นับเป็นก้าวสำคัญในชีวิตศิลปินของ Riety Pahn หรือ ปั๋น-ดริสา การพจน์ นักวาดภาพหญิงลูกครึ่งไทย-ฮ่องกง ที่ได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยวครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑ์ กีเมต์ (Musee Guimet) พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเสส ซึ่งเธอเริ่มเส้นทางสายศิลปะจากการทำงานในฐานะ Commercial Illustrator ศิลปินวาดรูปตามสั่ง โดยมีลายเส้นผู้หญิงกึ่งสมจริงกึ่งแฟนตาซีที่เป็นเสมือนลายเซ็นที่โดดเด่นของเธอ ก่อนขยับมาสู่วงการ Fine Art สร้างสรรค์ผลงานตามคอนเซ็ปต์แหวกแนวชูเรื่องราวและแนวความคิดโดยมีงานศิลปะเป็นตัวกลาง ก่อนผันตัวมาเป็น YouTuber ภายใต้ชื่อช่อง Riety นำเสนอแงมุมอันน่าสนใจของไลฟ์สไตล์และศิลปะ โดยวันนี้แอลอาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Riety Pahn พร้อมพูดคุยถึงประสบการณ์ครั้งสำคัญของเธอในครั้งนี้กัน
ELLE : จุดเริ่มต้นที่ทำให้หลงใหลในงานศิลปะคืออะไร
RIETY : จุดเริ่มต้นคือวาดรูปมาตลอดตั้งแต่จำความได้ การวาดรูปเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พอโตขึ้นจึงมั่นใจว่าชอบและอยากจะเป็นศิลปินอาชีพ และยิ่งเข้าเรียนในมหาลัยและรู้จักงานศิลปะแบบอื่น ๆ อีกทำให้ยิ่งมีความหลงใหลในการใช้ศิลปะในการเล่าเรื่อง
ELLE : จากศิลปินที่ชอบการวาดภาพ สู่ Youtuber ที่ปัจจุบันมีคนติดตามกว่า 700k คน อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาทำช่องยูทูป และตั้งใจอยากนำเสนออะไรบนช่องทางของเรานอกเหนือจากงานศิลปะบ้าง
RIETY : จริงๆ จุดเริ่มต้นในการทำยูทูปไม่ได้ยิ่งใหญ่เลย เราแค่วาดรูปแล้วใช้เวลากับ process นาน และสมัยนั้นส่วนใหญ่คนจะลงรูปแค่รูปวาดที่วาดเสร็จแล้ว เรารู้สึกเสียดายความสวยงามและสิ่งที่เล่าได้ในช่วงที่ทำ process เลยลองอัดคลิปแล้วพากย์เสียงเล่น ๆ แต่เมื่อทำแล้วมีคนติดตามมากขึ้น ทำให้เราได้แชร์แง่มุมอื่นๆ ของศิลปะ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้มีศิลปะเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะวิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ จึงคิดว่าถ้าเอาศิลปะเป็นแกนกลางแล้วนำไปสู่เรื่องราวอื่นๆ ในโลก ก็เป็นความท้าทายในการทำงานศิลปะในรูปแบบการเล่าเรื่องในยูทูปที่น่าสนใจ จึงนำไปสู่การเดินทางรอบโลกใน 99 วันเพื่อเล่าเรื่องผลงานศิลปะในที่ต่าง ๆ
ELLE : เคยตั้งเป้าหมายไหมว่าอยากให้ผลงานของเรา หรือ ช่องยูทูปของเรา เป็นอะไรสำหรับผู้ชมหรือคนที่ติดตามอยู่
RIETY : อยากให้เป็นงานศิลปะและความรู้ที่กินง่าย เป็นความสบายใจ เราชอบฟังยูทูปตอนทำงาน เหมือนเป็นเพื่อนแก้เหงา เราเลยอยากเป็นสิ่งนั้นให้ผู้ชมเหมือนกัน
ELLE : พูดถึงการแสดงงานที่ปารีส ช่วยเล่าที่มาที่ไปหน่อยว่าโปรเจ็กต์นี้เริ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง
RIETY : โปรเจ็กต์นี้เริ่มจากสองปีก่อนเราเคยวาดรูปที่ Paris Fashion Week แล้วเราประทับใจ Art Scene ในปารีสมาก ปารีสเป็นเมืองที่ Artsy และมีศิลปินเก่งๆ เต็มไปหมด จึงเป็นความท้าทายมากที่จะได้รับโอกาสในการฉายแสงที่นี่ เมื่อเราได้รับข่าวว่ามีมิวเซียมที่โฟกัสด้านศิลปะเอเชียจึงลองติดต่อส่งพอร์ตและไอเดียการจัดแสดงผลงานไป ได้พูดคุยกันหลายคนจนในที่สุดโปรเจ็กต๋นี้ก็เกิดขึ้น
ELLE : ทำไมถึงเลือกนำเสนอผลงานในรูปแบบ Live Drawing Performace? การถ่ายทอดงานศิลปะของเราแบบสดๆ มีคนมายืนชมมันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการวาดภาพในสตูดิโอหรือที่บ้านตัวเองอย่างไรบ้าง?
