ไม่เคยมีครั้งไหนที่แฟชั่นไทยจะใกล้ชิดผู้คนและเดินเคียงข้างสิ่งแวดล้อมได้มากเท่านี้ แต่เกิดขึ้นได้เมื่อ PIPATCHARA เป็นแบรนด์แฟชั่นที่เกิดจากพลังชุมชนและพลังในตัวตนของผู้หญิงที่ชื่อ เพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา
ELLE: เส้นทางแฟชั่นของเพชรเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
“เพชรเรียนจบปริญญาตรีที่อเมริกาด้าน Fashion Design จาก Academy of Art University ที่ซานฟรานซิสโก และได้ทุนไปเรียนที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ที่ปารีส สมัยเรียนที่นั่นจะมีเฮาส์แฟชั่นใหญ่ๆ มาติดตามผลงานของนักเรียนที่นี่ เราเลยพยายามพัฒนาภาษาและผลงาน ทำให้หลังจากนั้นเพชรได้ทำงานที่ Chloé รวมไปถึง Givenchy ซึ่งเราได้ประสบการณ์ทั้งในแผนกเสื้อผ้าไปจนถึงดีไซเนอร์ฝ่ายลายพิมพ์ของเสื้อผ้าผู้ชาย และได้ทำงานกับหนัง”
ELLE: ทำไมมาลงเอยที่การสร้างแบรนด์กระเป๋า PIPATCHARA
“ตัวเราเองก็ชอบหนังอยู่แล้ว พอกลับเมืองไทยเพชรก็คิดจะทำแบรนด์ของตัวเองที่ทำจากหนัง แต่ถ้าทำแบรนด์เสื้อผ้าอย่างแจ็กเกตหนัง คนไทยไม่ซื้อแน่นอน เพราะอากาศบ้านเราร้อน จึงลงเอยที่แบรนด์กระเป๋า เพชรชวนพี่ทับทิม (จิตริณี แก้วจินดา) พี่สาวมาเป็นหุ้นส่วนด้วย ซึ่งเขาขอว่าให้ทำในแนวทางยั่งยืนและช่วยเหลือชุมชน เราจึงต้องคิดก่อนว่าจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์เราในทางไหนได้บ้าง คำตอบก็คือด้านศิลปะและงานฝีมือ เราไปพบครูที่แม่ฮ่องสอนและใช้เวลากับเขาจนเห็นว่าเขาสามารถเรียนรู้และทำงานหัตถกรรมได้ดีมีคุณภาพระดับส่งออกได้”
ELLE: เริ่มต้นคิดงานออกแบบอย่างไรให้มีความยั่งยืน
“กระเป๋า 1 ใบใช้เวลา 6 เดือน เรื่องการดีไซน์ไม่ยาก เราฝันถึงมันได้ แต่ที่ยากคือต้องหาชุมชนที่ทำงานร่วมกับเราได้ ใช้เทคนิคการถักไม่ยากเกินกว่าที่เขาจะทำได้ ต้องหาวัสดุและสีที่ต้องการ ซึ่งบางทีก็มีอุปสรรคเรื่องฤดูกาลและวิธีการเก็บรักษาวัสดุ ซึ่งยากกว่าการคิดดีไซน์เยอะมาก”
ELLE: เพชรใช้วัสดุหลากหลาย เช่น หนังกระบองเพชร และพลาสติกรีไซเคิลที่เอามาทำเป็นกระเป๋าและเสื้อผ้า
“เราไม่ได้เริ่มคิดจากกระเป๋าแบบไหนที่เราจะทำ แต่เริ่มคิดจากวัสดุอะไรที่เราจะใช้ อย่างวัสดุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล เราใช้เวลา 2 ปีเต็ม เริ่มจากวันที่ 6 เดือน 6 ปี 2018 ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก และเป็นวันเกิดของแบรนด์ด้วย พี่สาวเพชรเก็บพลาสติกกำพร้าที่ไม่สามารถเอาไปทำอะไรต่อได้และเขาอยากหาวิธีใช้มัน จนถึงช่วงวิกฤตโควิดที่เรามีเวลาได้พัฒนาวัสดุและสินค้า เราพบว่าโรงงานขยะในเมืองไทยมีการจัดการขยะที่ดีมากๆ เขาแยกขยะตามประเภทวัสดุและสีเรียบร้อย แต่ส่วนใหญ่จะนำไปทำใหม่เป็นจานรองแก้วหรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้มีมูลค่ามากนัก ถ้าคนซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้ก็กลายเป็นขยะอีกครั้ง
