Saturday, March 15, 2025

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของกี่เพ้าผ่านภาพยนตร์ฮ่องกงในตำนาน In The Mood For Love

หากคุณเคยชมภาพยนตร์เรื่อง In The Mood For Love ผลงานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับชาวฮ่องกงอย่างหว่องกาไว นอกจากเรื่องราวความรักต้องห้ามของคู่พระนาง โจวมู่หวัน-ซูไหล่เจิน ที่นำแสดงโดยเหลียงเฉาเหว่ยและจางม่านอวี้ ที่มีทั้งความหวานอมขมกลืนแต่กลับน่าประทับใจอย่างสุดซึ่ง สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจไม่ด้อยไปกว่ากันคือความสง่างามของนักแสดงจางม่านอวี้ในลุคชุดกี่เพ้าตามสมัยนิยมของสตรีฮ่องกงในยุคนั้นที่ตราตรึงใจผู้ชมตลอดกาล

เราอาจกล่าวได้ว่าชุดกี่เพ้าเป็นตัวเอกคนสำคัญของเรื่องนี้ เพราะนอกจากผู้คนจำชื่อหนังเรื่องนี้ได้ กี่เพ้าของซูไหล่เจินก็น่าจดจำไม่แพ้กัน เพราะมันทั้งถ่ายทอดอารมณ์ความรู็สึกเหงา เศร้า เจ็บปวด และตกหลุมรักของตัวละครได้อย่างละเมียดละไม เราจึงอยากจะพาคุณผู้อ่านย้อนเวลากลับไปมองประวัติศาสตร์ของชุดกี่เพ้าผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร ไปพร้อมๆ กับนำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในภาพยนตร์ รวมทั้งการรวมภาพกี่เพ้าหลากหลายแบบไว้ให้เป็นไอเดียในการแต่งตัวสำหรับคุณผู้หญิงที่อยากจะลองแต่งตัวตามคุณนายซูไหล่เจินดูสักครั้งด้วยเช่นกัน

หนังที่ผู้กำกับเอ่ยปากว่าฉากหนังเปรียบเสมือน ‘แฟชั่นโชว์’

ภาพยนตร์เรื่อง In The Mood For Love กำกับศิลป์และออกแบบเสื้อผ้าโดย William Chang ซึ่งเขาและทีมช่วยกันตัดเย็บเสื้อผ้าออกมากว่า 46 ชุด แต่ในหนังเลือกใช้แค่เพียง 21 ชุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หว่องกาไวถึงกับเอ่ยปากในบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะเป็นแฟชั่นโชว์ เพราะจางม่านอวี้เปลี่ยนเสื้อผ้าหลายต่อหลายครั้งในแต่ละฉาก

จากรั้ววังสู่สามัญชน

ต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ว่า เดิมทีแล้วชุดกี่เพ้าคือเสื้อผ้าของราชวงศ์ชิงที่มีชาวแมนจูเป็นคนปกครอง มีแค่ผู้สูงศักดิ์เท่านั้นที่จะสามารถสวมใส่ได้ และเสื้อผ้าก็จะไม่ได้รัดรูปเหมือนกับกี่เพ้าในยุคปัจจุบันด้วย

แต่วิถีชีวิตของชาวแมนจูคือความสมบุกสมบัน ไม่ว่าจะชายหรือหญิงพวกเขาต่างเติบโตมาอย่างเป็นอิสระและไม่มีธรรมเนียมการรัดเท้าสตรีเหมือนกับชาวฮั่นซึ่งเป็นราชวงศ์ก่อนหน้า แต่ผู้นำที่เป็นผู้ชายก็ต้องการแสดงอำนาจว่าพวกเขาสามารถปกครองผู้หญิงได้ พวกเขาจึงให้ผู้หญิงสวมใส่ชุดที่คล้ายกับกี่เพ้าและสวมรองเท้าเกี๊ยะแทน นัยว่าการสวมใส่เสื้อผ้าแบบนี้จะทำให้ผู้หญิงเรียบร้อยมากขึ้น เพราะถึงจะใส่สบายแต่ก็มีความเข้ารูป การใส่เกี๊ยะก็ทำให้เดินไม่เหินไม่สะดวกแต่มีท่าทางแบบเดียวกันกับการรัดเท้า เพียงแต่จะไม่รู้สึกทรมานจากการรัดเท้าหงิกงอเท่านั้นเอง

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อยุคหนึ่งเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ที่ล้มล้างราชวงศ์ชิง แฟชั่นกี่เพ้าที่สงวนไว้เพียงชนชั้นสูงในวังก็ถูกนำไปสวมใส่โดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง พร้อมกับถูกดัดแปลงให้เข้ารูป เน้นสรีระของสตรี ทั้งยังมีการดัดแปลงให้ทันสมัยตามสไตล์ตะวันตกด้วยการตัดเย็บให้มีแขนกระดิ่ง แขนกุด บุด้วยขนสัตว์ หรือผ่าด้านข้างเพื่อโชว์เรียวขาด้วย กี่เพ้าจึงกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมในหมู่สาวๆ เซี่ยงไฮ้จนแพร่หลายไปทั่วประเทศจีนในที่สุด

