จ๋า-อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน ผู้หญิงที่ชาว LGBTQ+ ยกให้เป็นตัวมัมผู้ตัดสายสะดือนางงามจากเวทีประกวดมิสทิฟฟานี และตัวมารดาที่สู้สุดเหนี่ยวเพื่ออาชีพนางโชว์ เธอปวารณาว่าจะสู้ต่อไปจนกว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้จริง
ELLE: นอกจากผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านเวทีประกวด Miss Tiffany the Original ในไทยแล้ว คุณยังใช้เวทีนางงามผลักดันเรื่องนี้ในต่างประเทศด้วยผ่านเวที Miss International Queen
ALISA: “Miss International Queen ตอนนี้มี 4 ประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์เราคือ บราซิล ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เราทำเวทีประกวดนี้มาตั้งแต่ปี 2004 คนแรกที่ได้มงคือน้องปอย ตรีชฎา เราไม่ได้คิดทำนางงามมาเพื่อเงิน ฉะนั้นเวลาเราจะให้ลิขสิทธิ์แต่ละประเทศ เราจะดูที่ความพร้อมและแพสชั่นในการทำงานในเรื่องความเท่าเทียม เพราะเราเริ่มมาจากการทำให้ดูน่าเชื่อถือและไม่ดูตลก เราไม่ใช่เวทีกะเทยตลก อย่างในปี 2009 นางงามญี่ปุ่นชื่อไอจังเข้าประกวดและได้ที่ 1 กลายเป็นว่าเขาดังมากในญี่ปุ่น คนเราไม่ใช่แค่สวยนะ แต่ต้องมีความสามารถ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างให้คนอื่นรัก หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เปิดกว้างในเรื่อง LGBTQ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เวลาไอจังมาทิฟฟานี่ที่พัทยา คนญี่ปุ่นที่มาดูโชว์จะโค้งให้ไอจังกันหมดเลย เป็นการให้เกียรติเหมือนไอจังเป็นควีน และห้าง Barneys New York ที่กินซ่าก็เคยทำนิทรรศการให้ไอจังในฐานะที่เป็นทรานส์เจนเดอร์คนแรกของญี่ปุ่นที่ได้มงกุฎและประสบความสำเร็จ เราไม่ได้ดีใจแค่กับไอจังคนเดียว เรามองว่าเขาได้เปิดประตูให้กับคนอื่นๆ ด้วย”
ELLE: การเห็นตัวแบบในสังคมคือมี visibility ให้คนเห็นความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ
ALISA: “ใช่ เวทีประกวดทิฟฟานี่มีผู้ชนะที่หลากหลายมากในแต่ละปี ทำให้คนเห็นว่ากะเทยมีนิสัยที่หลากหลายมากเหมือนหญิง-ชาย แต่คนเราชอบไปสร้างภาพจำให้กะเทยว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ กรี๊ดกร๊าด ทะลึ่ง ชอบแอ๊วผู้ชาย ตลก เป็นตัวสร้างสีสัน แต่กะเทยที่โรงละครของเราบางคนเรียบร้อยกว่าเราอีก บางคนก็ซีเรียส ไม่ตลกเลย บางคนก็นิ่งมาก เป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย เราไม่เคยเข้าใจเรื่องการเหยียด LGBTQ จนเรามีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แต่กลายเป็นว่าคนภายนอกดูถูกเราไปด้วยจากการที่เราทำงานกับกะเทย ซึ่งไม่แฟร์เลย เพราะสิ่งที่เราสัมผัสมาตั้งแต่เด็กคือความสำเร็จของกะเทย โลกภายในองค์กรไม่มีปัญหา แต่โลกภายนอกลูกน้องกลับโดนดูถูก พาลูกน้องไปทำงานต่างประเทศเขาขอวีซ่าก็ยาก เราต้องวิ่งเต้นหาเส้น ทำไมเราต้องทำแบบนี้ด้วยในเมื่อเขาก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง เราจึงทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศ ถ้าเรามีความเชื่อในเรื่องที่ถูกต้องก็ทำไปเลย ในที่สุดก็เป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่ลูกน้องเราได้กลับมา ไม่ว่าเพศไหนก็โดนเหยียดได้หมด ฉะนั้นเราทำให้ตัวเองด้วย เพื่อให้อคตินี้หายไปจากโลก”
