Vacheron Constantin ได้จัดงานนิทรรศการแห่งกาลเวลา ‘From Geometry to Artistry’ ที่รวบรวมและจัดแสดงนาฬิการุ่นหายากของแบรนด์ มาให้ทุกคนได้ชมกันที่บูติกสาขาศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือของเมซงตลอดประวัติศาสตร์สามศตวรรษ วันนี้แอลจะพาไปทำความรู้จักกับเรือนเวลาที่ถูกนำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้กัน
มรดกอันร่ำรวยของเมซง
นาฬิกาที่รวบรวมมากว่า 1,600 เรือนได้รับการคัดสรรโดยแผนกมรดกของ Vacheron Constantin ตลอดจนเครื่องมือและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดยคอลเล็กชั่นในครั้งนี้ยังมีอาร์ไคฟ์ที่ครอบคลุมความยาวประมาณ 420 เมตรที่ทำให้เห็นการเดินทางจากศาสตร์แห่งรูปทรงเรขาคณิตสู่บรรดางานหัตถศิลป์ในตำนาน
จี้นาฬิกาสำหรับสุภาพสตรี ตัวเรือนแพลตินัม ทองคำ ลงยาใส เข้ากับสายสร้อยลงยา – 1910
จี้นาฬิกานี้มาพร้อมกลไกไขลานด้วยมือ ฐานหน้าปัดแพลตินัมประดับลาย Guilloché แบบ Flinqué ด้วยการลงยาใส ด้านหลังของตัวเรือนทรงกลมล้อมเพชร ขอบทองสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดับอัญมณีเพื่อจำลองงานลูกไม้อันวิจิตร สายสร้อยนาฬิกาเป็นข้อต่อรูปสี่เหลี่ยมที่มีการลงยา ขับเน้นความสร้างสรรค์ขององค์ประกอบรูปทรงเรขาคณิตอันซับซ้อน
นาฬิกาสำหรับสุภาพสตรี ตัวเรือนทองคำ ทรง lozenge หน้าปัดสีเงิน – 1915
นาฬิกาเรือนนี้เกิดจากความตั้งใจของ Vacheron Constantin ที่จะปลดแอกจากขนบของนาฬิกาพก ด้วยการออกแบบนาฬิกาให้มีขนาดเล็กลง ทั้งยังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบ Art Déco กลายเป็นนาฬิกาไขลานทรง lozenge สำหรับสุภาพสตรี ที่สะท้อนความใส่ใจในรายละเอียดผ่านตัวเลขอารบิกบอกเวลาที่ใช้ Calligraphy หรืออักษรวิจิตรสไตล์ศิลปะโกธิก
นาฬิกาสำหรับสุภาพสตรี ทรง lozenge ตัวเรือนทองคำล้อมเพชร หน้าปัดไทเกอร์อายแบบ Harlequin-style – 1977
ในทศวรรษ 1970s ได้มีการพัฒนากลไกระบบควอตซ์ที่มีขนาดกระทัดรัดและความแม่นยำมากขึ้น Vacheron Constantin นำเสนอ Calibre 1430 ซึ่งมีขนาดเล็กเข้ากับเทรนด์แฟชั่นในหมู่สภาพสตรี ณ เวลานั้น
นาฬิกาพกแกะสลัก ตัวเรือนทองคำ พิงก์โกลด์ และกรีนโกลด์ – 1825
ในยุคเรเนซองส์ การตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้นานาพรรณเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการผลิตนาฬิกา Vacheron Constantin จึงได้ออกแบบนาฬิกาพกพาที่ประดับด้วยงานแกะสลักอันประณีตบนฝาหลัง ฐานนาฬิกาทองคำฝังพิงก์โกลด์และกรีนโกลด์ ทั้งยังมีการขัดเงาพื้นหลังเพื่อขับเน้นมิติความลึกขององค์ประกอบนาฬิกา
