แอลพาไปล้วงลึกเรื่องราวโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงในภาพยนตร์สั้นลำดับที่ 27 ในโปรเจ็กต์ Miu Miu Women’s Tales ที่ชื่อ ‘I AM THE BEAUTY OF YOUR BEAUTY, I AM THE FEAR OF YOUR FEAR’ โดยผู้กำกับหญิงชาวมาเลย์ Tan Chui Mui
A TALE OF WOMEN’S TALES
Miu Miu สนับสนุนโปรเจ็กต์ภาพยนตร์สั้นในทุกซีซั่น Spring/Summer และ Fall/Winter มาตั้งแต่ปี 2011 โดยตั้งแต่เปิดตัวเรื่อง The Powder Room ฝีมือผู้กำกับหญิง Zoe Cassavetes โปรเจ็กต์ Miu Miu Women’s Tales ก็สร้างหมุดหมายใหม่ที่ทำให้วงการแฟชั่นและภาพยนตร์สร้างแสงส่องถึงกัน นอกเหนือจากการที่ให้เสื้อผ้าประจำแบรนด์ในแต่ละคอลเล็กชั่นได้โลดแล่นผ่านเส้นเรื่อง ทำให้ความงามเชิงสุนทรียศาสตร์และจิตวิญญาณแห่งงานออกแบบตามดีเอ็นเอของ Miuccia Prada เข้าไปอยู่ในบริบทเรื่องราวอันหลากหลาย ยังเป็นการซัพพอร์ตผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นสตรีให้มีแพลตฟอร์มและวิธีสื่อสารแบบใหม่โดยมีแกนกลางคือเรื่องตีความผู้หญิงในศตวรรษที่ 21
มิวเซีย ปราด้าได้ย้ำชัดถึงเจตนารมย์ว่า “ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ฉันหลงใหลมานานและยังเป็นแก่นหลักของการศึกษาของฉันตลอดมา ด้วย Tales เราได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับเหล่าผู้กำกับที่มีความสามารถ: เราได้สร้างบทสนทนาเรื่องโลกแห่งความเป็นผู้หญิงและความทะนง รวมถึงความหมายของสิ่งเหล่านี้ในโลกปัจจุบันผ่านมุมมองของพวกเธอ บทสนทนากับผู้หญิงเกี่ยวกับผู้หญิง” และจากปี 2011 เป็นต้นมา ด้วยเวลากว่า 1 ทศวรรษ ภาพยนตร์สั้นทั้งหมดเสมือนเป็นการตั้งคำถาม พร้อมคำตอบแบบไม่มีที่สิ้นสุด ผู้หญิงยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างไร? พวกเธอส่งอิทธิพลต่อกันอย่างไร? พวกเธอสามารถแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองหรือเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อนได้มากแค่ไหน? คำจำกัดความของผู้หญิงในทุกวันนี้เป็นแบบใด? Miu Miu ณ เวลานี้จึงเป็นที่รู้จักในอีกด้านหนึ่งแล้วว่าได้สร้างพื้นที่เพื่อให้ผู้หญิงได้คิด รู้สึก และตระหนัก ผ่านภาพยนตร์สั้นที่ลึกซึ้งทั้งแง่เนื้อหาและงานภาพ มิใช่แค่เป็นภาพยนตร์แฟชั่นที่เน้นโชว์เสื้อผ้าประจำแบรนด์ในเชิงพาณิชย์
ONCE A UPON A TIME IN SHANGHAI
Miu Miu Women’s Tales ลำดับที่ 27 จัดฉายรอบพรีเมียร์ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ด้วยชื่อเรื่อง ‘I AM THE BEAUTY OF YOUR BEAUTY, I AM THE FEAR OF YOUR FEAR’ ฝีมือผู้กำกับหญิงชาวมาเลย์ Tan Chui Mui โดยแค่ผลงานเดบิวต์ของเธออย่าง Love Conquers All ในปี 2006 ก็กวาดรางวัลจากทั่วโลกไปได้มากมาย นับจากนั้นเธอก็เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่น่าจับตาจากหลายสถาบัน เธอได้เสนอชื่อเข้าชิงสาขา Best Picture จากเรื่อง Barbarian Invasion บนเวที Shanghai International Film Festival Golden Earl Awards ครั้งที่ 24 ในปี 2021 ส่วนในปี 2022 เธอคว้ารางวัลจากเรื่อง Just Because You Pressed the Shutter? ที่งาน Jimei x Arles Discovery Award เรียกได้ว่าในสายผู้กำกับภาพยนตร์หญิงแห่งยุคต้องมีชื่อของตันชุยมุ้ยอยู่อย่างแน่นอน
