แบรนด์กระเป๋าและไลฟ์สไตล์แบรนด์โปรดของเหล่าสายแฟอย่าง BOYY ได้ปักหมุดหมายแฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ล่าสุดที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ ณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ครั้งนี้ก็ยังคงได้ศิลปินชาวเดนมาร์กชื่อดังอย่าง FOS มาร่วมออกแบบพื้นที่แห่งใหม่ของแบรนด์ ซึ่งต่อยอดไอเดียมาจากแฟล็กชิปสโตร์ที่ถนนบากุตต้า ในกรุงมิลาน ที่โดดเด่นด้วยการใช้แมตทีเรียลที่มีความดิบแบบอินดัสเทรียล ในโอกาสการเปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ของ BOYY แอลได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ บอย-วรรณศิริ คงมั่น ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมอำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ถึงเรื่องราวเบื้องลึก เบื้องหลังต่างๆ ของสโตร์แห่งนี้ รวมไปถึงมุมมองในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จเฉกเช่นปัจจุบัน
ELLE : โจทย์แรกที่ตั้งต้นในการออกแบบแฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้เลยคืออะไร? ความต้องการของ BOYY อยากให้แฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้เป็นยังไง?
BOYY : ที่จริงไอเดียการออกแบบครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อนานมาแล้ว และเราใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีในการตกผลึกแนวความคิดในการออกแบบ รวมถึงการพัฒนาและค้นหาคำนิยามของภาษาใหม่สำหรับ ‘BOYY’ ด้วยเป้าหมายที่จะถ่ายทอดตัวตนของเรา และ สื่อสารตัวตนของ ‘BOYY’ ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยครั้งแรกเราเริ่มจากการถ่ายทอดผ่านแฟล็กชิปสโตร์ที่มิลาน เพื่อให้ผลงานและการทำงานร่วมกันนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราต้องให้ freedom กับ FOS ในการออกแบบเต็มที่ ดั้งนั้นการออกแบบแฟล็กชิปสโตร์ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ จึงไม่ได้เริ่มต้นจากความปรารถนาและความต้องการของเรา มีโจทย์เดียวคือต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ‘ภาษาใหม่ของ BOYY’ ที่เราและ FOS ได้พัฒนาร่วมกันอย่างยาวนานถ่ายทอดผ่านการออกแบบแฟล็กชิปสโตร์
ELLE : ได้กลับมาร่วมงานกับ FOS อีกครั้ง ความพิเศษในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
BOYY : การร่วมงานกับ FOS ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเรา และในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเมื่อเราเริ่มความคิดจะสร้างแฟล็กชิปสโตร์ที่ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ในตอนนั้นเรารู้เพียงแค่ว่า แฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้ จะเป็นสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดของ BOYY และ จะเป็นสเปซที่เราจะสามารถถ่ายทอดตัวตน และสื่อสาร ‘ภาษาใหม่ของ BOYY’ ออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด ทุกครั้งที่ FOS นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับทิศทางการออกแบบสโตร์กับ BOYY มันมักจะเหนือความคาดหมาย และสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดคือ แนวความคิดของเขานั้น เหนือทุกสิ่งที่เราสามารถจะจินตนาการได้ เรามักจะคาดหวังเสมอว่า FOS จะท้าทายจินตนาการ และทำให้เรามีมุมมองความคิดที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ
ELLE : คอนเซ็ปต์หลักของแฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างจากสโตร์อื่นอย่างไร?
