Saturday, April 20, 2024

ถอดบทเรียน #แบนสุพรรณหงส์ เวทีประกาศรางวัลฉายสปอตไลต์ให้คนทำหนังจริงหรือ?

ประเด็นสุดร้อนแรงในขณะนี้สำหรับฝั่งภาพยนตร์ไทย คงจะหนีไม่พ้นดราม่าจากเวทีประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ โดยหลังจากที่ผู้กำกับเรื่องภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of Time (เวลา) เปิดเผยว่าภาพยนตร์ของเขาไม่ได้ร่วมชิงรางวัลสุพรรณหงส์ด้วยสาเหตุไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของเวที โซเชียลมีเดียก็เปิดประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีด้วย #แบนสุพรรณหงส์ เพราะแม้ว่ามันจะเป็นหนังนอกกระแส ไม่ได้ฉายในไทยเป็นวงกว้าง แต่คุณภาพของหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยมจนได้ฉายที่เทศกาลหนังต่างประเทศ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่หนังจะไม่ได้เข้าชิง เหตุการณ์นี้จึงนำพามาสู่คำถามที่ว่า “เวทีประกาศรางวัลฉายสปอตไลต์ให้แก่คนในวงการภาพยนตร์เท่าเทียมกันแล้วหรือยัง?”

Anatomy of Time ภาพยนตร์ไทยที่ไม่ได้เข้าชิงเพราะไม่เป็นไปตามกฎของเวทีสุพรรณหงส์

ภาพยนตร์น้ำดีที่สร้างโดยคนไทยและคว้ารางวัลจากต่างประเทศถูกตัดสิทธิ์ในการพิจารณาเข้าชิงและรับรางวัล เพียงเพราะกฎ ‘ภาพยนตร์ที่สามารถเข้าชิง จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ครบทุก 5 ภูมิภาคในประเทศไทย และต้องมีผู้ชมไม่ต่ำกว่า 50,000 ที่นั่ง‘ ดังนั้นภาพยนตร์ทุนต่ำและภาพยนตร์ที่ได้ฉายบนสตรีมมิ่งก็จะหมดสิทธิ์เข้าชิงไปโดยปริยาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำหนังตัวเล็กที่ไม่มีทุนใหญ่สนับสนุน และการทำแบบนี้ไม่ได้สนับสนุนให้วงการภาพยนตร์ไทยเติบโตเลยแม้แต่น้อย

Anatomy of Time ภาพยนตร์ไทยที่ไม่ได้เข้าชิงเพราะไม่เป็นไปตามกฎของเวทีสุพรรณหงส์

นี่จึงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าตกลงแล้วเวทีประกาศรางวัลเหล่านี้กำลังให้คุณค่ากับอะไร ระหว่างหนังที่มีคุณภาพกับหนังที่สามารถจำหน่ายได้อย่างกว้างขวางในประเทศ นักแสดงคนดังที่เคยได้รับรางวัลและผู้กำกับหนังที่ได้พิจารณาเข้าชิงจึงออกมาพูดถึงประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเต๋อ นวพล ผู้กำกับชื่อดังจาก Fast & Feel Love, ปิ๊ง-อดิสรณ์ ผู้กำกับเรื่อง บุพเพสันนิวาส, จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี และ นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต จากเรื่อง 4Kings, นนน กรภัทร์ จากเรื่อง SLR กล้อง ติด ตาย และนักแสดงคนอื่นๆ อีกมากมาย โดยพวกเขายินดีจะถอนตัวออกจากการเข้าชิงรางวัล ไม่สนับสนุนงานประกาศรางวัล ตลอดจนยอมให้ริบรางวัลคืนกลับไปเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกฎและเงื่อนไขเหล่านี้ เพราะเวทีประกาศรางวัลในไทยควรทำหน้าที่สนับสนุนวงการภาพยนตร์ให้ไปได้ไกล ไม่ใช่แช่แข็งคุณภาพไว้ให้เท่าเดิมด้วยกฎใหม่นี้

ในขณะเดียวกัน เวทีต่างประเทศอย่าง Golden Globes หรือ Oscars ต่างก็เคยตกเป็นประเด็นดราม่าว่าเป็นพื้นที่ของชายผิวขาว เพราะคนเอเชีย คนดำ และผู้หญิง แทบไม่มีโอกาสในการเป็นกรรมการตัดสินและคัดเลือกภาพยนตร์ มิหนำซ้ำโอกาสการเข้าชิงรางวัลของพวกเขาก็ยังน้อยกว่า แม้แต่ดาราหญิงในตำนานที่เพิ่งคว้าออสการ์ไปอย่าง Michelle Yeoh ก็เพิ่งจะเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงในรอบ 88 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เพราะในหลายประเทศทั่วเอเชียต่างก็มีนักแสดงหญิงที่เก่งกาจฝีมือทัดเทียมกับฝั่งฮอลลีวูด แต่สปอตไลต์ก็ยังส่องแสงมาไม่ถึงพวกเธอเสียที

อย่างไรก็ตาม การที่นักแสดงอย่าง Michelle Yeoh สามารถเข้าชิงและคว้ารางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิตของเธอก็คงเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้แก่นักแสดงเอเชียรุ่นหลัง ซึ่งการตระหนักรู้ในความหลากหลายและเท่าเทียมก็น่าจะทำให้วงการฮอลลีวูดมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับเวทีในประเทศไทยอย่างสุพรรณหงส์ที่มีเกณฑ์ในคัดเลือกหนังที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทำหนังตัวเล็กได้มีโอกาสเฉิดฉาย ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องตระหนักถึงอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นแล้วเรายังคงต้องตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในเวทีเหล่านี้ต่อไปว่าพวกเขาจัดงานนี้ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนคนในวงการภาพยนตร์และวงการบันเทิง หรือเพื่ออะไรกันแน่?

- Advertisement -

Latest Posts

Don't Miss

Stay in touch

To be updated with all the latest news, offers and special announcements.