หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การทำเสื้อผ้าในโลกแฟชั่น ขนสัตว์เป็นวัสดุหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากภาพวงการแฟชั่นเลยไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย แต่อย่างไรก็ตาม มีคนบางส่วนที่เล็งเห็นปัญหาการทรมานสัตว์จากอุตสาหกรรมนี้ และเริ่มเคลื่อนไหวกดดันต่อต้านกันอย่างเข้มข้นขึ้นในทุกวัน บวกกับกระแสรักษ์โลกที่เริ่มเป็นกระแสหลักที่เหล่าคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักและเป็นหนึ่งในปัจจัยการเลือกใช้และบริโภคสินค้าต่างๆ แบรนด์แฟชั่นจึงหันมาปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบปัญหานี้ด้วย
สาเหตุที่ขนสัตว์ถูกนำมาเป็นหนึ่งในวัสดุการผลิตที่สำคัญ เนื่องมาจากมันสามารถให้ความอบอุ่นกับผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีความโดดเด่นในด้านอายุการใช้งานที่มีความคงทน และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือ ขนสัตว์นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือบ่งบอกพลังอำนาจ ใครใส่ก็ดูดีมีฐานะ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตมีแบรนด์แฟชั่นมากมายที่ใช้ขนสัตว์ในการผลิตอย่างต่อเนื่อง
แต่เมื่อเสื้อผ้าขนสัตว์เป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้น เป็นที่แน่นอนว่าสัตว์ต่างๆ อาจถูกกระทำอันตรายเพื่อประโยชน์ของมนุษย์มากขึ้นเช่นกัน และในขณะเดียวกันกระบวนการสังเคราะห์ขนเทียมได้มีความก้าวหน้า ทำให้คุณภาพการให้ความอบอุ่นและสัมผัสนั้นสามารถทดแทนขนสัตว์แท้ได้อย่างไม่มีข้อกังขา ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ย้ำว่า การใข้ขนสัตว์แท้นั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป
เป็นเรื่องน่ายินดีที่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกได้ตอบรับเสียงเหล่านั้น และเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา อาทิ การปรับตัวเรื่องวัสดุในการผลิตตามกระแสสังคม พร้อมทั้งประกาศเข้าร่วมกลุ่มรณรงค์สวัสดิภาพสัตว์และส่งเสริมการใช้ขนเทียมในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่าง Fur Free Alliance ทั้งยังมีมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงของ Calvin Klein ในปี 1994 นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่วงการแฟชั่นระดับโลกได้ตระหนักรู้และเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ประกาศเลิกใช้ขนสัตว์แท้ในการผลิตสินค้าถาวร รวมไปถึง Stella McCartney ที่เริ่มหันมาผลิตแฟชั่นจากวัสดุที่รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา จนปัจจุบันเธอก็กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งแฟชั่นสีเขียวไปโดยปริยาย จนเมื่อในปี 2021 ตามมาด้วยแบรนด์ดังอื่นๆ อย่าง Ralph Lauren และ Vivienne Westwood ที่ยกเลิกการใช้ขนเฟอร์ในการผลิตในช่วงปี 2006-2007

เรื่อยมาจนถึงปี 2018 ยังคงมีแบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่ยกเลิกการใช้วัสดุจากสัตว์กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Coach, Bottega Veneta, Versace, Balenciaga, Alexander McQueen รวมไปถึง Burberry ที่ประกาศยกเลิกการเผาสินค้าที่ขายไม่ได้ไปพร้อมกับการอำลาการใช้ขนเฟอร์ ส่วนด้าน Chanel ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้หนังสัตว์ด้วยเช่นกัน
ทางด้าน Karl Lagerfeld และ Prada ที่ได้รับแรงกดดันจากเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่มีการใช้ขนสัตว์อีกต่อไปในปี 2019 โดยหมายรวมถึงบริษัทในเครือของ Prada อันประกอบไปด้วย Miu Miu, Church’s และ Car Shoe ก็จะยุติการใช้วัสดุเหล่านี้ด้วย
อีกหนึ่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ Donatella Versace ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนโดยกล่าวถึงกรณีการใช้ขนสัตว์ว่า เธอไม่ต้องการฆ่าสัตว์เพื่อแฟชั่น กระทั่งปี 2021 Versace ได้บอกลาการใช้ขนสัตว์ในสินค้าทั้งหมดอย่างสมบูรณ์
แบรนด์แฟชั่นกันหนาวก็ไม่น้อยหน้า โดยเมื่อต้นปี 2022 ด้าน Moncler จากอิตาลีได้ประกาศยุติการใช้ขนสัตว์แท้ในการผลิตเสื้อผ้าภายในปี 2024 โดยคอลเล็กชั่นสุดท้ายที่จะมีขนสัตว์แท้ประกอบอยู่นั้นจะเป็นคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2023 และมีนโยบายในส่วนกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อธรรมชาติอื่นๆ อีก เช่น ผลิตไนลอนจากขยะพลาสติกในทะเล พร้อมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และหลังจากนี้แบรนด์จะมุ่งหน้าทำงานร่วมกันกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าของอิตาลีในฐานะแนวร่วมของเครือข่าย Fur Free Alliance
แม้ว่าตามข้อมูลล่าสุดจาก Humane Society International (HSI) องค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเผยว่ามีแบรนด์แฟชั่นกว่า 1,600 แบรนด์ทั่วโลกที่เข้าร่วมการยกเลิกการใช้ขนสัตว์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีเสื้อผ้าบางแบรนด์ เช่น Ferragamo, Fendi, Celine, Dior, Louis Vuitton, Givenchy และ Hermès ที่ยังคงใช้ขนสัตว์และหนังสัตว์ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ ทางแบรนด์ระบุว่าการนำขนสัตว์มาใช้จะเป็นไปตามหลักนโยบายของสวัสดิภาพสัตว์อันเข้มงวด ให้การรับรองว่าจะไม่มีทำอันตรายต่อสัตว์ในทุกๆ กระบวนการโดยไม่จำเป็น และจะปฏิบัติกับสัตว์ทุกตัวอย่างมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้
และเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ในฐานะสื่อผู้ข้องเกี่ยวกับวงการแฟชั่นโดยตรงอย่าง ELLE ได้มีการลงนามร่วมกับ Humane Society International และประกาศอย่างชัดเจนว่า ELLE ในทุกประเทศจะทำการแบนขนสัตว์แท้บนทุกแพลตฟอร์ม โดยจะไม่มีการเผยแพร่ภาพเสื้อผ้าใดๆ ที่มีขนสัตว์แท้เป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นทางนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ช่องทางใดก็ตาม
ELLE Thailand จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดกับเพื่อนสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมบนโลก อันเป็นปัญหาที่มนุษย์เราสามารถร่วมกันแก้ไขได้ และอาจเป็นที่น่าจับตามองร่วมกันต่อไปในวงการแฟชั่นว่า จะมีแบรนด์ไหนตบเท้าเข้าร่วมการแบนขนสัตว์เพื่อธรรมชาติที่ยั่งยืนอีกในอนาคต
Cover Photo Courtesy: IMAXtree