ไม่ว่าจะหยิบไปใส่ง่ายๆ คู่กับเสื้อยืดสีพื้นในวันสบายๆ หรือจะจับคู่กับสูทเพื่อความเป็นทางการเล็กน้อยสำหรับออกงาน กางเกงยีนส์ก็สามารถเป็นตัวเลือกนั้นได้เสมอ ทั้งสไตล์ที่มีมากมายและความคงทนของวัสดุที่ใช้ทำ กางเกงยีนส์จึงเป็นไอเท็มที่ไม่เคยห่างหายไปทำเนียบแฟชั่นและเทรนด์โลก แต่เพราะเรื่องการสร้างมลพิษที่ยีนส์เองก็ขึ้นชื่อ แนวคิดใหม่ของยีนส์และการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น
ในการผลิตไอเท็มเดนิม 1 ตัว ต้องใช้ทรัพยากรน้ำมากถึง 7,500 ลิตร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องมีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตกางเกงยีนส์ ทั้งยังต้องคงคุณสมบัติเดิมหรือทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย Dries Van Noten มีการใช้กระบวนการฟอกสีด้วยมือ ส่วน Dior ก็ผลิตยีนสต์ของตัวเองด้วยเทคนิคพิเศษที่ทำให้ยีนส์มีสีชัดเข้ม ไม่ซีดจาง ในไลน์เดนิม Dior 8 แม้แต่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่อย่าง Arthur Robert จาก Ouest Paris ก็ทำผลงานเข้าตาคณะกรรมการ Andam Fashion Awards ด้วยผ้าเดนิมที่ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าวแนว workwear
การที่เสื้อผ้าสุดคลาสสิกอย่างเดนิมกลับมาสร้างความนิยมเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่?
“การที่คนเราชอบความออริจินัลดั้งเดิมก็บ่งบอกได้ถึงแฟชั่นในยุคสมัยนี้ เราต่างโหยหาที่มาที่ไปในข้าวของทุกๆ อย่าง” Maxine Bedat ผู้แต่งหนังสือ ‘Unraveled. The Life and Death of a Garment’ ให้เหตุผล หลังจากศึกษาเส้นทางการผลิตยีนส์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ในไร่ฝ้ายไปจนถึงการวางจำหน่ายในที่ต่างๆ
เธอยังบอกอีกว่า กางเกงที่เหล่าคนงานชาวอเมริกันนิยมใส่กันนั้น ทำให้ยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน ก่อนจะกลายเป็นตัวแทนของความขบถตามประสาวัยรุ่นในเวลาต่อมา มันยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลดแอกสตรีเพศ จากแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ดึงดูดให้ชนชั้นกลางผิวขาวออกมาทำงานนอกบ้านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย จากนั้นเดนิมก็ลดบทบาททางสังคมลงไปจากการเข้ามาของฟาสต์แฟชั่น
อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้เราไม่ได้ใส่แค่กางเกงยีนส์แต่ใส่เรื่องราวของมันไว้ด้วย Levi’s เจ้าของตำนานกางเกงที่ฮิตที่สุดในโลก จึงถือโอกาสย้อนรำลึกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ในโอกาสครบรอบ 150 ปีของกางเกงยีนส์รุ่น 501 “กางเกงยีนส์รุ่น 501 ถือกำเนิดจากเรื่องของนวัตกรรม การตัดเย็บที่เน้นใช้หมุดย้ำทองแดงเพื่อความคงทน สมบุกสมบันจนสามารถสวมใส่เพื่อทำงานในเหมือง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมผันผวนอยู่เสมอ สุดท้ายมันก็กลายเป็นไอเท็มที่ไม่เคยล้าสมัย” Paul Dillinger รองประธานฝ่ายออกแบบและนวัตกรรมของ Levi’s อธิบาย
เมื่อผู้คนหันมาสนใจขั้นตอนการตัดเย็บพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมก็ถูกพูดถึงไปด้วย กางเกงยีนส์รุ่นใหม่ๆ อย่าง WATER<LESS™ Denim ที่ลดปริมาณการใช้น้ำในขั้นตอนการฟอมย้อมและขัดสียีนส์ ทั้งยังพัฒนาไปถึงขั้นใช้เส้นใยธรรมชาติ ผ้ารีไซเคิล และผ้าที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ รวมไปถึงการใช้สีย้อมจากธรรมชาติด้วย ต่อให้สิ่งนี้เป็นเพียงไม่กี่ขั้นตอนจากการผลิตทั้งหมดที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน หรือเป็นแค่การกระตุ้นยอดขาย ก็ยังดีทีช่วยริเริ่มแนวคิดเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรมเดนิมได้
เมื่อแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องยีนส์และความคลาสสิคอย่าง Levi’s ก็รับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนเข้ามา แบรนด์อื่นๆ ในตลาดก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้เช่นกัน แม้ว่าอาจจะยังต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้สิ่งแวดล้อมฟื้นตัวได้จริงๆ ก็ถือเป็นภาพที่ดีที่ได้เห็น เราในฐานะลูกค้าก็สามารถเลือกซื้อแบรนด์ที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ตามสะดวก ทั้งเพื่อของที่มีคุณภาพและสนับสนุนแบรนด์ที่มีคุณภาพไม่แพ้กัน
บทความ JEANS GREEN OR OUT! จากนิตยสาร ELLE Thailand ฉบับ Aug 2023
TEXT: ILARIA CASATI
TRANSLATOR: WANSUK KHONGRASEE
COVER PHOTO: Courtesy of levis