เรื่องราวของภาพยนตร์สั้นลำดับที่ 27 นี้ พูดถึงหญิงสาวคนหนึ่งผู้มีหน้าที่การงานดีในเซี่ยงไฮ้นามว่า Ding Ding แต่มาวันหนึ่งเพื่อนร่วมงานที่เธอสนิทมากคนหนึ่งได้เลือกจบชีวิตตัวเองลง และนั่นทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างมาก และเลือกหยุดทุกสิ่ง ลาออกจากงาน และหาทางทบทวนความหมายของชีวิตตัวเองอีกครั้ง เธอเปลี่ยนชื่อเป็น Gita และเดินทางมายังประเทศมาเลเซียเพื่อค้นพบสิ่งแปลกใหม่ให้กับตัวเองและจบลงที่การได้มาฝึกศิลปะป้องกันตัวที่ศูนย์แห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยผู้หญิง ผู้กำกับตันเผยว่าเมื่อเธอได้รับการทาบทามเธอก็ตอบรับอย่างไม่ลังเล “มันเป็นหนทางที่ได้สำรวจอะไรบางอย่าง ฉันคิดถึงการได้ลองอะไรสนุกๆ เลยจบลงที่เรื่องราวแนวแอ็กชั่น ให้ดูแตกต่างออกไปจากเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าในโปรเจ็กต์นี้” และเป็นช่วงเวลาพอดีกับที่ก่อนหน้านี้ตัวเธอเองเริ่มเรียนศิลปะป้องกันตัวอย่างบราซิลเลียนยูยึตสู เลยนับเป็นโอกาสอันเหมาะเหม็งที่เธอได้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองอีกครั้ง
PHYSICAL POWER
ตัวละครคีตา ได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มเพื่อนผู้หญิงด้วยกันเอง “ฉันต้องการพัก” คีตาสารภาพ “ฉันต้องการหยุดบ้าง ความเจ็บปวดรุนแรงของเธอจบลงที่การต่อสู้อันไม่อาจหยุดยั้งได้ ไม่มีใครสามารถเอาชนะความโกรธเกรี้ยวพร้อมกรีดร้องของเธอได้ ไม่ว่าจะแข็งแกร่งหรือมีทักษะเพียงใดก็ตาม ผู้รับหน้าที่สวมบทบาทนี้คือ Sdanny Lee ที่ถ่ายทอดการต่อสู้อย่างที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไปตามสัญชาตญาณ ตันเล่าว่าเมื่อเธอได้เริ่มศึกษาศิลปะป้องกันตัวและทำให้เธอ “สนใจถึงเรื่องร่างกายและจิตใจ เริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทั้งสองสิ่งนั้นแยกจากกันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ Michel Foucault อ้างไว้คล้ายคลึงกันว่ามันไม่ใช่ร่างกายของคุณหรอกที่คุมขังจิตใจ จิตใจต่างหากล่ะที่คอยคุมขังร่างกายของคุณเอาไว้”
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทั้งเรื่องจะเน้นไปที่ฉากต่อสู้ เต็มไปด้วยบทบู๊และความสะเทือนอารมณ์จากเหล่าสาวๆ พันธุ์แกร่งที่ Fight Night แม้ว่าคู่ต่อสู้จะเป็นบุรุษเพศก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ “เราจำกัดตัวเองไว้มากเหลือเกิน” ผู้กำกับตันกล่าว “เราลืมคิดถึงร่างกายของเราไป ร่างกายคือทุกสิ่ง ศิลปะป้องกันตัวทำให้ฉันเข้าใจร่างกายของตัวเองดีขึ้น ตอบสนองต่อโลกใบนี้ดีขึ้น