ผ่านไปกว่า 15 ปีหลังจากอาจารย์ยาซาว่า ไอ เจ้าของผลงาน ‘NANA’ การ์ตูนโชโจยอดนิยม ประกาศหยุดพักการเขียนจากปัญหาสุขภาพ การ์ตูนนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ติดอยู่ในใจใครหลายๆ คน รวมถึงภาพของตัวละครที่ถูกจดจำในฐานะแฟชั่นไอคอนอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังที่มาของการ์ตูนชื่อดังนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากแฟชั่นสไตล์ระดับตำนานของ Vivienne Westwood และวงดนตรีพังก์สัญชาติอังกฤษ Sex Pistols ที่ถูกปั้นโดย Malcolm McLaren สามีของเธอ


Get to Know NANA
สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักเรื่องราวมาก่อน ‘NANA’ เป็นเรื่องราวความคิดและความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของมนุษย์เรา ทั้งความรัก มิตรภาพ ความฝัน และอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตของตัวละคร และเริ่มต้นขึ้นเมื่อทั้งสองบังเอิญมานั่งข้างกันบนขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าสู่โตเกียว เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ตัวเองวาดฝันไว้

When Punk Meets NANA
ย้อนกลับไปในอดีต วัฒนธรรมพังก์เริ่มเข้ามีบทบาทในสังคมในยุค 70s โดยเริ่มมาจากการแต่งกายฉูดฉาด นิยมใส่แจ็กเกตหนัง เครื่องประดับโลหะ สวมโชกเกอร์ และเริ่มเข้าสู่กระแสหลักด้วยผู้นำทางแฟชั่นอย่าง Vivienne Westwood โดยแฟชั่นนี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นช่วง 90s – 00s และอาจารย์ยาซาว่าเองก็เป็นอดีตนักเรียนแฟชั่นที่ชื่นชอบแฟชั่นสไตล์พังก์ และสะท้อนออกมาผ่านการผสมผสานระหว่างแฟชั่นพังก์กับการ์ตูนโชโจได้อย่างลงตัว ผ่านตัวละครนำคือ 2 สาวนานะ ‘โอซากิ นานะ’ และ ‘โคมัตสึ นานะ’ และได้ปล่อยมังงะตอนแรกออกมาในปี 2000


‘NANA’ The Fashion Icon
สาเหตุที่ NANA ถูกเรียกว่าเป็นแฟชั่นไอคอน เพราะสไตล์การแต่งตัวของโอซากิ นานะถูกสร้างสรรค์ผ่านสไตล์ของ Vivienne Westwood ผู้ถูกขนานนามว่า Mother of Punk ผ่านเครื่องประดับและการแต่งกาย ในขณะเดียวกันตัวละครอื่นๆอย่างเพื่อนร่วมวง Black Stones ของโอซากิ นานะก็มีสไตล์การแต่งตัวและทำผมในลักษณะเดียวกัน รวมถึงวง Trapnest ในเนื้อเรื่องก็มีกลิ่นอายของวงพังก์อย่าง Sex Pistols

‘NANA’ The Feminist Icon
‘NANA’ ไม่เพียงแต่เป็นไอคอนวงการแฟชั่น แต่ยังเป็นการ์ตูนโชโจสะท้อนอุดมการณ์เฟมินิสต์ผ่านตัวละครและการดำเนินเรื่อง โดยนานะทั้งสองมีลักษณะต่างกันสุดขั้ว ‘โคมัตสึ นานะ’ ตัวละครสะท้อนแบบแผนของสังคม เรียบร้อย ปรารถนาที่จะเป็นแม่ พร้อมการแต่งกายสไตล์สาวหวาน มีสีสันสดใส

ในขณะที่ ‘โอซากิ นานะ’ เป็นตัวแทนสะท้อนอุดมการณ์เฟมินิสต์ผ่านการใช้ชีวิตไม่ดำเนินตามกรอบสังคม เป็นอิสระ ไม่ต้องการครอบครัว แต่ต้องการทำตามฝันที่จะเป็น Rock Star พร้อมนำเสนอการแต่งกายสไตล์พังก์ ซึ่งพังก์เคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศอย่างสันติวิธีในยุคหนึ่ง

อาจารย์ยาซาว่าได้แทรกอุดมการณ์เฟมินิสต์ผ่าน ‘NANA’ ได้อย่างลงตัว ผ่านการดำเนินเรื่องราวของตัวละคร ถึงแม้ ‘โอซากิ นานะ’ และ ‘โคมัตสึ นานะ’ จะมีเป้าหมายต่างกัน แต่ทั้งสองก็มีวิธีการต่อสู้กับความยุ่งเหยิงในชีวิตตามฉบับความแข็งแกร่งของตัวเอง สะท้อนอิสระทางความคิดและการใช้ชีวิต พร้อมทั้งผสานความเป็นแฟชั่นพังก์ได้อย่างโดดเด่นจนถูกขนานให้เป็นแฟชั่นไอคอนของคัลเจอร์นี้เลยทีเดียว

TEXT: YANISA LIKHITAPISIT