“ห้องจัดเก็บขยะในโรงงานจึงเหมือนห้องสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเรา พอเราศึกษามากขึ้นก็พบว่าโรงงานส่วนใหญ่จะฝังกลบพลาสติกกำพร้า เราศึกษาเรื่องวิธีการแปรรูปพลาสติกแบบต่างๆ และพบว่ามีเทคนิคการหลอมเหลวและนำไปขึ้นรูปใหม่ เราเริ่มทดลองนำพลาสติกหลายๆชนิดมาผสมกันเพื่อตอบโจทย์ของเราที่อยากทำกระเป๋าพลาสติกที่คนไม่รู้ว่าทำจากขยะ เพราะมันดูไม่เหมือนขยะเลย ไม่อย่างนั้นคนจะไม่ยอมจ่ายในราคาสูง”
ELLE: 4 ปีที่ผ่านมาแบรนด์เติบโตและเป็นที่รู้จักเร็วมาก ทั้งการที่ Anne Hathaway ถือ PIPATCHARA เดินพรมแดง แบรนด์ได้ไปปารีส เป้าหมายต่อไปในปีที่ 5 เป็นอย่างไร
“เราไม่มีเป้าหมายว่าอยากจะมีร้านในเมืองนอก เราแค่อยากให้ชุมชนของเราขยายขึ้น และเราขอเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ กับการทำแบรนด์ยั่งยืนอย่างจริงจังโดยใช้ขยะหรือวัสดุยั่งยืนต่างๆ มาสร้างชิ้นงาน เพื่อให้คนเห็นว่าการทำเรื่องความยั่งยืนและชุมชนก็ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง เพื่อที่แบรนด์อื่นๆ จะได้เห็นภาพว่าวิถีนี้เป็นไปได้จริง เรามีไอเดียที่จะทำโปรดักต์อีกเยอะ แต่บางทีเราไม่มีแรงและกำลังมากพอ แต่ถ้าเรามีชุมชนที่ใหญ่ขึ้น อย่างแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า แว่นตา และอื่นๆ มาช่วยกัน ลองคิดดูว่าทั้งประเทศไทยจะมีสินค้ายั่งยืนเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน”
ELLE: พลังในการสร้างสรรค์งานดีไซน์ นวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ของเพชรมาจากไหน
“เพชรยอมแพ้หลายรอบกับ PIPATCHARA มีหลายครั้งที่เรารู้สึกว่ามันเกินกว่าศักยภาพของตัวเองที่จะทำได้ แต่ชุมชนช่วยผลักดันให้เราอยากพัฒนาตัวเอง อยากทำงานให้ดีกว่านี้ อยากทำให้ทุกคนได้ประโยชน์มากกว่านี้ และที่สำคัญทำให้เราตระหนักว่าการที่เราเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานยากๆ บางอย่างไม่ได้ เราลงพื้นที่ไม่ได้ หรือไปเปิดตลาดเมืองนอกไม่ได้ ทุกความเป็นไปได้นี้เราเริ่มจากตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือวัยใด เราเริ่มต้นทำในสิ่งที่ทำได้ก่อน ไม่ต้องถึงกับออกไปเปลี่ยนโลก แต่เราทำได้กับตัวเอง ครอบครัวหรือชุมชนของเรา ดังนั้นถ้าเราทำ PIPATCHARA เพื่อตัวเราคนเดียว เราคงยอมแพ้ไปนานแล้ว”