BOYY : สิ่งที่พิเศษมากๆ สำหรับแฟล็กชิปสโตร์แห่งนี้คือ แนวความคิดที่เราต่อยอดมาจากแฟล็กชิปสโตร์ที่มิลานที่ถนน Bagutta 9 อันนั้นก็เป็นร้านแรกของเราที่คอลแลบกับ FOS แล้วเป็นคอนเซปต์เดียวกันคือ ความ transparent เราเก็บสิ่งที่มันเป็นความดั้งเดิมของสเปซ ทำในเท่าที่จำเป็น คือเราไม่ได้ปิด อย่างเสาตรงนี้ (บริเวณหน้าร้าน) คนไม่เข้าร้านเพราะคิดว่าร้านยังไม่เสร็จ เพราะว่าเราไม่ได้เอาวัสดุอันใหม่มาหุ้มตัวเสาตามปกติที่ทุกคนต้องปิด เสานี้เป็นเสาที่มาของห้างเลย นี่เป็นสิ่งที่เราร่วมกันพัฒนามาจากสโตร์ที่มิลาน ผสมผสานเข้าด้วยกันกับวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ และลักษณะพิเศษของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี แรงบันดาลใจทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์ ‘The City within a City within a City’ หรือ ‘เมือง ที่อยู่ในเมือง (ศูนย์การค้า) และ อยู่ในเมือง (กรุงเทพมหานคร) อีกที
ELLE : ถ้าให้เลือกมุมใดมุมหนึ่งในร้านที่คิดว่าคือไฮไลต์ของแฟล็กชิปแห่งนี้คือตรงไหน?
BOYY : 2 มุมได้ไหม มีมุมนี้เลยที่ชอบ (บริเวณหน้าต่างเปิดโล่งหน้าร้าน) เพราะว่าเราได้เห็นความเป็นห้างสรรพสินค้าเรียลไทม์คนเดินตลอด แต่เราอยู่ตรงนี้ ตรงนี้มันก็คือมีความเป็นส่วนตัวแบบบอกไม่ถูก เรารู้สึกว่ามองเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นเรา เพราะมันมีอะไรหลายอย่างที่เขาต้องมองก่อน แต่เราเห็นเขา และตรงนี้ถามว่าจะปิดกระจกไหม ไม่มีกระจกมาปิด เพราะมันคือความ transparent คือการที่เราเปิดให้คนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง แบบเราไม่ได้ให้รู้สึกว่าเรากั้นเขามองเข้ามาแล้วรู้สึกว่าเข้ามาร้านนี้ดีไหม และชอบอีกมุมคือข้างหลังที่จะเป็นเก้าอี้ เรายกมานั่ง แล้วสามารถนั่งมองข้างนอกกระจกได้ ม่านเปิดได้แล้วเวลามองก็จะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน มันเหมือนตัวเราอยู่ข้างในนี้ แต่เราเห็นความเคลื่อนไหวด้านนอก เพราะบางทีเรารู้สึกว่าร้านส่วนใหญ่เขาจะบล็อกวิชั่น ไม่ให้เรามองออกไปข้างนอกเพราะไม่อยากให้เราเสียโฟกัสสินค้าในร้าน แต่บอยรู้สึกอยากให้มันเป็นสเปซที่คนได้เข้ามาแล้วมีความสงสัย อยากรู้ อยากมอง อยากเห็น คิดอะไรก็ได้ ไม่ได้บล็อกว่าต้องมองมาที่แท่นวางสินค้าเท่านั้น
ELLE : บางแบรนด์ก็อยากจะตะโกนว่าร้านฉันอยู่ตรงนี้นะ ด้วยการทำป้ายใหญ่ๆ โลโก้ใหญ่ๆ ในมุมมองคนทำแบรนด์คิดว่าอย่างไรที่แฟล็กชิปเราแตกต่างกันคนอื่นๆ?
BOYY : เราอยากให้คนที่เดินเข้ามาในร้านเราไม่ได้เห็นว่าเป็นตัวอักษร BOYY ไม่ได้เห็นเป็นป้ายใหญ่ แต่คนเดินเข้ามาเพราะเขาสงสัยว่ามันคืออะไรมากกว่า สำหรับคนที่รู้จักแบรนด์อยู่เขาก็น่าจะรู้อยู่แล้ว สำหรับคนที่ไม่รู้จักแบรนด์หรือนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาเยอะมาก เราเลยรู้สึกว่าถ้าร้านเรามีป้าย BOYY แล้วร้านไม่ได้เป็นแบบนี้ เขาก็อาจจะไม่ได้เข้ามาก็ได้ เพราะว่าหนึ่งคือไม่รู้จักแบรนด์ สองคือมันก็ดูเป็นสโตร์ปกติ แต่พอเราไม่มีโลโก้ แต่ร้านเรามันมีความแปลก เลยรู้สึกว่าเขาเข้ามาดูด้วยความสงสัยมากกว่า ซึ่งมันตอบโจทย์อยากทำสเปซให้คนได้เข้ามาแล้วคิดต่อ
ELLE : นอกจากความพิเศษของแฟล็กชิปสโตร์แล้ว จะมีพวกลิมิเต็ดดีไซน์สำหรับที่ร้านนี้ไหม?
