หากจะพูดถึงวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) ที่ได้มามีบทบาทในสื่อกระแสหลักบ่อยครั้ง จนเกิดการตั้งคำถามว่าเราจะยังเรียกมันว่าวัฒนธรรมย่อยอยู่อีกหรือเปล่า? แน่นอนว่าก็ต้องนึกถึงวัฒนธรรมพังก์ ที่เมื่อใครต่อใครได้ยินคำนี้ก็คงจะนึกภาพออกได้ในทันที แต่ว่าน้อยคนนักที่จะรู้ถึงที่มา ประวัติศาสตร์ และจุดยืนของพังก์ที่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้แอลขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรมพังก์และสิ่งที่พังก์ได้สร้างกันให้มากยิ่งขึ้น
Start with Music
ภายใต้ทรงผมโมฮอว์กสีแสบตาและแจ็กเกตหนังประดับหมุดหนามหน้าตาน่ากลัว คือเรื่องราวของวัยรุ่นที่รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมพังก์นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 70s ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยในสหรัฐอเมริกาได้มีการริเริ่มเรียกแนวเพลงร็อกที่เสียงดังและรุนแรงว่า ‘ดนตรีพังก์ วงดนตรีพังก์เกิดขึ้นมากมายในนิวยอร์ก ขนานไปกับดนตรีป๊อปในสื่อกระแสหลักที่พังก์ตั้งใจมาต่อต้านตั้งแต่แรก
Protested in Punk
สำหรับในสหราชอาณาจักร แม้จะไม่ได้มีวงดนตรีมากมายเท่าสหรัฐฯ แต่ก็ได้กลายเป็นนิยามและสัญลักษณ์ของการขบถแบบพังก์ พวกเขาเชื่อในสิทธิเสรีภาพของตน ต่อต้านรัฐบาล และมีหลักปรัชญาในการใช้ชีวิต แน่นอนว่าสิ่งนั้นก็ได้แสดงออกมาทางแฟชั่นของพวกเขา อย่างเข็มกลัดที่ติดบนเสื้อ คำที่สเปรย์บนกางเกงยีนส์ ล้วนเต็มไปด้วยถ้อยคำและรูปภาพที่ไม่ได้มีแค่เพื่อความสวยงาม ทั้งยังเป็นการ DIY เพื่อต่อต้านการใช้จ่ายกับตลาดเสื้อผ้าอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมที่พวกเขาต่อต้านอีกด้วย
ซึ่งในพังก์ในแต่ละยุคก็มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างในประเด็นที่เรียกร้อง อย่างในช่วงนี้ก็มีการพูดถึงสิทธิของ LGBTQ+ และผู้หญิงมากขึ้น มีการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และยังมีการพูดถึงวิกฤติสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย
@yourmomyara @punk_______ #fyp #foryou #foryoupage #punk #patches #punkpatches #punktiktok #punktok ♬ Cops / Dogs – Destructo Disk
The Icon
ในช่วงปี 1975 นี้เองที่ Vivienne Westwood ดีไซเนอร์ผู้ริเริ่มนำวัฒนธรรมพังก์เข้าสู่กระแสหลัก ได้กลับมาที่ลอนดอนพร้อมกับสามี Malcom McLauren ผู้จัดการวงพังก์ที่ถูกขนานนามให้เป็นตัวพ่อแห่งวงการ ทั้งสองได้เปิดร้านเสื้อผ้า ‘SEX’ ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน Malcom ก็ได้ปั้นวง Sex Pistols ที่ต่อมาได้กลายเป็นนายแบบให้เสื้อผ้าที่ Vivienne ออกแบบเวลาตอนทัวร์คอนเสิร์ต และกลายเป็นวงต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงพังก์ในยุคต่อๆ มา
Punk in Manga
จากอิทธิพลของ Vivienne Westwood และวง Sex Pistols ก็ทำให้เกิดการ์ตูนมังงะญี่ปุ่น NANA จากนักวาด Ai Yazawa อดีตนักเรียนแฟชั่นผู้หลงใหลในเสน่ห์ของวัฒนธรรมพังก์ ที่เล่าเรื่องราวของตัวละครหญิง 2 คนที่ชื่อนานะเหมือนกันบังเอิญมาเจอกันบนรถไฟเพื่อไปโตเกียว ความพิเศษคือนานะคนหนึ่งในเรื่องเป็นนักร้องจากวงพังก์ ที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากแบรนด์ Vivienne Westwood ทั้งตัว อีกทั้งยังพูดถึงวง Sex Pistols อยู่บ่อยครั้ง
Still The Inspiration
ดีไซเนอร์หลายคนที่แม้จะมีสไตล์เป็นของตัวเองที่ชัดเจนในการทำเสื้อผ้า ก็ยังคงหยิบยืมนำสไตล์ของพังก์ไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่าง Moschino คอลเล็กชั่น Fall/Winter 2023 ที่ได้เลือกเอาความพังก์ไปผสมผสานกับชุดออกงานทางการได้อย่างลงตัว อย่างทรงผมเซ็ตคล้ายกับกระจกที่แตก ทางดีไซเนอร์ Jeremy Scott ก็ได้บอกอีกว่า “หลายอย่างที่เราเห็นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมันก็ยากที่จะรู้ว่าอะไรไม่ใช่เรื่องโกหกบ้าง” จากเหตุการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาตอนนั้น
หรือจะเป็น Burberry คอลเล็กชั่น Ready To Wear Fall/Winter 2022 ที่ยังคงความเป็น Burberry ผ่านกระโปรงพลีตและลายพิมพ์ตารางสุดไอคอนิก แต่ก็เพิ่มความพังก์ด้วยบู้ตหนังยาวรัดรูปแจ็กเกตโอเวอร์ไซส์ และคอร์เซ็ตสีชมพู
เรียกได้ว่าทั้งแฟชั่นพังก์และดนตรีพังก์ต่างเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน แล้วยังส่งต่อไปถึงศิลปะศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ‘พังก์’ ก็ไม่ใช่วัฒนธรรมเดียวที่ผูกดนตรีกับแฟชั่นเข้าด้วยกัน เพราะวงการเพลงและวงการแฟชั่นจะยังคงอยู่คู่กันไปเสมอ ส่วนในอนาคตจะเกิดแนวเพลง แฟชั่น หรือวัฒนธรรมอะไรใหม่ๆ ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์แบบพังก์ ก็ล้วนเป็นเรื่องน่าติดตาม
Text: PRYFHA WANNAMAETHANGKOON
Cover Photos: Courtesy of Marc Jacobs, Kronthaler Westwood