นาฬิกาทรงเหลี่ยม ตัวเรือนทองคำ หน้าปัดทอง – 1955
นาฬิกาที่ประดิษฐ์ขึ้นในโอกาสครบรอบ 200 ปี ที่มาพร้อมกับ Caliber 1003 ซึ่งเป็นกลไกไขลานที่บางที่สุดที่เคยผลิตมา มีขนาดเพียง 1.64 มม. และเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ลิญจน์ (21.10 มม.) หรือมีขนาดเทียบเท่ากับเหรียญ 20 เซ็นต์สวิส
นาฬิกาสำหรับสุภาพสตรีทรงรี ตัวเรือนทองคำประดับเพชร หน้าปัดทอง – 1972
ในช่วงทศวรรษ 1970s ที่เทรนด์แฟชั่นสุภาพสตรีในวงการนาฬิกาเริ่มหันไปให้ความสนใจกับนาฬิทรงรีและทรง lozenge นาฬิกาเรือนนี้ได้รับการออกแบบให้โดดเด่นด้วยหน้าปัดทองล้อมเพชรราวหิมะ พร้อมสายนาฬิกาทองคำแบบบางที่เน้นย้ำความวิจิตรงดงาม
นาฬิกาแสดงเวลาคู่ ตัวเรือนทองคำ หน้าปัดทอง – 1973
เรือนเวลารุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในยุคที่มีการเดินทางข้ามทวีป โดย Vacheron Constantin คิดค้นนาฬิกาที่แสดงเวลาหลายไทม์โซน พร้อมเพิ่ม Calibre 1050 สองกลไก ด้วยการใช้เรขาคณิตเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดด้านเขตแดนและเวลา
นาฬิกาตัวเรือนทองคำ โอนิกซ์ประดับเพชร หน้าปัด Aventurine – 1974
เมซงนำเสนอ Calibre 1120 ซึ่งเป็นระบบไขลานอัตโนมัติซึ่งมีความบางพิเศษ ฐานนาฬิกาทำจากไวต์โกลด์ประดับด้วยโอนิกซ์และโมเสกอาเวนเจอรีน ตรงกลางโดดเด่นด้วยดวงดาวแปดแฉกประดับเพชร ทั้งยังปราศจากเลขบอกเวลาเพื่อเน้นย้ำความสมมาตรอันงดงาม
นาฬิกา Saltarello ทรง cushion ตัวเรือนทองคำ 18K หน้าปัดสีเงินแบบ Sunburst – 2000
นาฬิกาแบบ Jumping-hour ที่ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านเวลาแบบใหม่ มาพร้อมกับเข็มนาทีถอยหลัง หน้าปัดพิงก์โกลด์ 18K โดดเด่นด้วยลวดลายกิโยเช่ที่ไขด้วยมือ บรรจุในตัวเรือนทรงคุชชั่น พร้อมสลักแบบขั้นบันไดที่ยิ่งเสริมเอกลักษณ์ขององค์ประกอบ
นาฬิกา Métiers d’Art Savoirs Enluminés ตัวเรือนไวต์โกลด์ หน้าปัดแกะสลักและลงยา – 2015
หนึ่งในลิมิเต็ดอิดิชั่นจากซีรี่ส์ Métiers d’Art Savoirs Enluminés ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Aberdeen Bestiary ผลงานต้นศตวรรษที่ 13 ถือเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวรรณกรรมยุคกลาง และเพื่อเป็นการยกย่อง เมซงได้เลือกสัตว์สามตัวจาก Bestiary ซึ่งรวมถึง ‘Altion’ ซึ่งเป็นนกทะเลที่มีขนนกอันวิจิตร โดยออกแบบให้ด้วยการลงยาแบบ Champlevé เสริมความงดงามประณีตด้วยการแกะสลักที่ส่วนล่างของหน้าปัด
TEXT: WASAWAT NATPATCHARAKUL