ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทรนด์ Thrifting Fashion หรือการตามหาเสื้อผ้ามือสองมาแต่งตัวให้เป็นลุคที่ดูเก๋ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย เราจะพบคนสร้างคอนเทนต์ด้วยการถือไมค์ไปสัมภาษณ์ว่าลุคนี้ของคุณราคาเท่าไหร่ และหลายๆ คนก็มักจะตอบว่า ‘ได้สิ่งนี้มาจากร้านเสื้อผ้ามือสองและราคามันก็ไม่เท่าไร’ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีแหล่งขายเสื้อผ้าชนิดนี้เพิ่มขึ้นและมันก็กลายเป็นพื้นที่ช็อปปิ้งแห่งใหม่ของวัยรุ่น แต่ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบเทรนด์นี้ แต่มันเป็นเพราะอะไรกันล่ะ?
@whatspoppinshow E313: So fun! #outfits #fashion #nyc ♬ original sound – What’s Poppin? With Davis!
Thrifting และ Fast Fashion คืออะไร?
Thrifting หมายถึง การประหยัด ดังนั้นมันจึงถูกเอามาใช้ในบริบทการตามล่าหาสินค้าราคาถูกและสินค้ามือสอง ร้านค้าที่ขายสินค้าเหล่านี้ก็จะถูกเรียกว่า Thrift Shop โดยเสื้อผ้าก็อาจจะมาจากที่คนบริจาคหรือทิ้งมาจากพื้นที่อื่นๆ ส่วนคำว่า Fast Fashion แปลตามตัวก็คือแฟชั่นที่มาไวไปไว มันถูกผลิตออกมาเพื่อตามเทรนด์แฟชั่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ราคาก็จะถูกเพราะว่าเป็นสินค้าที่ผลิตออกมาจำนวนมาก แต่เมื่อตกเทรนด์ไปก็จะไม่มีใครสนใจที่จะซื้อมันอีก มันจึงเกิดเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในการขนส่งเพื่อจำหน่ายและเป็นขยะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงนิยมเสื้อผ้ามือสอง?
หลายคนอาจมองว่าการใส่เสื้อผ้าต่อจากคนอื่นที่ไม่รู้ที่มาอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่คนรุ่นใหม่กลับมองว่าความสนุกสนานของการซื้อเสื้อผ้าประเภทนี้คือการล่าขุมทรัพย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง บางคนอาจจะเจอเสื้อผ้าชิ้นที่ดีในกองเสื้อผ้าขนาดใหญ่ หรือเจอแบรนด์แฟชั่นชื่อดังในราคาที่ถูกแสนถูก ซึ่งพวกเขาสามารถนำเสื้อผ้าเหล่านั้นมามิกซ์แอนด์แมตช์กับการแต่งตัวได้อย่างหลากหลาย และมันก็ราคาถูกกว่าเสื้อผ้ามือหนึ่งอีกด้วย
นอกจากนี้กลุ่มคนที่ชอบเสื้อผ้ามือสองก็ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตเสื้อผ้าถือว่ามีส่วนในการสร้างขยะและคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ดังนั้นการนำเสื้อผ้าเก่าที่คนเคยทิ้งไปกลับมาซักและดัดแปลงให้มีสไตล์มากยิ่งขึ้นก็ถือว่าเป็นแต้มสองต่อ ทั้งเป็นวิธีรักษ์โลกและได้เสื้อผ้าใหม่ๆ มาใส่ในตู้เสื้อผ้าอีกด้วย
เสื้อผ้ามือสองดีจริงหรือ?
ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยว่าเสื้อผ้ามือสองรักษ์โลก เพราะหลายคนมองว่าเทรนด์นี้อาจเป็นแค่เพียงการฟอกขาวให้ฟาสต์แฟชั่น เพราะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการบริจาคหรือทิ้งมาจากพื้นที่อื่นๆ ก็ไม่ต่างจากการขนส่งเสื้อผ้าจากอีกที่หนึ่งมาขายอีกที่หนึ่งอันก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงปัญหาของการกำจัดขยะของประเทศอื่นๆ มาสู่ประเทศที่รายได้ต่ำ และสุดท้ายการซื้อเสื้อผ้าเก่าราคาถูกจำนวนมาก แต่ไม่ใส่ให้คุ้มค่าตามอายุขัยของเสื้อผ้า ก็ไม่ต่างจากการซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม หากมองในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคส่วนมากไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าที่สั่งตัดมาเฉพาะตัวได้เพราะมันมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion อย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัญหานี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แก้ได้ยาก สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือการใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นให้คุ้มค่าเท่าที่จะทำได้ เพราะถึงแม้มันจะเป็นการใช้สินค้าที่ Fast Fashion แต่อย่างน้อย การใส่เสื้อผ้าให้ทนทานมากที่สุดก็ถือว่าเป็นหนึ่งวิธีลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นจนก่อให้เกิดขยะนั่นเอง
สุดท้ายแล้วคำถามที่ว่าเสื้อผ้ามือสองจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี คำตอบก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมและควรตระหนักอยู่เสมอคือการบริโภคบางสิ่งบางอย่างควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี เสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน การซื้อเสื้อผ้าแต่ละครั้งควรใส่ให้คุ้มค่า ไม่ว่าชิ้นนั้นจะถูกหรือแพง และการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าที่มีอยู่ก็ถือเป็นเรื่องสนุกในการแต่งตัว ไม่แน่ว่าบางทีเราอาจจะได้ลุคใหม่ๆ ที่มันอาจจะกลายเป็นลุคโปรดของเราก็ได้นะ
Cover Photo Courtesy: cottonbro studio / pexels