เข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น มันไม่เหมือนการเรียนรู้ผ่านถ้อยคำหรือชุดความรู้ มันคือการตระหนักถึงร่างกาย ถึงสิ่งต่างๆรอบตัว คือค่อนไปทางใช้เซนส์เสียมากกว่า” เรื่องเล่าที่พาเราไปสำรวจถึงโปรแกรมปกป้องตัวเองของผู้หญิงในบริบทของสังคมยุคใหม่โดยความเป็นไปได้คือการแสดงออกถึงความแข็งแกร่งเชิงกายภาพ ดูเหมือนว่าสำหรับตันชุยมุ้ยการแสดงออกถึงอารมณ์รุนแรงและการต่อสู้ที่น่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชายอกสามศอกสามารถเป็นทางออกได้เหมือนกันเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต
“สำหรับทุกคน มันอาจจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในชีวิต” ตันกล่าวเสริม “ทำให้ต้องหยุดและเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราทำอยู่คิดถึงความหมายของสิ่งที่ทำอยู่นั้น จุดประสงค์ของมันคืออะไร สิ่งนั้นมันสำคัญขนาดไหน เพื่อความสำเร็จ ชื่อเสียง ความร่ำรวย การขึ้นไปอยู่จุดสูงสุด พอมันมีอะไรเกิดขึ้น คุณจะคอยตั้งคำถาม และคุณต้องหยุด นั่นแหละคือสิ่งที่คีตาทำ แล้วเธอก็เลือกมาหาศิลปะป้องกันตัว”
SPIRITUAL DISCOVERY
แม้ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จะโหมการปลดปล่อยทางอารมณ์อย่างเข้มข้นผ่านการต่อสู้ ทว่าอย่างที่ผู้กำกับหญิงเอ่ยว่าความสัมพันธ์ทางร่างกายและความรู้สึกนึกคิดภายในนั้นแนบแน่นแยกจากกันไม่ออก ดังนั้นเรื่องเชิงจิตวิญญาณจึงมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน การค้นหาทางออกของคีตาอีกอย่างคือการได้ทำความรู้จักกับหญิงขายดอกไม้ชาวอินเดียซึ่งสอนเธอให้รู้จักกับตำนานโบราณของเจ้าแม่กาลี เทพีผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาฮินดูผู้เป็นตัวแทนของกาลเวลา การทำลายล้าง ความตาย และการเปลี่ยนแปลง หญิงขายดอกไม้บอกเล่าว่าเจ้าแม่กาลีคือพระมเหสีของพระศิวะ มารดาของพระพิฆเนศ ไล่ฆ่าเหล่าปีศาจร้ายนับพันนับหมื่นอย่างไม่หยุดยั้งด้วยความโกรธเกรี้ยว ดื่มกินเลือดของปีศาจเหล่านั้น จนพระศิวะต้องยอมทอดพระวรกายลงบนพื้นเพื่อให้เจ้าแม่กาลีเหยียบถึงยอมหยุดและบรรเทาอารมณ์ที่พลุ่งพล่านลงได้ นั่นจึงไม่ต่างอะไรกับซีนต่อสู้ในสังเวียนของคีตา เสมือนว่าคติความเชื่อได้ทาบทับกับความเป็นไปของตัวละคร แนวคิดทางฝั่งเอเชียในเรื่องของเทพเจ้าฝ่ายหญิงที่อาจไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องเฟมินิสม์ถูกนำมาใช้กับภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และผู้เสพภาพยนตร์ทางฝั่งตะวันออกน่าจะเข้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
