เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีที่หลายคนรอคอย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม โดยเปลี่ยนจากสมรสชาย-หญิงให้เป็นระหว่าง ‘บุคคล-บุคคล’ เพื่อคืนสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ ให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ พร้อมเร่งส่งร่างพ.ร.บนี้ให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาโดยเร็วที่สุด ถ้าหากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งนอกจากรายละเอียดนี้แล้ว หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่ามันมีรายละเอียดและคีย์เวิร์ดสำคัญอีกอะไรบ้าง แอลสรุปมาให้ฟังแล้วกันอย่างง่ายที่นี่!
1.ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ผ่าน ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศที่สามในเอเชียรองจากไต้หวันและเนปาล ที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานและสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับคืนสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี สิทธิการรักษาพยาบาล รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่การรักษาพยาบาล เฉกเช่นเดียวกันกับคู่รักชายหญิง
2. คำที่เปลี่ยนไป
ในบัญญัติกฎหมายจะมีหลายคำที่เปลี่ยนไป โดยจากการสมรสระหว่างชายและหญิง ก็จะเปลี่ยนเป็นการสมรสระหว่าง ‘บุคคล-บุคคล’ และจากการหมั้น ก็จะเปลี่ยนจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เป็นผู้หมั้นและผู้รับหมั้น เพื่อให้คำศัพท์ในการเรียกครอบคลุมคนทุกเพศนั่นเอง
3. อายุของการสมรสและการหมั้นหมาย
จากเดิมที่อายุขั้นต่ำของบุคคลที่สามารถสมรสหรือหมั้นหมายกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายในวัย 17 ปี ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น 18 ปี เพื่อให้อายุพ้นจากความเป็นเด็กและเป็นการคุ้มครองเด็กในอีกทางหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ก็จะสอดคล้องกับอนุสัญญาและพันธสัญญาสากลที่ว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยที่ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงเหล่านั้นด้วย
4. สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย แต่สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวยังคงไม่เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะตอนนี้ในกฎหมายยังคงใช้คำว่า ‘บิดา-มารดา’ ซึ่งไม่ถือเป็นการครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีการนิยามอัตลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างกันไป การใช้คำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ จะครอบคลุมมากกว่า
บางคู่อาจพอใจกับการใช้คำว่า ‘พ่อ-พ่อ’ หรือ ‘แม่-แม่’ ดังนั้นการเพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ จะตอบโจทย์เรื่องการรับรองสถานะของคู่บุพการี ทั้งยังเติมเต็มสิทธิและความต้องการของคู่สมรสหลากหลายทางเพศที่อยากสร้างครอบครัว มีบุตร หรือรับอุปถัมภ์บุตร และการใช้คำว่า ‘Parent’ ก็ถือเป็นคำกลางๆ ที่ใช้ในหลายประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยก็ควรใช้คำว่า บุพการีลำดับแรก เช่นเดียวกัน ฉะนั้นพ.ร.บนี้ก็ยังคงต้องมีจุดที่ต้องปรับแก้ไขกันต่อไปในอนาคต
5. จากโศกนาฏกรรมในปี 1928 สู่บันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ของปี 2024
ถ้าหากย้อนไปในปี 1928 หรือราวๆ ปี 2471 เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมของคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทย โดยมีคู่รักหญิง-หญิงคู่หนึ่งชื่อถมและช้อย ที่ทั้งสองตกลงปลงใจแต่งงานกัน อยู่ด้วยกันฉันท์คู่รักโดยที่ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรับรู้ อย่างไรก็ตาม ช้อยเคยมีสามีแล้วคนหนึ่ง แต่เลิกกันไปแล้ว ทว่าวันหนึ่งสามีคนเก่าของช้อยก็มาหาและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบแล้วก็กลับไป แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันช้อยก็โดนยิงตายต่อหน้าถม โดยที่ตำรวจก็ไม่สามารถสืบหาได้ว่าใครเป็นคนทำ และเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ศรีกรุงในยุคนั้น
เรื่องราวนี้กลายเป็นเหตุการณ์ของคู่รักเพศเดียวกันที่มีทั้งความเศร้าโศกและน่าสะเทือนใจที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน แต่เรื่องราวนี้ถูกหยิบยกมานำเสนอในสื่อหลักอีกครั้งในปีที่ผ่านมากับซีรี่ส์เควียร์พีเรียดสัญชาติไทยอย่างเรื่อง ‘หอมกลิ่นความรัก’ เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าในโลกใบนี้มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่ทุกยุคทุกสมัย และพวกเขามักจะถูกกีดกันหรือถูกทำร้ายอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันกับคู่รักชายหญิง
จนมาถึงปี 2024 ที่ประเทศไทยกำลังจะมี ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นครั้งแรก ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานหลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แต่มันก็เป็นบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ควรจารึกไว้ว่าทุกอย่างสามารถมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ และถ้าหากพ.ร.บ.นี้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ มันก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยไปตลอดกาลด้วยเช่นเดียวกัน
Photo: pexels