เกือบ 2 ทศวรรษที่แบรนด์ SIRIVANNAVARI พัฒนาเติบโตจนก้าวสู่แบรนด์ระดับสากล ระหว่างทางของการก้าวเดินไปข้างหน้าคือเรื่องราวของแรงบันดาลใจอันไม่หยุดนิ่ง และทำให้เหล่าสตรีได้ส่งสิทธิและเสียงของตนออกมาให้เป็นที่ยอมรับ ในโอกาสนี้นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์และซีอีโอของแบรนด์ ทรงร่วมแบ่งปันเรื่องราวกับนิตยสารแอล ประเทศไทย ในคอลัมน์ ELLE Empowering Women
ELLE: ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นองค์ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงมีจุดเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์อย่างไร?
“การเริ่มต้นของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เราเป็นแบรนด์ที่เริ่มต้นจากเด็กผู้หญิงมากๆ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกของแฟชั่น หรือโลกของปัจจุบันเลย เราทำทุกอย่างตามความฝันของตัวเอง ยังคิดอะไรแบบไม่ค่อยมีมิติมาก ตรงไปตรงมา รู้สึกอย่างไรก็ทำไปแบบนั้น ชอบศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ แล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นก็เติบโตมาเพื่อที่จะเข้าใจโลกของความเป็นแฟชั่น ความเป็นสากล เริ่มแข็งแรงในความคิดและประสบการณ์ของตัวเอง เลยเป็นแบรนด์ที่ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาสู่โลกในปัจจุบัน
“อย่างคอลเล็กชั่นแรกที่มีโอกาสจัดแสดงที่ปารีสเมื่อปี 2007 ก็จัดเป็นคอลเล็กชั่นที่โตขึ้น เรารู้สึกถึงคำว่าแฟชั่น รู้จักคำว่าอาร์ต รู้ว่าอุตสาหกรรมมันเป็นอย่างไร เป็นผู้หญิงที่มีไฟมาก พร้อมจะพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา นำความคิดออกมาใช้หมด เผลอๆ จะล้นไปด้วยซ้ำ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต้องพัฒนาตัวเอง เดินไปข้างหน้าตลอดเวลา และเป็นครั้งแรกที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้พูดกับตัวเองว่าฉันจะยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก แสดงสเตตเมนต์ว่านี่คือตัวฉันที่แท้จริง ฉันจะเป็นแบบนี้ ฉันชอบอาชีพนี้ จะอินกับมัน และอยู่กับมันไปตลอด”
ELLE: ทรงมีพระประสงค์ในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่เชื่อมโยงกับแฟชั่นเครื่องแต่งกายอย่างไร?
“ท่านหญิงคิดว่าการที่นำเอาความเป็นศิลปวัฒนธรรม การแสดงความเป็นไทยนั้น เราไม่จำเป็นต้องตะโกน เพราะเราคือคนไทย เราเกิดในประเทศไทย เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรคือความเป็นไทย สิ่งที่น่ากลัวคือเรามีความรู้มากแค่ไหนว่านี่คือแฟชั่นแบบไทย นี่คือศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไทย ‘ไทย’ ในที่นี้เราจะจับเข้ามาเชื่อมโยงกับความเป็นตัวเองได้อย่างไร ผสมเข้ากับแบรนด์อย่างไร แค่ไหนถึงจะกลมกล่อมพอดี
“ยกตัวอย่างไอเดียหลักของความเป็นไทยคือ เราเป็นประเทศที่ใช้วิธีการ ‘ห่ม’ จนเมื่อสมัยที่ตะวันตกเข้ามาเสื้อผ้าจะเป็น ‘แพตเทิร์น’ เมื่อเรารับวัฒนธรรมมาแล้วเราจะปรับอย่างไรให้เป็นรูปแบบของ East meets West และให้เข้ากับปัจจุบัน หรือเข้ากับตัวเรามากที่สุด เช่น วอลูมแค่ไหนดี ควรจะใช้ผ้าไทยแค่ไหน ผ้าไทยของเรามีกี่ชนิด ใช้อย่างไรถึงจะพอเหมาะพอดี คัตติ้ง แบบไหนที่เหมาะกับเรา อย่างคอลเล็กชั่นล่าสุด Autumn/Winter 2023-24 ที่เราไปโชว์ที่โรงแรม Ritz Paris เราไม่จำเป็นต้องตะโกน เน้นเอาแพตเทิร์นใส่ เราใช้การมิกซ์เครื่องประดับให้เหมาะสม แม้กระทั่งหน้า ผม ทำอย่างไรให้มันเข้ากับยุคสมัย ให้ดูเป็นแบรนด์เรา บางทีเราอาจจะไม่ได้นำแรงบันดาลใจจากความเป็นไทย หรือเอเชียมาใช้ เราแค่ใส่ความเป็นตัวของตัวเองเข้าไป นี่คือหลักการที่เราพูดถึงการสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรม”
ELLE: ผู้หญิงประจำแบรนด์ SIRIVANNAVARI จากวันแรกจนมาถึงวันนี้ พระองค์หญิงทรงมองภาพไว้อย่างไร และมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?