“ผ่านการต่อสู้กับสิ่งที่เรากลัวที่สุด” ผู้กำกับตันอธิบาย “เราค้นพบความแข็งแกร่งจากภายใน และเราค้นพบความงามของเราเอง” คีตาค่อยๆ สร้างพละกำลังทั้งทางด้านกายภาพและทางจิตวิญญาณ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังว่าจะสามารถสลัดเอาความทุกข์โศกและความอัดอั้นในตัวเองออกไปได้ แล้วแทนที่ด้วยการค้นพบความแข็งแกร่งที่ซุกซ่อนอยู่ และมันอาจจะอยู่ตรงนั้นในตัวผู้หญิงมาตั้งแต่อดีตกาลแล้วก็เป็นได้ อย่างที่มีในตัวเจ้าแม่กาลีตามคติของอินเดีย เจ้าแม่หนี่วาของจีน หรืออามาเตราซุ เทพีแห่งดวงอาทิตย์และเอกภพของทางฝั่งญี่ปุ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในงานเปิดตัวภาพยนตร์สั้นรอบพรีเมียร์ที่ Yongfu C52 ในเซี่ยงไฮ้คราวนี้ นอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์อีก 26 เรื่องให้ชมกันทั้งวันแล้ว ยังมีช่วงทอล์กเพื่อขายขอบเขตความเข้าใจเชื่อมโยงกับภาพยนตร์สั้นของผู้กำกับตันด้วยอย่าง ‘Goddesses, Women and Femininity – Reshaping Female Narrative’ และ ‘Our Bodies: A Tapestry of Luminous Mysteries’
MIIU MIU, EMBRACED
สาธยายเรื่องราวมาทั้งหมด หากจะขาดหัวใจหลักอีกอย่างคือคอสตูมที่ปรากฏในเรื่องจาก Miu Miu คงเป็นไปไม่ได้ เหล่านักสู้หญิงต่างทะมัดทะแมงในเสื้อกล้าม เสื้อโปโล กางเกงขาสั้น ฯลฯ ส่วนบอสเลดี้ที่เป็นภาพในหัวอย่างเลือนรางของคีตาก่อนจะเจออีกครั้งอย่างแจ่มชัดที่ Fight Night ปรากฏกายในชุดสีดำปักเลื่อมระยิบระยับ “ฉันจำได้ว่าเราเริ่มร่างบทตอนเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา แต่เราจำเป็นต้องรอจนถึงวันที่ 2 ตุลาคมซึ่งเป็นวันที่มีโชว์ของคอลเล็กชั่นนี้ เพราะฉันจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าคอสตูมจะเป็นยังไงก่อนที่จะยืนยันเรื่องบทและตัวละครได้ ฉันพอเห็นงานดีไซน์ของ Miu Miu มาแล้วบ้าง และคิดว่าอาจไม่เหมาะกับตัวละครชาวมาเลเซียเท่าไหร่ แต่พอได้เห็นเสื้อผ้าจากโชว์นี้ก็รู้สึกได้เลยว่าแมตช์กับแต่ละคาแร็กเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้” ผู้กำกับตันเล่าย้อนถึงเรื่องเสื้อผ้า จริงๆ แล้วทาง Miu Miu ขอให้นักแสดงนำสวมใส่ชุดของทางแบรนด์แต่เพียงเท่านั้น แต่ผู้กำกับตันเห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้เป็นชุดสำหรับนักแสดงอื่นๆ ด้วย
“เราพยายามให้ตัวละครแต่ละตัวได้แสดงบุคลิกลักษณะของตัวเองออกมา” เธอเล่าต่อถึงการใช้ชุดของ Miu Miu “แต่ละคนก็มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ต่างกัน ด้วยรูปลักษณ์ที่ต่างกัน ซึ่งฉันว่ามันเป็นเสน่ห์ เหตุผลหลักก็คือการทำให้แต่ละตัวละครได้แสดงคาแร็กเตอร์ของตัวเองออกมาให้ได้ค่ะ”
สามารถชมภาพยนตร์สั้น Miu Miu Women’s Tales #27: ‘I AM THE BEAUTY OF YOUR BEAUTY, I AM THE FEAR OF YOUR FEAR’ ฝีมือ Tan Chui Mui นำแสดงโดย Sdanny Lee, Jean Seizure และ Jo Kukathas ได้ทางเว็บไซต์ miumiu.com , MUBI และ YouTube
Do You Know?
หนึ่งในทีมงานที่ทำให้ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นมีสาวไทยอยู่ด้วย ซึ่งก็คือ ภาริณี บุตรศรี โดยเธอรับหน้าที่ Director of Photography อันมีส่วนสำคัญในเชิงวิชวลเป็นอย่างมาก