BOYY : ก็จะมีของที่ครบในทุกกรุ๊ปที่เรามี เหมือนเราอยากให้เป็นร้านที่ทดลอง เช่น เราอาจจะทำอะไรขึ้นมาแบบ 1 ดีไซน์ 7 ชิ้น มันก็จะอยู่ที่นี่ หรือที่นี่จะมี index ครบคอลเล็กชั่น ซึ่งมันเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษที่เราทำโดยไม่ commercial ความคาดหวังเราคิดว่ามันจะไม่ได้ขาย เราคาดหวังอย่างอื่นมากกว่า เราคาดหวังให้คนรู้สึกว่า กระเป๋าหมวกกันน็อก มันคืออะไร? แล้วก็จะมีบางอย่างที่เป็นแบบ limited piece ที่แฟล็กชิปนี้ก็จะเป็นที่แรกที่เรามีของ ready to wear เป็นแคปซูล ข้างหลังร้านจะมีเสื้อยืด สเวตเชิ้ต เป็นสิ่งที่เราทดลองทำ เพราะว่าเราไม่ชอบทำคอลเล็กชั่นที่มันออกมาแล้วแบบ 40 ชิ้นเต็มๆ อะไรอย่างนี้คือไม่ทำ ซึ่งถ้าเกิดว่าอยากเห็นอะไรใหม่ๆ ของแบรนด์ ก็น่าจะเป็นที่นี่ก่อน
ELLE : เรามีวิธีบาลานซ์ความ creativity กับ commercial อย่างไรบ้าง?
BOYY : จริงๆ วิธีการทำงานของบอยกับเจสซี่ไม่ได้คิดเริ่มมาจาก commercial อยู่แล้ว ตอนแรกที่เราทำแบรนด์เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เราแค่อยากทำดีไซน์กระเป๋าที่เราอยากใช้ ตอนนี้พอมองย้อนกลับไป สิ่งที่เราคิดครั้งแรกที่เราทำ มันก็คือสิ่งที่เราอยากดีไซน์อะไรก็ได้ วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม เราอยากดีไซน์สิ่งที่เราได้รับแรงบันดาลใจมา วันนั้นแรงบันดาลใจคือฉันต้องการกระเป๋า ตอนนั้นไม่มีกระเป๋าที่เรารู้สึกว่าอยากได้ อยากถือ บอยกับเจสซี่ก็เลยอยากทำกระเป๋าให้ตัวเองใช้ บางครั้งใน 18 ปีที่ผ่านมาก็เคยคิดนะว่า อยากทำคอลเล็กชั่นที่เป็น commercial อยากทำในหนึ่งคอลเล็กชั่นที่เป็น commercial แต่พอคิดแบบนั้นแล้ววิธีการดีไซน์มันจะเปลี่ยน เพราะหนึ่ง เราไม่รู้ว่าทำแมสได้ไหม ออกแบบให้เป็นแมสได้ไหม เราทำไม่ได้เพราะตั้งต้นถ้าคิดว่าจะออกแบบกระเป๋าเพื่อแมส แมสคืออะไร คำว่าแมสมันปัจเจก สิ่งที่เราชอบถ้ามีอีกหนึ่งล้านคนชอบเหมือนเรามันแมสไหม ดังนั้นเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ ที่เรารู้สึกว่าออกมาแบบนี้เราใช้ ดังนั้นทุกอย่างที่ออกมาเป็นสิ่งที่ต้องถามตัวเองว่าสิ่งนี้เราจะใช้ไหม เจสซี่คิดว่าอย่างไร ไม่ได้คิดว่าออกแบบเพื่อใคร เพราะแบรนด์เรามันเริ่มต้นจาก creativity มากกว่า commercial แต่โอเคทำอย่างไรให้ creativity แต่ละชิ้นเหล่านี้มันกลายเป็น commercial เราคิดว่าที่ผ่านมาน่าจะโอเค เพราะเราโชคดีด้วยที่คนเข้าใจงานที่เราออกแบบ แต่เราไม่เคยออกแบบอะไรเพื่อที่จะให้เป็น commercial piece
ELLE : 18 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างไหนไหมที่รู้สึกว่าการทำ Creativity แล้วมันนำพาไปสู่ความสำเร็จแบบ Commercial ได้?
