การใช้ประโยชน์จากพัดเป็นสิ่งหนึ่งที่คู่กับวัฒนธรรมทั่วโลกมาช้านาน และวัฒนธรรม LGBTQ ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน แต่ใครจะคิดกันล่ะว่าพัดพับกลับมีความสำคัญมากกว่าแค่การเป็นเครื่องประดับหรือพร็อปในแดร็กโชว์ เพราะมันมีเบื้องหลังลึกซึ้งมากกว่านั้น ซึ่งแอลจะพาคุณมาไขคำตอบ ย้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์นี้
ในโลกของแดร็กโชว์ พัดพับได้เปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่สำคัญใช้สำหรับการแสดง เสียงกระทบจากการสะบัดพัดทำให้เกิดเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ที่ใครๆ ได้ยินก็ต้องหยุดดู และรูปแบบการนำเสนอพัดที่บ่งบอกถึงของสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์และลูกเล่นของแดร็กควีนแต่ละคนจะช่วยให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและสนุกสนานไปกับโชว์สุดแสนจะอลังการ
ย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อนที่กลุ่ม LGBTQ จะนำพัดพับมาปรับใช้ในคอมมูนิตี้ พัดเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงสัญลักษณ์ทางสังคมของชนชั้นสูงในญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 15 วัฒนธรรมการใช้พัดแพร่หลายไปในทวีปยุโรปผ่านการค้าบนเส้นทางสายไหม และมาถึงอเมริกาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งพัดในยุคนี้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้หญิง
ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่ระบุว่าพัดพับถูกผสมผสานเข้ามาในวัฒนธรรม LGBTQ ได้อย่างไร แต่ในยุคหนึ่งก่อนกำเนิด RuPaul’s Drag Race มีภาพปรากฏว่าพัดพับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบอล (Ball Culture) ศูนย์รวมของกลุ่มเกย์ในนิวยอร์ก ทั้งคนแอฟริกัน-อเมริกัน ชาวละติน และทรานส์เจนเดอร์ซึ่งถูกบันทึกไว้ในสารคดี Paris is Burning และในซีรี่ส์ Pose ที่กลุ่มคนเหล่านี้มักนิยมเต้นรำ โพส และโว้กร่วมกับการสะบัดพัด
อย่างไรก็ตาม การเต้นรำกับพัดได้รับความนิยมมากในกลุ่มชายชาวซานฟรานซิสโกที่ไปเยือนไนต์คลับในนิวยอร์กในปี 1970 และได้พบกับคนในไนต์คลับที่เต้นรำกับพัดอย่างสนุกสนาน จึงได้นำแนวคิดนี้กลับมาใช้กับไนต์คลับแถวบ้านตนเอง ซึ่งช่วงแรกนั้นใช้พัดพับกระดาษที่มีราคาถูก แต่ภายหลังปรับเปลี่ยนมาใช้พัดขนนกที่ดูดีมีสไตล์มากขึ้นแทน
นอกจากนี้การใช้พัดพับเพื่อความบันเทิงแล้ว กลุ่ม LGBTQ ยังใช้พัดเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จะเรียกร้องในเรื่องของการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการเขียนข้อความที่ต้องการอยากจะสื่อสารลงไปบนพัดในไพรด์พาเหรด
ปัจจุบันแดร็กควีนยังนำพัดพับมาใช้ประกอบโชว์เพื่อแสดงถึงอินเนอร์ของตัวเองผ่านเสียงที่เป็นเอกลักษณ์จากการสะบัดพัดแล้ว และยังนำมาใช้ในการสร้างสีสันและสะกดคนดูให้คนดูมีความสนุกสนานไปกับโชว์ผ่านจังหวะของการสะบัดพัด
อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จัก แดร็ก ศิลปะบนเรือนร่างกับการแสดงออกถึงตัวตนที่ไร้ขอบเขต
Text: NATITON CHINNABHAD
Photo Courtesy:: RuPaul’s Drag Race, KAYLA SIMONE, Crazy Aunt Helen’s, Steven Senne, A Good Woman