RIETY : สาเหตุที่เป็น Live Drawing Performance เนื่องจากมีความคล่องตัวมากกว่าในการจัดแสดงสำหรับศิลปินที่มาจากต่างประเทศ และทางมิวเซียมจะได้วัดความนิยมของตัวศิลปินรวมถึงความสามารถในการ engage กับผู้ชมได้อย่างแม่นยำ จริงๆ เราเป็นคนกดดันกับ spotlight มาก เวลาถ่ายคลิปที่สตูดิโอเราอยู่ตัวคนเดียวตลอด เราจึงสบายๆ แต่พอมายืนให้คนหลายร้อยดูสิ่งที่เราทำเอเนอร์จี้มันต่างกัน เราได้รับพลังจากผู้ชมและมีการต้องปรับเปลี่ยนวิธีนำเสนอเพื่อให้เข้ากับคนดูด้วย
ELLE : ช่วยแชร์ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับจากการไปแสดงผลงานที่ปารีสครั้งนี้หน่อย
RIETY : อย่างแรกเลยคือเราไม่เคยรู้ว่าก่อนว่าเรามีแฟนผลงานที่ฝรั่งเศส จึงตกใจมากๆ เมื่อได้เจอ รวมถึงการที่ Minister of Royal Thai Embassy และคณะมาร่วมชมงาน เพราะตัวงานเล่าถึงเรื่องราวของการปรับตัวของคนไทยในต่างแดน ซึ่งตอนวาดรูปเราได้เจอนางแบบของเราตัวจริง ได้สบตา ฟังเรื่องราว ได้วาดรูปในมิวเซียมท่ามกลางงานศิลปะเก่าแก่ที่สวยงาม เป็นเกียรติมากๆ และหลังจากแสดงผลงานเราก็ได้รับการติดต่อจากแกลลอรี่อื่นๆ ต่อและได้ลองทำงานกับวิธีการที่จะเป็นศิลปินในประเทศอื่น ซึ่งเป็นประสบการ์ณที่ใหม่และน่าตื่นเต้นมาก
ELLE SAY
นิทรรศการ ‘Home Is Somewhere, Anywhere’ ที่ว่าด้วยเรื่องการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากก้าวผ่านขีดจำกัดในหลายๆ ด้าน เพื่อไปสู่อิสรภาพที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับแนวความคิดการออกเดินทางตามหานิยามของคำว่า “บ้าน” ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เป็นรากเหง้า ถิ่นกำเนิดที่แท้จริง หรือบ้านบนพื้นที่แห่งใหม่ สะท้อนเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากสิ่งหนึ่งสู่อีกสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ หรือแม้แต่เรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
โดยครั้งนี้เธอเลือกนำเสนอผ่านการผสมผสานงานศิลปะหลากหลายแขนงจนเกิดเป็น Live Drawing Performance ที่มาพร้อมกับ 4 องค์ประกอบคือ การวาดภาพด้วยสีไม้และชาโคล ผสมผสานเทคนิคการวาดภาพพอร์ตเทรตบุคคล เข้ากับเสียงดนตรีและบทสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของผู้ที่ต้องจากบ้านเกิดไปอยู่แดนไกล โควตคำพูดที่ร้อยเรียงเรื่องราวส่วนตัวของบุคคลผู้เป็นตัวแทนของคนไทยในต่างแดน