เมื่อกี่เพ้ากลายเป็นเทรนด์แฟชั่นของสาวฮ่องกง

เวลาล่วงเลยมาถึงยุคสงครามกลางเมือง ชาวเซี่ยงไฮ้ที่มีฐานะมากพอที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานก็ย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกงพร้อมกับนำพาแฟชั่นกี่เพ้านี้ติดตัวไปด้วย เช่นเดียวกันกับเหล่าช่างตัดเสื้อที่มีฝีมือก็อพยพตามไปด้วย แฟชั่นกี่เพ้าจึงไปแจ้งเกิดอีกครั้งที่ฮ่องกงและกลายเป็น Everyday Look ของสาวๆ ฮ๋องกงในยุคนั้น พวกเธอสวมใส่มันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปข้างนอก ไปเล่นไพ่นกกระจอกกับเพื่อนสาว หรือจะไปทำงานก็ตาม ซึ่งหว่องกาไวก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติของพวกเธอจะแต่งตัวดูดีอยู่เสมอและจะไม่สวมใส่ชุดนอนต่อหน้าผู้คน ดังนั้นเราจะเห็นคุณนายซูไหล่เจินใส่กี่เพ้าในวันทั่วไป และผู้หญิงหลายคนในบ้านเช่าก็ใส่กี่เพ้ากันเป็นปกติ

ช่วงยุค 1940s-1970s ถือเป็นยุคทองของกี่เพ้าเลยก็ว่าได้ แต่หลังจากนั้นมันก็ค่อยๆ ซบเซาลงไปเพราะเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกมีอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่คนสวมใส่เป็นชุดในชีวิตประจำวัน มันก็กลายเป็นแค่เพียงชุดสำหรับโอกาสพิเศษหรืองานเลี้ยงเท่านั้น

เรื่องราวที่ซ่อนไว้ในกี่เพ้าของคุณนายซูไหล่เจิน

กลับมาที่เรื่องราวของ In The Mood For Love กันอีกครั้ง ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะฉายในปี 2000s แต่หนังมีฉากหลังเป็นฮ่องกงในปี 1962 ทีมงานคอสตูมจึงต้องทำการบ้านผ่านการดูภาพยนตร์กว่า 300 เรื่องเพื่อศึกษาว่าผู้หญิงยุคนั้นแต่งตัวอย่างไร แฟชั่นที่นิยมเป็นแบบไหน ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงทำให้พวกเขาออกแบบเสื้อผ้าให้เป็นกี่เพ้าเข้ารูปร่าง ตัดเย็บให้เป็นแขนกุดและแขนเสื้อสั้น มีกระดุมติดอกด้านขวา และมีปกคอสูงดังที่เราเห็นกันในหนัง

ซึ่งถ้าหากคุณได้ชมแล้วก็จะเห็นว่าหนังไม่ค่อยมีฉากตื่นตาตื่นใจมากนัก มีแค่เพียงการพูดคุยหรือเดินสวนทางกันบนบันไดแคบๆ ดังนั้นเสื้อผ้าและฉากจึงมีผลต่อการเล่าเรื่องผ่านภาพและการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครเป็นอย่างมาก ชุดกี่เพ้านี้จึงไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆ หรือเป็นแค่เสื้อผ้าที่ซูไหล่เจินสวมใส่ แต่มันคือสิ่งที่บอกเล่าอารมณ์ของเธอในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเธอและเน้นย้ำความสง่างามของเธอให้ชัดเจนขึ้นด้วย กี่เพ้าในเรื่องจึงมีลวดลายที่หลากหลาย ทั้งลายพิมพ์ดอกไม้ เนื้อผ้าสีสันสดใส ลายเรขาคณิตต่างๆ เพื่อให้เข้ากับฉากและอารมณ์ของตัวละครด้วย

หากวันไหนเธออารมณ์ดี เธอจะสวมใส่กี่เพ้าสีสันสดใสหรือลายดอกไม้ หากวันใดอารมณ์ขุ่นมัวหรือว้าวุ่นใจก็จะใส่กี่เพ้าสีเข้มที่ดูไม่สดใส แต่ถ้าบางวันมีความรู้สึกปนเป เหมือนกับอารมณ์ของคนเราที่อาจจะขึ้นๆ ลงๆ เธอก็จะใช้โทนสีที่ขัดแย้งกัน ในขณะที่ผ้าไหมและลูกไม้ต่างๆ ที่อยู่บนชุดเองก็ช่วยเน้นความละเอียดอ่อน ความละมุนละไมให้กับหญิงสาวที่กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก ส่วนคัตติ้งของชุดที่เน้นรูปร่างของสตรีก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเย้ายวนและความหลงใหลเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้วชุดของเธอก็จะช่วยบอกว่าเวลาในภาพยนตร์กำลังเปลี่ยนไป เพราะถึงแม้ฉากจะเป็นที่เดิมๆ แต่การเปลี่ยนชุดของเธอจะช่วยบอกได้ว่าวันหนึ่งผ่านไปแล้วเมื่อเธอสวมกี่เพ้าชุดใหม่

