Wednesday, January 15, 2025

ถอดรหัสแฟชั่นในสัญญะแห่งการต่อต้าน เครื่องมือสากลที่ใช้ขับเคลื่อนสังคมอย่างสันติวิธี

เราไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าแฟชั่นกับการเมืองเป็นของคู่กัน ตั้งแต่อดีตการสื่อสารเรื่องสังคมผ่านไอเท็มและเครื่องแต่งกายถูกใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะผ่านรูปแบบการใส่ สี ลวดลาย หรือแพตเทิร์นต่างๆ วันนี้แอลจะมาพาย้อนรอยแฟชั่นในอดีต ชวนดูประเด็นใดบ้างที่ใช้แฟชั่นในการสื่อสาร

Denim : The symbol of The Civil Rights Movement

ในอดีตมีการแบ่งชนชั้นทางสังคมกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีผิวที่แตกต่างยิ่งถูกเลือกปฏิบัติ ย้อนกลับไปช่วงปี 1950-1960 คนผิวดำในอเมริกาลุกขึ้นต่อต้านการแบ่งชนชั้นและต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ผ่านการสวมใส่เสื้อผ้าทำจากเดนิมตลอดการประท้วง ซึ่งในยุคนั้น ‘เดนิม’ เป็นสัญลักษณ์แทนคนผิวดำ ชนชั้นแรงงานที่ต้องใส่เสื้อผ้าคงทนต่อการทำเกษตร และจากการเรียกร้องในยุคนั้น นำมาสู่กระแส #BlackLivesMatter ในปี 2020 แฮชแท็กแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดชนชาติและสีผิว

Punk : Emphasizing Non-conformity

‘พังก์’ วัฒนธรรมย่อยที่เกิดขึ้นในปี 1970 ถูกใช้เป็นสัญญะในการต่อต้านทุนนิยมและการกดขี่ชนชั้นล่าง เน้นการแต่งกายจัดจ้าน แต่งหน้าและแต่งตัวโทนสีดำ ทรงผมฉูดฉาด สวมเครื่องประดับเงิน นำเสนอแนวคิดการหลุดกรอบ เพื่อแสดงออกถึงการท้าทายแบบแผนของสังคม

หลายคนคงคุ้นชินกับ Vivienne Westwood แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้เป็นไอคอนของวงการแฟชั่นพังก์ ผ่านรูปแบบเสื้อผ้า การสกรีนคำ รวมถึงลวดลายต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้นำความพังก์เข้าสู่แฟชั่นกระแสหลัก โดยการเกิดขึ้นของพังก์ ทำให้ประชาชนในยุคนั้นกล้าที่จะแตกต่างและตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว

Genderless Style : More than fashion is Gender Equality

ครั้งแรกของการทลายกำแพงเสื้อผ้าแบ่งเพศ เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1968 ซึ่ง ‘แฟชั่นไร้ข้อจำกัดทางเพศ’ ถูกยกให้เป็นการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศ และยังดำเนินแนวคิดนี้มาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

ช่วงยุค 60s เป็นช่วงที่มีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง แต่ Yves Saint Laurent ได้พยายามทำลายกรอบนั้นด้วยการรังสรรค์เสื้อสูท Le Smoking สำหรับเพศหญิงขึ้นมา และนำไปสู่การเกิดขึ้นของ Power Dressing เป็นแฟชั่นที่พัฒนาการแต่งกายของผู้หญิงให้ทรงพลังยิ่งขึ้นด้วยการเสริมบ่าที่เสื้อสูท โดยเกิดขึ้นช่วงปลาย 70s และเป็นที่นิยมช่วง 80s ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสตรีนิยมกันอย่างจริงจัง

จากเดิมผู้คนเชื่อว่ามนุษย์มีแค่ชายและหญิง ทำให้การแต่งกายถูกจำกัดตามเพศ ทุกวันนี้แนวคิดนั้นถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราต่างเชื่อว่าไม่ว่าเพศใดก็สามารถแต่งกายตามใจอยากได้ ทำลายกรอบที่ว่าผู้หญิงต้องสวมกระโปรง ผู้ชายต้องใส่กางเกง อีกทั้งวงการบันเทิงและเหล่าเซเลบริตี้ก็ผลักดันแฟชั่นไร้ข้อจำกัดทางเพศ ส่งเสริมความหลากหลายให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น อาทิ ศิลปินในยุค 70s อย่างวง Queen, David Bowie หรือในยุคปัจจุบันอย่าง Troye Sivan, Harry Styles และ Sam Smith

Color of Fashion : Symbolism of Multi Meaning

เมื่อสีธรรมดาๆ กลายเป็นแฟชั่นเพื่อการต่อต้าน อย่าง ‘สีดำ’ สีแห่งความคลาสสิกที่นำมาใช้เป็นสัญญะในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือมิติของการขบถ ย้อนกลับไปปี 2018 ที่งานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ งานพรมแดงที่เต็มไปด้วยแฟชั่นสีดำ เพื่อเป็นสัญญะในการร่วม #MeToo แคมเปญต่อต้านการคุกคามทางเพศในที่ทำงานทุกรูปแบบ

หรือล่าสุด ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา Cate Blanchett นักแสดงแถวหน้าผู้แสดงจุดยืนอยู่ข้างปาเลสไตน์ ต่อต้านการล้างเผ่าพันธุ์ ผ่านแฟชั่นชุดสีพื้นที่ประกอบด้วย ‘สีเขียว สีดำ สีขาว’ ซึ่งเป็น 3 ใน 4 สีของธงปาเลสไตน์ โดยความโดดเด่นคือเธอใช้สีพรมแดงในการเติมสีธงชาติให้เต็ม ถือเป็นการสื่อสารที่มีพลังและสยบสายตาได้อย่างมาก

การนำแฟชั่นมาใช้เป็นสัญญะในการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างสันติเป็นความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร และยังมีประสิทธิภาพสูงในการนำชนหมู่มากให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องสังคม เหล่านักเคลื่อนไหว เซเลบริตี้ รวมถึงประชาชนต่างจับคู่และหยิบสีเสื้อผ้ามาแสดงออกเพื่อการต่อต้านในมิติต่างๆ กันอย่างหลากหลายเลยทีเดียว

TEXT: YANISA LIKHITAPISIT

Latest Posts

Don't Miss