หนึ่งในซีรี่ส์ยอดนิยมบนที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงว่าเข้มข้นจนหนึบและต้องดูให้จบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คงจะเป็นเรื่อง Queenmaker ทางสตรีมมิ่ง Netflix ที่เพิ่งจะปล่อยออกมาให้คอซีรี่ส์ทั่วโลกได้ชมกัน 11 ตอนแบบม้วนเดียวจบไม่มีค้างคาใจ โดยซีรี่ส์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหญิงสองคนที่มีชีวิตแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งยังไม่ชอบหน้ากันด้วยหน้าที่การงาน เพราะคนหนึ่งเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนที่ปล่อยตัวตามสบายแต่สนใจเรื่องช่วยผู้คน แต่อีกคนเป็นผู้ช่วยดูแลจัดการภาพลักษณ์ของเหล่าคนรวยที่ปกปิดเรื่องราวสีเทา แต่สุดท้ายแล้วพวกเธอก็มาลงเอยด้วยการจับมือกันแก้แค้นคนรวยเหล่านั้นด้วยการลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล
ในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้งนี่เองที่เราจะเห็นความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไประหว่างตัวละคร พวกเธอต้องหัดเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ไวที่สุด แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอก็เรียนรู้ที่จะเปิดใจและพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นเพื่อนกันในชีวิตจริงด้วยการฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ ไปพร้อมกันในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้
นอกจากนี้พวกเธอก็ต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างจากการโจมตีและสาดโคลนจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในหลายๆ ครั้งซีรี่ส์ก็จะฉายฉากที่อาจจะชวนให้เราตั้งคำถามว่า หากเธอเป็นนักการเมืองชาย เธอจะเผชิญกับปัญหาเช่นนี้หรือไม่? เพราะตัวละครต้องเผชิญปัญหาการโจมตีความเป็นผู้หญิงว่าไม่แข็งแกร่งเท่านักการเมืองชาย บ้างก็โจมตีเรื่องความเป็นแม่ เรื่องครอบครัว หรือแม้แต่การถูกตัดต่อใส่รูปโป๊เปลือย
การที่ซีรี่ส์เลือกสร้างตัวละครหญิงขึ้นมาให้ต่อสู้ในโลกที่สังคมมองว่าเกมการเมืองคือโลกของผู้ชาย แต่ตัวละครนี้กลับต่อสู้อย่างไม่ท้อถอยและพร้อมพุ่งชนกับทุกปัญหากลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างพลังให้กับผู้หญิงที่เป็นผู้ชมที่เป็นผู้หญิงได้อย่างทรงพลัง มากไปกว่านั้นแล้วการที่ผู้หญิงในทีมมาช่วยดูแลแคมเปญการเลือกตั้งยิ่งจะเห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่าถ้าหากผู้หญิงต้องการอะไร พวกเธอก็จะร่วมมือกันด้วยความมุ่งมั่นและทำมันให้สำเร็จให้ได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ซีรี่ส์ก็จะฉายภาพว่าผู้หญิงเองก็สามารถเป็นฝ่ายที่ทำร้ายและพร้อมที่จะเหยียบย่ำทุกอย่างเพื่อไปสู่จุดสูงสุด จุดนี้เองที่ทำให้ซีรี่ส์มีหลายมิติ มีความเข้มข้น และน่าติดตามต่อไปอีกขั้น
ในซีรี่ส์ไม่เพียงแสดงให้เห็นแค่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ พวกเขายังฉายภาพการต่อสู้ของแรงงาน คนชายขอบ หรือแม้แต่การแสดงให้เห็นภาพเพศชายในบทบาทตรงข้ามกับค่านิยมของสังคมเกาหลี อย่างตัวละครสามีของตัวเอกก็จะรับบทเป็นพ่อบ้านที่คอยดูแลสิ่งต่างๆ ให้กับครอบครัว ส่วนภรรยาอย่างตัวเอกก็จะออกไปทำงานการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมเกาหลีไม่ค่อยคุ้นชินนัก เนื่องจากผู้คนมักจะคาดหวังให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือนมากกว่านั่นเอง
การสร้างซีรี่ส์ที่เต็มไปด้วยหญิงแกร่งทั้งหมดนี้คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นแค่การทำให้ตัวละครหญิงเท่ขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าติดตามให้เรื่องราวเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าหากเราสังเกตดีๆ จะพบว่าซีรี่ส์เกาหลีพยายามที่จะนำสังคมด้วยการพยายามนำเสนอคอนเทนต์ที่มีทั้งความหลากหลายทางเพศ เสียดสีสังคม การเมือง ระบบทุนนิยม รวมทั้งซีรี่ส์เพื่อนหญิงพลังหญิง หรืออาจจะเป็นซีรี่ส์ที่มีตัวเอกเป็นหญิงแกร่งที่ต่อสู้กับระบบความอยุติธรรมและอคติต่างๆ ในสังคมอยู่เนืองๆ เช่น Search WWW หญิงสาวที่ร่วมมือกันต่อสู้ในโลกเทคโนโลยี, Love to Hate You ที่มีนางเอกเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ กล้าพูดเรื่องเพศ ลบล้างอคติทางเพศต่างๆ, The Glory ตัวเอกหญิงที่เคยถูกบูลลี่และตัดสินใจลุกมาแก้แค้น, Extraordinary Attorney Woo ทนายความหญิงที่เป็นออทิสติก และอื่นๆ อีกมากมาย
ความน่าสนใจมันก็อยู่ที่ว่าซีรี่ส์เกาหลีพยายามทำผลงานที่ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ แต่เกาหลียังมีขบวนการการต่อต้านมูฟเมนต์ของกลุ่มเฟมินิสต์ มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากเพศชาย และมีระบบปิตาธิปไตยที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนานจนอาจจะต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมไปอีกพักใหญ่ แต่การที่ซีรี่ส์เกาหลีพยายามจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์เพื่อนำสังคมให้ไปสู่ในทิศทางใหม่ๆ อย่างกล้าหาญนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและน่าติดตามต่อไปว่าพวกเขาจะสร้างผลงานอะไรที่ท้าทายสังคมออกมาให้ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันอีกครั้งในอนาคต
Photo Courtesy: Netflix