Friday, January 17, 2025

ชีวิตบนสังเวียนของ ผึ้ง โสมรัศมี นักมวยหญิงชาติพันธุ์คนแรกของประเทศไทย

ชื่อเล่นว่า ‘ผึ้ง’ ซึ่งโสมรัศมี ไชยสุยะ เป็นผึ้งที่ต่อยเจ็บเมื่อขึ้นสังเวียนในนาม ‘โสมรัศมี มานพยิม’ ชื่อที่จะมีวลีพ่วงท้ายไปจนตลอดชีวิตของเธอว่า ‘นักมวยหญิงชาติพันธุ์คนแรกของประเทศไทย’ 

Photo: CHAIYAPORN SODABUNLU

ELLE: ปีหนึ่งๆ คุณขึ้นชกกี่ไฟต์

“ได้แค่เดือนละไฟต์ ต้องทิ้งช่วงให้ร่างกายได้พักฟื้นด้วย แล้วแต่จังหวะด้วย บางทีก็ชก 2 เดือนครั้ง ปกติเราฝึกซ้อมทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าซ้อมเพื่อเตรียมขึ้นชกก็จะฝึกหนัก 3 สัปดาห์ ซ้อมวันละ 6 ชั่วโมง 7 โมงเช้าก็จะวิ่ง 8-10 กิโลเมตร พักตอนบ่าย ซ้อมตั้งแต่บ่าย 3 จนถึง 1 ทุ่ม อาจจะวิ่งอีก 4-5 กิโลเมตร แล้วมาซ้อมอย่างอื่นต่อ” 

ELLE: การขึ้นชก 1 ยก ของนักมวยหญิงยกละ 2 นาที ในความรู้สึกของคนต่อยเวลาผ่านไปเร็วหรือช้า

“รู้สึกว่านานมาก ใน 2 นาทีนั้นเราต้องคุมพลังของตัวเอง ควบคุมการเต้นของหัวใจ ต้องออกหมัดให้โดนเป้า ถ้าเราซ้อมน้อยเราจะเหนื่อยเร็วมาก แต่ถ้าเราซ้อมมาดี เราจะยืนอยู่ภายใน 2 นาทีนั้นได้” 

ELLE: ตอนนี้คุณอายุ 20 มองย้อนไปในวัน 12 ที่คุณขึ้นชกครั้งแรก ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร

“อยากรู้ อยากเห็น และอยากลอง ซึ่งเราไปลองกับมวย (หัวเราะ) เราอยากได้มือถือแต่ไม่อยากขอเงินพ่อแม่ อยากหาเงินเอง เพราะอยากได้เลยทนเจ็บได้ เราอยากได้มือถือรุ่นอะไรก็ได้ ขอหน้าจอสัมผัส”  

ELLE: ครั้งแรกที่ชกสภาพเป็นอย่างไร

“เหมือนหมากัดกันเลย (หัวเราะ) เราใส่เต็มที่ ใส่ทั้งหมัด ทั้งเท้า เรายังไม่มีเชิงมวยเลยสะบักสะบอมมาก แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องเจ็บตัวเลย คิดแค่ว่ามันหาเงินได้ เป็นอะไรที่ท้าทายเรา และมันก็เท่ด้วย จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่ต่อยมวย” 

ELLE: แต่เงินค่าชกก็ยังไม่พอจะซื้อมือถือ คุณจึงชกมวยต่อไป หรือว่าเริ่มติดใจ

“มองว่ามันคือรายได้ ตอนอายุเท่านั้นเรายังไม่มีแรงบันดาลใจที่จะอยากเป็นอะไร พอชกมวยไปอีก 4-5 ไฟต์ เริ่มมองว่าเราต้องไปไกลกว่านี้ เริ่มมองมากไปกว่าเรื่องรายได้ แต่มองว่าเป็นอาชีพ” 

ELLE: มวยเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ นักมวยหญิงเจอแรงต้านอะไรบ้างไหม 

“พอชกไปสักระยะเราเริ่มเข้าเมืองกรุง เริ่มรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างบ้านนอก ตามสื่อโซเชียลต่างๆ มีคอมเมนต์แย่ๆ เยอะ คนว่าเราว่าแข็งแรงไม่เท่าผู้ชาย จะมาต่อยมวยทำไม ไปทำอย่างอื่นดีกว่า เราเป็นผู้หญิง เราท้อมากแทบจะแขวนนวม และกลายเป็นคนเก็บตัวไปเลย ไม่กล้าสู้หน้าใคร รู้สึกว่าทุกคนต้องมองเราไม่ดีแบบนั้นแน่เลย”