สีสันของชุดก็ช่วยบอกลักษณะอารมณ์และแทนความหมายบางอย่าง เช่น ชุดกี่เพ้าสีเขียวก็มีความหมายสื่อถึงความอิจฉาในตอนที่เธอร้องไห้ ส่วนสีฟ้าก็หมายถึงความเศร้าโศกในตอนที่เธอคิดถึงโจวมู่หวันนั่นเอง

ในบางครั้งสีของกี่เพ้าก็จะเป็นไปตามอารมณ์ของแต่ละฉากด้วย อย่างฉากที่แสดงถึงความรักและความโหยหา กี่เพ้าก็จะเป็นสีโทนร้อน ซึ่งเราจะเห็นจากภาพยนตร์ได้ว่าสีแดงเป็นโทนสีหลักๆ ในการเล่าเรื่องผ่านภาพ เพราะมันช่วยเน้นย้ำอารมณ์และความลุ่มหลงระหว่างตัวละครเพื่อให้สมกับชื่อเรื่องว่า ‘In The Mood For Love’

ในขณะเดียวกัน ชุดกี่เพ้าก็จะกลมกลืนไปกับฉากสภาพแวดล้อมด้วย เช่น หากผ้าม่านเป็นลายดอกไม้ ชุดของเธอก็จะเป็นลายดอกไม้ หากฉากหลังห้องทำงานของเธอเป็นสีเขียว โทนสีเสื้อผ้าก็จะเป็นสีเขียวไปตามนั้น

และถ้าหากเราสังเกตดีๆ จะพบว่าเมื่อซูไหล่เจินกับโจวมู่หวันเริ่มมีความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน เสื้อผ้าของทั้งสองคนจะเริ่มมีสีหรือมีลวดลายบางอย่างที่คล้ายกันเหมือนกับเสื้อคู่ในยุคนี้ด้วย

หนังที่กลายเป็นต้นฉบับของคำว่า ‘กระทำความหว่อง’

จากทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะพอบอกได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง In The Mood For Love เป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ทั้งในเชิงแฟชั่น เชิงงานภาพ หรือองค์ประกอบศิลป์บางอย่าง เพราะงานของหว่องกาไวจะมีลายเซ็นเฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์มาก คนสร้างงานศิลป์ในยุคปัจจุบันจึงได้รับอิทธิพลในการสร้างงานศิลป์มาจากเขาอยู่บ้างไม่มากก็น้อยจนเกิดเป็นคำว่า ‘กระทำความหว่อง’ เช่นเดียวกันกับวงการแฟชั่นที่ดีไซเนอร์บางคนเองก็หยิบยกสไตล์แฟชั่นของหนังเรื่องนี้มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าที่มีกิมมิกพิมพ์ลายดอกไม้เหมือนกี่เพ้าของคุณนายซูไหล่เจินด้วยเช่นกัน

East Meets West

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันกี่เพ้าจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนดังในอดีต แต่กี่มันยังคงมีอิทธิพลแต่แฟชั่นยุคหลังมาโดยตลอด เพราะมันเป็นเสื้อผ้าที่ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อนำเสนอในรูปแบบใหม่บนรันเวย์มาหลายต่อหลายครั้งจากฝีมือดีไซเนอร์ชาวจีนและตะวันตกที่พวกเขาอยากจะนำเสนอมุมมองความงามแบบตะวันออก ฉะนั้นเราจึงเห็นมันทั้งบนรันเวย์และในลุคของคนดังฝั่งฮอลลีวูด จนเราอาจกล่าวได้ว่าแฟชั่นกี่เพ้าสามารถเป็นแฟชั่นที่ผนวกรวมความเป็นตะวันออกและตะวันตกเข้ากันอย่างลงตัว ดังคำว่า East Meets West นั่นเอง

Neo-Chinese Fashion

และยังมีบางสายการบินของประเทศจีนที่ใช้ยูนิฟอร์มสไตล์กี่เพ้าอยู่บ้าง เช่น Hainan Airline ที่เคยเชิญสวี่เจี้ยนซู่ (Xu Laurence) ให้มาร่วมออกแบบยูนิฟอร์มเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งเราจะเห็นว่ามันเป็นการนำเอาแฟชั่นกี่เพ้าที่ยอดนิยมในอดีตมาปรับใหม่ให้ทันสมัย เช่นเดียวกันกับเทรนด์แฟชั่น Neo-Chinese ของเหล่าวัยรุ่นจีนที่ปลุกกระแสแฟชั่นจีนโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็ล้วนแต่ทำให้เทรนด์ของกี่เพ้ายังคงอยู่เสมอ และมันจะยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศจีนไปอีกยาวนานแน่นอน

Neo Chinese หรือ New Chinese Style Fashion

Latest Posts

Don't Miss