BOYY : พี่คิดว่าเป็นคอลเล็กชั่น Buckle เพราะเริ่มทำจากความชอบ 100% ว่าเราอยากใช้กระเป๋าแบบนี้ ที่ผ่านมาคือทำ rock and roll แบบ slouchy bag หรือ bohemian ซึ่งทุกคนก็มองคาแรกเตอร์ว่าเราเป็นแบบนั้นเพราะด้วยช่วงอายุ เพลงที่เราฟัง ไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนั้น เราก็ทำกระเป๋า ทำคอลเล็กชั่นที่เป็นแบบนั้น แล้วพอถึงวันหนึ่ง ปี 2015 เราก็รู้สึกว่าไม่อยากใช้ slouchy bag แล้ว อยากใช้อะไรที่เป็น structure เราอยากโตขึ้น แบรนด์ก็ต้องโตขึ้น สิ่งที่เราออกแบบมันต้องตอบโจทย์ชีวิตเราด้วย ก็เลยออกแบบ buckle bag กับเจสซี่ ทำอันนี้เสร็จแล้วก็คิดว่าไม่ได้คิดถึงในเรื่องการขายในตอนนั้น แค่คิดว่าเราต้องการกระเป๋าที่เป็นบ็อกซ์แบบก้นกว้างให้มันเป็นทุกอย่างแบบ Bold and chunky ทุกอย่างเป็นบ็อกซ์ก็เลยทำ Bobby ใบแรกออกมา แล้วก็กลายเป็นทุกคนชอบ และก็แตกออกมาเป็นคอลเล็กชั่น buckle ก็จะมีนู้นนี่นั่นหลายฟังก์ชั่น บางคนบอกว่าซิกเนเจอร์ของเราคือ buckle แล้วเราค่อยต่อยอด เราทำใบเล็กลงมา ใบกลาง oversized เราคิดเป็น commercial part ที่เราจะทำให้ไซซ์มันตรงกับความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างไรมากกว่า เช่น buckle ก็จะมีใบเล็ก ชื่อ Romeo ที่ค่อนข้างเป็น evening เป็นกระเป๋าถือไปดินเนอร์ แต่ถามว่าเราใช้ไหม เราใช้แต่พี่ไม่ได้ใช้ในความคาดหวังที่คนจะบอกว่ามันคือกระเป๋าที่ถือไปดินเนอร์ ถือไปเที่ยว แต่เราจะใช้กลางวัน มันแค่ตรงกันข้ามกับคนอื่น เพราะเราชอบใช้กระเป๋าเล็กกลางวัน ถ้ากระเป๋าไป evening เราก็จะใช้กระเป๋าที่ไม่ obvious ว่ามันจะเป็น evening มากกว่า แค่นี้มันคือแบบคาแรกเตอร์เราก็ยังเป็นอยู่ แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ฝืน ไม่ได้ขายจิตวิญาณ เราใช้จริง ดังนั้นเราคิดว่ามันคือการที่เราพัฒนาไปสู่ความเป็น commercial
ELLE : สิ่งสำคัญที่สุดที่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พาแบรนด์ประสบความสำเร็จได้ถึงจุดนี้ คืออะไร?