“เปลี่ยนแน่นอน สมัยก่อนผู้หญิงประจำแบรนด์จะดรามาติกสุดๆ เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง มีอิสระในตัวเอง มีหลักการในความคิด รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มั่นใจในตัวเอง แต่มั่นใจในที่นี้ไม่ใช่ว่าเซลฟ์แบบล้านเปอร์เซ็นต์ ยังมีความถ่อมตนอยู่ มีความเป็นนักคิด เข้าใจในเรื่องของเฟมินิสม์ แถมยังมีความมาสคิวลินอยู่ในตัว ซึ่งบางทีก็มีมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ เป็นคนที่มีหลักการและเหตุผล ยอมรับกับสิ่งต่างๆ ได้ และถ้าพูดในแง่ของแฟชั่นว่าผู้หญิงคนนี้ชอบใส่อะไรมากที่สุด ผู้หญิงคนนี้ต้องมีแจ็กเกตหนึ่งตัว มีเพนซิลสเกิร์ตหนึ่ง เสื้อยืดหนึ่ง เสื้อเชิ้ตหนึ่ง กางเกงขาตรงหนึ่ง มีกระเป๋ากลางๆ ใบหนึ่ง ที่ข้างในมีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป อะไรที่เกี่ยวกับดนตรี หนังสือหนึ่งเล่มที่ไม่ใช่แบบดิจิทัล มีความสุขกับสิ่งที่ต้องเจอรอบตัว ไม่ว่าจะเศร้าแค่ไหนก็สามารถหาความสุขในแบบฉบับของตัวเองได้
“ในปัจจุบันหลักเลยๆ เราต้องการสร้างแบรนด์ SIRIVANNAVARI ให้แข็งแรง ตัวคอลเล็กชั่นเองก็ไม่ได้ range สูงอย่างเดียว เรามีเกือบทุก range แล้วแต่ลูกค้าเลือกชิ้นไหน ลองนึกถึงว่ามีแม่มากับลูกสาว คุณแม่อาจจะลองเสื้อที่ดูเป็นงานกูตูร์หรือเซมิกูตูร์หน่อย ลูกอาจจะไปลองมินิสเกิร์ต หรือเราอาจจะนำเสนอรองเท้าส้นแบน กระเป๋าใบเล็กๆ สักใบ เขาสามารถเริ่มต้นตรงนั้นได้ ลูกสาวสามารถหากระโปรงหนึ่งตัว กางเกงหนึ่งตัว หรือกระเป๋าหนึ่งใบที่เป็นของแบรนด์ชิ้นแรกในชีวิตได้ บางทีก็เจอลูกค้าที่อยากได้แว่นตาแคตอายส์ ซึ่งมีกลิ่นอายมาสคิวลิน มีความเท่อยู่ เขาอาจจะเป็นผู้หญิงที่ดูบอยๆ นิดหนึ่ง แล้วก็มีลูกค้าหลายคนที่ไปชอบไอเท็มของฝั่ง menswear ที่มีซิลูเอตหลวมๆ เลือกเอามามิกซ์กับฝั่งเสื้อผ้าผู้หญิงแบบนั้นก็มี”
ELLE: แบรนด์ SIRIVANNAVARI ได้จัดแสดงคอลเล็กชั่น Autumn/Winter 2023-2024 ในปารีสแฟชั่นวีกครั้งล่าสุด ณ โรงแรม Ritz Paris พระองค์ทรงได้รับฟีดแบ็กจากเหล่าบรรณาธิการและผู้คนในแวดวงแฟชั่นอย่างไรบ้าง?
“จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 3-4 ซีซั่นก่อนหน้านี้ เราเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าแบรนด์ SIRIVANNAVARI กำลังมีการพัฒนาไปอีกขั้น ท่านหญิงมักจะบอกกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าอย่างไรฉันต้องกลับไปปารีสแฟชั่นวีกให้ได้ แต่การกลับไปต้องเป็นไปตามหลักสากล สินค้าข้าวของทุกอย่างต้องดูดีขึ้น โตขึ้น มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันทีมงานทุกฝ่ายต้องทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราจะไม่ได้แค่ส่งสเตตเมนต์ออกไปหนเดียว เราต้องไปให้สุด ต้องทำตัวให้พร้อมตลอดเวลา เริ่มจากทำปีละ 2 ซีซั่น เมื่อเรายังไม่เก่ง womenswear ของ Autumn/Winter ยังไม่เก่ง menswear เราก็ค่อยๆ ชาเลนจ์ตัวเอง เริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ และทำให้แพลตฟอร์มเป็นแบบอินเตอร์ไปด้วย ซึ่งยอมรับว่ามันไม่ง่าย เราจะต้องไปทำคอลเล็กชั่น 2 ครั้งต่อปีให้ได้
“เราได้ทำงานกับทีมที่ปรึกษาต่างชาติเลยมีมุมมองของความเป็นอินเตอร์เข้ามา รู้ว่าจะต้องเดินไปในทิศทางไหน ในขณะที่ทีมเราก็ต้องเข้าใจด้วย ทำให้คอลเล็กชั่นมีความเป็นตัวเรามากที่สุด เมื่อเป็นตัวเราแล้ว แมตทีเรียลมีอะไรบ้าง มีวูลเท่าไร ลูกไม้เท่าไร ความเป็นไทยอยู่เท่าไร ให้มันแสดงความ ‘nice and simple’ แนะนำตัวเราอย่างชัดเจน ด้วยรูปแบบการจัดแสดงที่ดูจับต้องได้ เราได้ผลตอบรับอย่างดีทั้งจากสื่อ หรือแขกต่างๆ ที่เราเชิญมา รวมถึงคนที่วอล์กอินเข้ามาชม เพราะโชว์รูมของเราติดกับของอีกแบรนด์หนึ่ง คนที่ไปดูแบรนด์นั้นแล้วมาดูของเราก็มีความแปลกใจพอสมควร ทั้งที่เราก็ไม่ได้ตะโกนออกไปว่าแบรนด์ของเราพิเศษ เพราะเรามีความเป็นเจ้าหญิง เราต้องการถ่อมตัวเรื่องส่วนนั้นลงมาให้มาก ในขณะที่ยืนอยู่ในโชว์รูมนั้นก็เพื่อฟังฟีดแบ็ก พยายามที่จะไม่แสดงตัวว่าเราเป็นใครมาจากไหน เราแค่พูดในฐานะว่าเราเป็นดีไซเนอร์ คนที่เข้ามาก็รู้สึกชอบ มีบายเออร์ทั้งจากตะวันออกกลาง ยุโรป หรือฝั่งละตินอเมริกาเข้ามาชม
“และล่าสุดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ก็มีดาราฝรั่งเศส นางแบบดังระดับโลกหลายคน ใส่ชุดของเรา เขาชอบซิลูเอต ชอบวอลูม และเขาแปลกใจว่าเราใช้แมตทีเรียลได้อย่างเหมาะสม เราไม่ตะโกนว่ามันคือไทยมากเกินไป เขาชอบที่ตัวงาน ชอบสไตล์โดยรวม ในความเป็นเฟมินิน”
ELLE: พระองค์หญิงทรงมีแรงบันดาลพระทัยในการออกแบบอย่างไร?
“ท่านหญิงคิดว่าแล้วแต่เคสค่ะ ต้องอาศัยจินตนาการล้วนๆ บวกกับจริตจะก้านในแบบตัวเองพอสมควร ขึ้นอยู่กับมู้ดของตัวเองและสิ่งที่ตัวเองสนใจ ณ เวลานั้นๆ สมมติว่าเราเป็นไดเร็กเตอร์สร้างภาพยนตร์สักเรื่อง เราจะทำอย่างไร แล้วท่านหญิงยังเป็นคนที่ชอบค้นคว้า เวลาเขียนหนังสือก็จะเป็นคนที่มีความโรแมนติก โดยโรแมนติกมันมีทั้ง 2 ขั้วคือ เรื่องของความรัก กับในส่วนที่เป็นด้านมืด เพราะฉะนั้นจึงแล้วแต่ว่าเราจะจับด้านไหนมาใส่ เหมือนเราเขียนหนังสือสักเล่ม เราคิดว่าจะเริ่มจากอะไรดี เราสนใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เรื่องราว คาแร็กเตอร์ของคอลเล็กชั่นนั้นๆ ดูน่าตื่นเต้น เพิ่มรายละเอียดอะไรเข้าไป
“หากถามว่าคอลเล็กชั่นแต่ละคอลเล็กชั่นสะท้อนภาพของผู้หญิงแบบไหน ท่านหญิงรู้สึกว่าผู้หญิงมีหลายอารมณ์นะ แต่อยู่กับเขาอย่างไรให้ไม่เบื่อ ให้ได้ทุกรสชาติ ให้ได้รับพลังบวกจากเขา เป็นพลังบวกที่ไม่จำเป็นต้องกรันจ์เกิน หรือหยาบกระด้าง เป็นผู้หญิงที่มีความเสียสละ มีความรักที่มั่นคง ยอมรับในความผิดได้ มีเหตุมีผล”
ELLE: จากพระปณิธานในการสนับสนุนผู้หญิงในทุกด้านผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ภายใต้ความหมายของ ‘Empowering Women’ ทั้งภายใต้การบริหารงานของแบรนด์ SIRIVANNAVARI และในพระกรณียกิจ พระองค์หญิงทรงมีแนวพระดำริอย่างไร?
