เมื่อวิวัฒนาการของวงการแฟชั่นในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่มาพร้อมกันก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งแง่ของมลพิษ การใช้น้ำ และการปล่อยแก๊สคาร์บอน ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเองก็ตระหนักรู้ถึงปัญหาตรงนี้จึงเกิดที่มาของแคมเปญและการร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการทำแฟชั่นให้ยั่งยืนมากขึ้น แต่ในขณะที่ทั่วโลกกำลังร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้กันอย่างหนักหน่วง แล้วสังคมไทยมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
What is ‘Sustainability Fashion’?
Sustainability Fashion หรือแฟชั่นที่ยั่งยืน คือคำที่ใช้เวลาพูดถึงแฟชั่นกับสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้ง โดยตามนิยามที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป หรือ UNECE ให้ไว้ หมายถึง ความเคลื่อนไหวและกระบวนการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงให้กับผลิตภัณฑ์และระบบแฟชั่น ผลักดันไปสู่ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และความยุติธรรมทางสังคมที่มากขึ้นนั่นเอง
Problems of Sustainability in Thai Society
หากจะพูดถึงปัญหาการเติบโตของความยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อสังคมไทยแล้ว ก็ต้องย้อนไปดูถึงการทำความเข้าใจและการยอมรับในขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยหลักๆ 4 อย่าง คือ
1.ภาครัฐไม่ให้การสนับสนุน เอกชนไม่ให้ความสำคัญ
ปัญหาแรกคือการไม่ได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เพราะการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้คนหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในบ้านเราแทบจะไม่มีแคมเปญใหม่ๆ ที่ให้การสนับสนุนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง
2.สังคมขาดความรู้ความเข้าใจอย่างจริงจัง
เพราะประเทศไทยยังขาดการสื่อสารที่ดีในเรื่องของความยั่งยืนอยู่มาก ทั้งจากผู้มีอำนาจและผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมแฟชั่น ส่งผลให้แม้จะมีกลุ่มที่รับรู้ถึงปัญหา แต่คนส่วนมากก็ยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง
3.ไร้ความกังวล
เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจก็ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมักเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่ม และหลักๆ อาจเป็นในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เสีบส่วนใหญ่
4.เลือกซื้อตามเทรนด์
ในแต่ละฤดูกาลที่ผ่านไป (หรือไมโครซีซั่น) ผู้บริโภคอาจถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าเพื่อให้ซื้อสินค้าล่าสุดให้ทันเทรนด์ จนเกิดเป็นการซื้อสินค้าเพื่อนำมาใช้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งไป เพราะไม่ได้ซื้อด้วยความชอบแต่แค่ตามกระแสสังคมเท่านั้น
เมื่อรู้ถึงปัญหาที่ทำให้แนวทางแฟชั่นที่ยั่งยืนไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในไทยแล้ว ก็สามารถย้อนกลับไปสำรวจตัวเองและแก้ไขให้ตรงจุดได้ ทั้งนี้ยังสามารถสนับสนุนแฟชั่นที่ยั่งยืนได้ด้วยการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น, การซื้อเสื้อผ้ามือสอง, ยืดอายุการใช้งานด้วยการซ่อมหรือตัดเย็บเพิ่มตามความจำเป็น และลงทุนกับของที่มีคุณภาพ ที่แม้จะราคาสูงแต่ก็แลกมาด้วยอายุการใช้งานที่นานขึ้น สุดท้ายแล้ว การสร้างความตระหนักและความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง ก็คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงให้แฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง
บทความ Decoding Thai Culture & Sustainable Fashion ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อสังคมไทย จากนิตยสาร ELLE ฉบับ May 2023
Story: Sharry Lucky
Cover Photo Courtesy: corelens, baseimage