ELLE: การดูแลคนเหมือนเป็นครอบครัว จนทำให้นางโชว์หลายคนแม้จะมีอาชีพใหม่ที่ประสบความสำเร็จ หรือมีชีวิตคู่ที่สุขสบายแล้วแต่บางคนยังกลับมาทำโชว์ หรือกลับมาเยี่ยมเยือนเสมอ คุณจ๋าซึ่งมีฉายาว่า ‘แม่ของกะเทย’ ทำอย่างไรจึงมัดใจลูกๆ ได้
ALISA: “เรามีลูกน้องเกือบ 200 คน สิ่งที่ทำให้เราจำลูกน้องได้ก็คือความสามารถของเขา แล้วเราก็จะจำชื่อเขาได้ การที่ลูกน้องยังกลับมาเพราะที่นี่คือครอบครัว คือที่ที่ยอมรับเขา เขาเติบโตมาอย่างรู้สึกแปลกแยกมาก พ่อแม่พยายามให้เขาไปเตะบอล ไปต่อยมวย หรืออยู่ในสังคมโรงเรียนที่ไม่มีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ กลายเป็นว่าถ้าเขาไม่โดนกด เขาก็ต้องทำตัวให้ตลกมากๆ เพื่อให้เพื่อนยอมรับ แต่พอมาอยู่ทิฟฟานี่ เขาไม่ต้องพยายาม เป็นตัวเองได้ และแสดงออกในสิ่งที่อยากเป็นได้เต็มที่ จะแต่งหน้า ทำผม แต่งตัว จะแสดงอะไรก็ได้ แต่ในความเป็นสนามเด็กเล่นเขาก็ต้องมีวินัย ต้องซ้อม ต้องมีขั้นตอนการทำงานแบบนี้นะ เหมือนโรงเรียนประจำ เพื่อที่เวลาเขาขึ้นแสดงแล้วจะได้รับเสียงปรบมือ นั่นละคือการที่คนชื่นชมความสามารถของเขา ถ้าเราเป็นนักแสดงแล้วเราสวยและเก่งด้วยนี่คือที่สุด
“เรื่องอิจฉาริษยากันก็มีบ้าง มีทุกสังคม ไม่เฉพาะ LGBTQ ลูกน้องเราทำงานที่นี่เป็นสิบๆ ปี ทำจนตายในหน้าที่ได้เลย เราเลยได้เห็นว่าอยู่ที่วัย บางคนเคยเกลียดกันมาก แต่ 10 ปีผ่านไปกลายเป็นรักกัน เคยได้ยินไหมคำว่า ‘กะเทยตาย กะเทยเผา’ เรื่องอะไรก็ตามในชีวิตของกะเทย คนสุดท้ายที่เป็นพวกเราก็คือกะเทย เกลียดกันแค่ไหนก็มาเผาผีกัน ชีวิตเราจะมีเพื่อนแท้กี่คน แต่ลูกน้องเรามีเพื่อนแท้เยอะมาก เขามีคนร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาเยอะ ทุกข์สุขคล้ายกัน”
ELLE: เคยมีดีเบตที่ว่าการผลักดันวาระทางสังคมบนเวทีประกวดนางงามไม่สามารถผลักดันวาระทางสังคมได้จริง แต่เวทีนางงามคือเรื่องธุรกิจ คุณจ๋าคิดเห็นอย่างไรต่อทรรศนะนี้
ALISA: “เราคิดว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละเวทีและแต่ละปีจะชูประเด็นอะไร แต่ละเวทีจะมีคาแร็กเตอร์ของนางงามของตัวเอง อย่างเวทีเราเป็นเรื่องการลดอคติ เราจะเอาความสวยมาลดอคติก่อนว่ากะเทยก็สวยนะ สิ่งที่เราทำคือให้ความเข้าใจต่อไปเรื่อยๆ จนถึงรุ่นลูกเราอาจจะไม่มองว่าเป็นเรื่องแปลกแล้ว ถ้าสังคมไปถึงจุดที่เกิดความเท่าเทียมจริงๆ เราไม่ทำนางงามแล้วนะ และถ้าสังคมมนุษย์ทำให้ลูกน้องเรามีความสุข งานของเขาจะออกมาดีมากๆ เลย”
ELLE: คุณจ๋าเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้บริหาร แต่ในองค์กรส่วนใหญ่ผู้หญิงที่เป็นผู้นำยังมีอยู่น้อย
ALISA: “แวดวงที่มีหลากหลายน้อยที่สุดคือการเมือง มีผู้หญิงไม่ถึง 10% เราเคยสู้เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 การพัฒนาในทุกมิติต้องมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมไม่ต่ำกว่า 50% โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะทำให้สังคมพัฒนาต้องมีผู้หญิงเข้าไปช่วยกำหนดนโยบาย เช่น สิทธิ์วันลาคลอด จะใช้ความคิดของผู้ชายมากำหนดไม่ได้ หรือจะเอาผู้ชายที่เป็นหมอมากำหนดก็ไม่ได้หรอก ฉะนั้นมันสำคัญมากที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่เอียงไปด้านหนึ่งมากเกินไป”
Words: Suphakdipa Poolsap
บทสัมภาษณ์จากคอลัมน์ ELLE Empowering Women ในนิตยสารแอล ประเทศไทย ฉบับเดือนมิถุนายน 2023