“เราเป็นแบรนด์ผู้หญิงที่ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันพอสมควร การทำแบรนด์ของเรา เราต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับประเทศชาติ โดยใช้ความรู้ความสามารถที่มี ช่วยไปถึงครอบครัวของเหล่าผู้หญิงอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่กลุ่ม LGBTQ+ เราตั้งใจใช้อาชีพและแบรนด์ของเราสื่อสารทำความเข้าใจกับเขา อย่างเช่นโปรเจ็กต์สำคัญของปีที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้คือ การช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ในชื่อ ‘Princess Collection’ Project เราร่วมกับ Wacoal ออกแบบชุดชั้นในเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ เราออกแบบเองทั้งหมด ทั้งชุดชั้นในแฟชั่นและชุดชั้นในสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระดมเงินให้มูลนิธิกาญจนบารมี ที่เป็นมูลนิธิช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง และเน้นการออกตรวจเมมโมแกรมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และยังใช้สัญลักษณ์ของโครงการออกแบบชุดลำลองให้กับมูลนิธิ เพื่อวางจำหน่ายหารายได้ และเงินอีกส่วนจะบริจาคให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติอีกด้วย
“อย่างชุดชั้นใน Balancing Bra ของผู้ป่วยหญิงที่ต้องตัดหน้าอกไป เราก็หวังว่างานออกแบบของเราเมื่อเขาใส่แล้ว เขาจะรู้สึกมั่นใจ มีพลังใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และยังมีชุดชั้นในที่ผู้หญิงพลัสไซซ์ก็สามารถใส่ได้
“ส่วนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรายังมี ‘Pride Collection’ ที่นำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้โครงการ Princess PrEP ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ช่วยเหลือผู้ป่วยเอชไอวีหลายๆ ท่าน ที่ต้องได้รับยาในแต่ละเดือน แม้กระทั่งงานผ้าที่ช่วยชุมชน ช่วยลึกลงไปถึงผู้หญิงที่เป็นชาวมุสลิม ผู้ที่ต้องหล่อเลี้ยงชุมชน ดูแลครอบครัว หรือเด็กที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ได้มีอาชีพเลี้ยงชีวิตตัวเองต่อไป ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าเรามีความรู้ความชำนาญด้านไหน เราก็ไปสอน ไปให้ความรู้พัฒนาเขา อย่างสอนงานด้านผ้า งานผลิตสี”
ELLE: พระองค์หญิงทรงอุทิศพระองค์ในการสนับสนุนผ้าไทย และกลุ่มสตรีผู้ทอผ้าไทยทั่วประเทศ ตามรอยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากการเสด็จฯ ไปยังพื้นที่ต่างๆ พระองค์ทรงได้รับความรู้ความเข้าใจจากกลุ่มสตรีเหล่านั้นอย่างไร?
“ท่านหญิงรู้สึกว่าพวกเขาต้องมี ‘อาชีพ’ เลี้ยงดูครอบครัว บางคนผ่านการทำร้ายตบตีจากสามี แต่ว่าเขามีเงินมีรายได้ ส่งลูกเรียน มีเงินค่าขนมให้ลูก บางคนปลดหนี้ได้ นั่นคือการสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืน และเป็นปณิธานของท่านหญิงเองที่ว่านอกจากเราสร้างแบรนด์ หารายได้ให้กับตัวเอง เลี้ยงดูคนในบริษัทแล้ว เราต้องสอนให้เขาทำบุญ ทำกุศล มีความเมตตากรุณาให้กับผู้อื่นบ้าง พยายามเข้าอกเข้าใจคนเหล่านั้น ให้โอกาสกับทุกคนทุกเพศทุกวัย ไม่เพียงเฉพาะผู้หญิง”
ELLE: เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์หญิงทรงมีพระปรีชารอบด้าน ทั้งด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา รวมถึงทรงให้การสนับสนุนองค์กรต่างๆ อาทิ Royal Bangkok Symphony Orchestra, SIRIVANNAVARI Atelier and Academy, มูลนิธิอารยศิลป์, งานผ้าไทยต่างๆ ในฐานะสตรี พระองค์หญิงทรงใช้อะไรเป็นแรงขับเคลื่อน และทรงพบอุปสรรคในเรื่องขีดจำกัดทางเพศอย่างไร?