BOYY : เราคิดว่ามันคือ True to Yourself ไม่ใช่ว่าเราไม่ผ่านจุดที่มันวิกฤตหรืออะไร ทุกคนก็ผ่านหมดทุกแบบอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็ต้อง stay true เราเป็นแฟชั่นแบรนด์แต่ด้วยพื้นฐานเรากับเจสซี่มีความเป็นอาร์ทิสต์ แต่ว่าเรามีคน เรามีพนักงาน เรามีบริษัท ดังนั้นความเป็นอาร์ทิสต์ของเราจะต้องเป็น entrepreneur ด้วย แต่เป็น business people ไหม ก็อาจจะไม่ได้เป็น business เพราะการตัดสินใจอะไรหลายอย่างเราไม่ได้ตัดสินใจเบสออนธุรกิจเลย เราตัดสินใจจากความรู้สึก ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าความเป็นศิลปินกับผู้ประกอบการที่สร้างอะไรของตัวเองขึ้นมา ไม่ได้มองแบบนักธุรกิจ มันเลยทำให้เราผ่านช่วงวิกฤติบ้าง ช่วงที่อาจจะลำบาก หรือช่วงที่แบบ pandemic อะไรแบบนี้ เพราะเราจะทำแบบนี้นะ เราคิดแบบนี้นะ มันทำให้เราไม่เหมือนแบรนด์อื่น unique เพราะในวันนี้ถ้าเราจะโต เราต้องการให้คนรู้จัก เราต้องใช้เงินมหาศาลเหมือนกันที่จะต้องทำให้คนรู้จักเรา ทำให้รู้จักชื่อแบรนด์เรา เห็นของเรา มันใช้เงินทุกวัน แต่ว่าเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ เราขาย identity ของเราเพื่อทำให้คนเข้าใจเราถ้าเห็นคือจำได้เลย เพราะว่าถ้าเราไม่มีตัวตน แล้วเราขายแค่โฆษณา ทุ่มเงินซื้อโฆษณา แต่เราไม่มีอะไรโดดเด่นออกมามันก็จะทำให้คนจำแบรนด์เราไม่ได้ เราต้องมีตัวตนที่ชัดเจน แล้วด้วยความที่เราเป็นเจ้าของ ทำให้เราทำอะไรก็ได้ การตัดสินใจเราอาจจะไม่ถูกต้องถ้าถามว่านักธุรกิจทั่วไปเขาตัดสินใจกันอย่างไร แต่เราตัดสินใจอะไรก็ได้ตราบใดที่เรากับเจสซี่เห็นตรงกัน เราก็เอาแบบนี้ มันทำให้เราแตกต่างและอยู่รอด
ELLE : มองภาพอนาคตของแบรนด์อีก 5 ปีข้างหน้า ว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
BOYY : ก็คงเป็นฟีลที่เป็นอยู่ใน creativity แบบนี้ ก็คือ push ไปเรื่อยๆ ทำงานดีไซน์ที่เป็นแฟชั่นด้วย แล้วก็ทำงานดีไซน์ที่ไม่จำกัด อีก 5 ปี เราอาจจะทำบ้านขายกับเจสซี่ก็ได้ เป็นดีไซน์ที่เราชอบ เพราะเหมือนเราได้ฝึกฝนทำอะไรนอกเหนือจากแฟชั่นเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำอะไรอื่นๆ ได้อีกเยอะ ต่อไปที่เราจะทำก็ออกไปทางไลฟ์สไตล์นิดหนึ่ง อย่างที่ทำไปแล้วที่เกือบเสร็จแล้วคือน้ำหอม ซึ่งก็เป็นกลิ่นที่ represent ความเป็นตัวตนของเราและเจสซี่ และก็มีคาเฟ่เพราะเราสนใจเรื่องอาหาร คิดว่าในอนาคตอาจจะทำร้านอาหารที่มิลาน ก็ทำสิ่งที่ตอนนั้นเราได้รับแรงบันดาลใจอะไร แต่ก็คงไม่หนีในเรื่องของการใช้ความคิดในการออกแบบ อะไรที่เรามีความสุข ก็อยากทำออกมาให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกสัมผัสได้ถึงโลกของเรา