ELLE: คุณฝึกซ้อมจิตใจให้แข็งแรงเพื่อไปสู้กับคำปรามาสต่างๆ อย่างไร

“คิดถึงครอบครัว เรายังมีแม่ มีน้องที่รอเรา ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราจะอยู่จุดเดิมและคิดแบบเดิม อีกแรงคือเพื่อนร่วมค่ายที่บอกว่าไม่เป็นไร เพื่อนในค่ายมวยไม่มีหรอกที่ใครแพ้แล้วจะมาซ้ำเติมกัน มีแต่จะให้กำลังใจและเข้าใจความรู้สึกว่าเราสู้เต็มที่แล้ว ครูมวยก็บอกว่าไม่มีใครชนะได้ตลอด มันคือเกมกีฬา จะยึดติดมากไม่ได้ เราแพ้มาบ้าง แต่ครั้งที่ชกที่กรุงเทพฯ เรากินอาหารผิดสำแดงเลยท้องเสีย ร่างกายเราปรับสภาพไม่ทัน แต่ใจเราสู้ แต่สุดท้ายร่างกายก็ไม่ไหว เป็นครั้งแรกที่โดนจับแพ้และเจอคอมเมนต์จากโซเชียล”  

ELLE: การแพ้เร็วตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ และไม่ได้ชนะมาตลอดแล้วเพิ่งจะแพ้ คิดว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง 

“มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกรู้ซึ้งว่าแพ้แล้วเป็นอย่างไร แต่เราได้เห็นความจริงของคนรอบข้างด้วยว่า คนไหนที่จริงใจกับเรา การพ่ายแพ้ของเราทำให้ได้เห็นของจริงในตัวคนอื่น มีคนที่เห็นเราล้มแล้วมาซ้ำ พอเราชนะถึงจะมาชื่นชม แต่คนที่จะอยู่กับเราจริงๆคือคนที่ไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะ เขาก็จะอยู่กับเรา”  

ELLE: เวลาแพ้ คุณบอกตัวเองอย่างไร

“‘ไม่เป็นไร มันคือเกมกีฬา’ เราไม่ได้ต้องชนะอย่างเดียว รอบหน้าต้องดีกว่าเดิม”  

ELLE: นอกจากรายได้ มวยให้อะไรคุณบ้าง

“ฐานะทางบ้านเรายากจน แต่ก่อนเราอยากไปเที่ยวจังหวัดต่างๆ แต่ว่าไม่มีเงิน จนได้มาชกมวยเราได้เดินทางไปหลายๆ ที่ ได้ไปต่างประเทศก็เพราะมวยไทย และเราได้มิตรภาพด้วย อย่างเราอยู่เชียงใหม่ อยู่บนเขา เราก็ไปหาเพื่อนนักมวยที่อยู่ใกล้ทะเล บนเวทีมวยก็ให้เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ลงจากเวทีแล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน”  

ELLE: คำว่า ‘นักมวยหญิงชาติพันธุ์’ จะพ่วงท้ายชื่อของคุณไปจนตลอดชีวิต คุณรู้สึกอย่างไรกับคำนี้

“เราเป็นกะเหรี่ยง อยู่เชียงใหม่ แต่เราสามารถพาตัวเองไปอยู่จุดที่ประสบความสำเร็จได้ เราเป็นกะเหรี่ยงคนแรกที่ได้ขึ้นชกที่เวทีมวยราชดำเนินและได้แชมป์ มีคนรู้จักเราและเผ่าของเรามากขึ้นด้วย เราภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นกะเหรี่ยง เราเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้มีแรงผลักดันตัวเองได้ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ของเรา แต่ทุกที่เลย ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงในจังหวัดใดก็ตาม เป็นกะเหรี่ยงก็ไปได้ไกลเหมือนกัน บางทีก็มีเด็กน้อยส่งอินบ็อกซ์มาบอกว่าเป็นเอฟซีของเรา ทั้งเรื่องครอบครัวและการชกมวยของเรา ขอเอาเราเป็นแบบอย่าง”  

ELLE: คุณเป็นผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้หญิงที่มีอาชีพและประสบความสำเร็จ อะไรคือแรงผลักดัน

“แรงใจจากครอบครัวและแรงดูถูกตั้งแต่เราเด็กๆ เป็นคนที่รับไม่ได้ที่ชอบพูดว่าเราคงไปไม่ได้ไกล แต่เราทำให้เห็นเลยว่าเราทำอาชีพนักมวยและประสบความสำเร็จได้”  

Words: Suphakdipa Poolsap

Latest Posts

Don't Miss