“ถ้าอุปสรรคเรื่องเพศ เราโชคดีที่ครอบครัวเปิด เรามีสมเด็จย่าที่เป็นไอดอล ท่านทรงงานหนักมาก ทรงให้แรงบันดาลใจในเรื่องการดูแลชุมชน นอกจากนั้นคือพระองค์ภา (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา) ที่่ทรงให้แรงบันดาลใจ ทรงเป็นที่ปรึกษาให้กับท่านหญิงในหลายเรื่อง ท่านทรงริเริ่มในเรื่อง ‘Empowering Women’ ในแง่ของความยุติธรรม เพราะฉะนั้นเลยมีอะไรหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิตเราค่อนข้างมาก บวกกับว่าเราเป็นนักกีฬาทีมชาติด้วย ความอดทนเลยค่อนข้างสูง วินัยสูงมาก ยังโชคดีตรงที่ปัจจุบันท่านหญิงเล่นกีฬาขี่ม้า ซึ่งเป็นกีฬาที่ผู้หญิงและผู้ชายสู้ด้วยกัน มีความยุติธรรมในเรื่องเพศอยู่
“ส่วนอุปสรรคอื่นๆ แน่นอนค่ะ มันมีเยอะทีเดียว บางทีมากจนทำให้ท่านหญิงเหนื่อย ล้า บางครั้งทำให้คิดว่าทำไมต้องมาตัดสินเรา ท่านหญิงอยู่ตรงสปอตไลต์ มีความมั่นใจในตัวเอง จนอาจเกิดเป็นความหมั่นไส้ บางครั้งเราโดนติเตียน โดนบูลลี่ แน่นอนว่ามันต้องเกิดอารมณ์ เสียใจ เหมือนที่เวลาทุกคนโดน บางทีคิดว่าเขาไม่ควรตัดสินเราในเรื่องที่เขาไม่ทราบ เราก็ต้องเก็บอารมณ์ไว้ ต้องอดทนมากๆ และปล่อยไป มีรู้สึกท้อแท้บ้างแต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เรายังมีเพื่อนที่ดี มีคนทำงานที่เข้าใจเรา พวกเขาเหล่านั้นก็จะพยายามพาเราออกจากจุดนั้นๆ ให้เราไปสูดอากาศ ล่าสุดท่านหญิงก็พาหมาไปเดินในสวน ออกไปกินข้าวข้างนอกบ้าง ทำกับข้าวกินเองบ้าง หันไปดูประวัติศาสตร์ หาหนังสือมาอ่านสักเล่ม หันไปอยู่กับคนที่ให้พลังบวกกับเรามากๆ”
ELLE: ในปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นรู้ถึงคุณค่าของสตรีเพศผู้ทำงานในสายงานออกแบบแฟชั่นมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นองค์ดีไซเนอร์ของ SIRIVANNAVARI ทรงมีคำแนะนำให้กับกลุ่มสตรีในเจเนอเรชั่นใหม่ที่เลือกเดินในสายอาชีพนี้อย่างไร?
“หากอยากเข้ามาในวงการแฟชั่นต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าอยากเข้ามาทำอะไร แฟชั่นมีหลากหลายมิติ ทำงานในนิตยสาร ทำพีอาร์ หรือสายธุรกิจแฟชั่น วงการนี้เป็นวงการที่ให้โอกาสกับทุกเพศทุกวัย ถ้าอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ทำแบรนด์แบบท่านหญิง ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าฉันต้องทำอะไรบ้าง ต้องศึกษาอะไร หาจุดขาดตกบกพร่องของตัวเอง และศึกษาเพิ่มเติม วงการแฟชั่นเป็นวงการที่สนุก ทำแล้วต้องมีความสุข แต่ต้องอดทน เพราะว่าทุกอย่างไม่ได้สวยงามในทุกๆ วัน ต้องรับทุกความกดดันและปรับตัวเองให้ได้ ไม่ทำตัวเฟียร์สเกิน จะอยู่ได้ไม่นาน และที่สำคัญอย่าไปด้อยค่าคน เพราะสิ่งนั้นจะสะท้อนกลับมาหาเราเอง”