศาสตร์ของมหกรรมกีฬาระดับโลก ทำถึงจนสร้างตำนานบทใหม่ทั้งพิธีเปิดและปิดในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 เพื่อความสมเกียรติและศักดิ์ศรีที่ทั่วโลกรอชม พิธีเปิด Paralympic 2024 จัดเต็มความยิ่งใหญ่ในพิธีเปิดร่วม 3 ชั่วโมง (เริ่มต้นที่ 00.40 น. ตามเวลาประเทศไทย) เริ่มต้นด้วยขบวนพาเหรดของประชาชน จากประตูชัยไปตามถนนฌ็อง-เซลิเซ่ หนึ่งในถนนใจกลางย่านธุรกิจสวยงามและหรูหรา ที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนสวยที่สุดในโลก ร่วมด้วย 184 คณะผู้แทนจากทั่วโลก และเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมกับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ (คาดว่า) กว่า 6,000 คน โดยพาเหรดทางการนั้นจะจัดที่ Place de la Concorde หรือจัตุรัสแห่งการปรองดอง นอกจากพิธีการแล้วยังมีการจัดแสดงเพื่อการเฉลิมฉลองนี้อีกด้วย

โดยได้ Thomas Jolly ผู้เดียวกับไดเรกเตอร์งานโอลิมปิกรับบทบาทไดเรกเตอร์งานพิธีเปิดอีกครั้ง พร้อมกับได้ Alexander Ekman นักออกแบบท่าเต้นชาวสวีดิชผู้โด่งดังจากผลงานละครเวทีและโอเปร่ามาร่วมออกแบบการแสดง ที่เจ้าภาพเกริ่นนำว่า “จะเป็นโชว์สุดพิเศษ ที่ผู้ชมจะได้ชมมากกว่าความบกพร่องพิการ แต่คือความงดงามอันทรงพลังของอวัยวะมนุษย์ สรีระและจิตใจของผู้คน” แน่นอนว่างานของโธมัสยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของมนุษย์ การเมือง และความเท่าเทียม และพิธีเปิดนี้จะสร้างความตราตรึงใจให้ผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง 

Boccia & Goalball 

ก่อนส่งทุกคนไปร่วมเชียร์ทัพนักกีฬาไทย เรามาแนะนำประเภทการแข่งขันทั้งหมดในกีฬาพาราลิมปิกกันก่อน โดยในการแข่งขันครั้งนี้จะมีการแข่งขันทั้งหมด 22 ชนิดกีฬา ชิง 549 เหรียญทอง ซึ่งกีฬาแต่ละประเภทไม่แตกต่างจากการแข่งขันโอลิมปิกเท่าไหร่ เพียงแต่อาจมีการปรับกติกาบางประการเพื่อเอื้ออำนวยแก่นักกีฬา เช่น บาสเก็ตบอลมีบ่วงความสูงเท่ากัน แต่นักกีฬาทุกคนต้องนั่งวีลแชร์แข่งขัน กีฬายิงธนู ที่ต้องใช้เท้าในการยิงเท่านั้น การแข่งขันกรีฑาประเภทวิ่ง T12 ของนักกีฬาพิการทางสายตา ที่สามารถเลือกวิ่งให้มีผู้นำวิ่ง(สายตาดี) ได้ 

เรามาถึง 2 การแข่งขันที่มีเฉพาะพาราลิมปิกเกมเท่านั้น เริ่มกันที่ บอคเซีย (Boccia) กีฬาสมัยกรีกโบราณ ที่ปรับแต่งกติกาจนมีความเรียบง่ายและร่วมสมัย ซึ่งการแข่งขันคล้ายกับเปตอง ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย ต้องโยนลูกบอลให้ใกล้เป้าหมายมากที่สุด และ โกลบอล (Goalball) กีฬาประเภททีมสำหรับนักกีฬาบกพร่องหรือพิการทางสายตา (ต้องปิดตาระหว่างแข่ง) ทีมละ 3 คน ฟังเสียงจากกระดิ่งในลูกบอล ช่วยกัน กลิ้ง หรือโยนลูกบอลไปยังเขตลูกตกและเข้าประตูฝั่งตรงข้าม

Thai Para Athletes 

ในส่วนของประเทศไทยกับการแข่งขันพาราลิมปิกนั้นอยู่ภายใต้หน่วยงานหลักอย่างคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย หรือ PCT โดยได้รับการยอมรับจาก IPC และ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ APC ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมพาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1988 ที่จัด ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยสามารถกวาดเหรียญได้ทั้งสิ้น 87 เหรียญรางวัล โดยเป็น 24 เหรีญทอง 29 เหรียญเงิน และ 34 เหรียญทองแดง 

การแข่งขันครั้งนี้ทัพนักกีฬาไทยนำโดย ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ประธาน PCT พานักกีฬา 79 คน สู่การแข่งขัน 15 ชนิดกีฬา เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย

ParaThai X Pipatchara คือไฮไลต์ที่สร้างสีสันให้ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย กับชุดพิธีการที่ได้รับการดีไซน์โดยจาก Pipatchara แบรนด์ไทยมาแรงแห่งปี กับคอนเซ็ปต์ชวนฮึกเหิม ‘Prepare to take off’ พร้อมพุ่งทะยาน ที่ไม่เพียงแต่ดีไซน์เรียบเท่คลาสสิก ยังคำนึงถึงฟังก์ชั่นการใช้งานจริงและสรีระของนักกีฬาแต่ละคน คงคอนเซ็ปต์สีสันของธงชาติไทยอันเป็นเอกลักษณ์ และยังโดดเด่นตามสไตล์ของแบรนด์ที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและลดขยะ เพราะตัวผ้าและเชือกถักมาคราเม่นั้นทำมาจากขยะขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล 100% นำเสนอความเป็นไทยในอีกมุมได้อย่างน่าภูมิใจ

TEXT : NIORNSUK

Latest Posts

Don't Miss